มหาวิทยาลัยดิจิทัล || สุพจน์ เธียรวุฒิ

มหาวิทยาลัยดิจิทัล || สุพจน์ เธียรวุฒิ

บทความตอนที่แล้วพูดถึงการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยในมิติต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อบริบทของการอุดมศึกษาและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มิติหนึ่งที่สำคัญมากกับโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นคือ การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) หรือ "มหาวิทยาลัยดิจิทัล" นั่นเอง

แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่ “ดิจิทัล” ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อตัวเอง แต่เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การ “ปรับเปลี่ยน” ของมหาวิทยาลัยในภาพรวม

ในช่วงที่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2561 จึงได้วางลำดับความสำคัญให้การนำเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบวัตถุประสงค์ 3 ด้านก่อน คือ 1.การสนองตอบวิถีชีวิตของนิสิตให้เป็น Smart Digital Life 2. การสร้างระบบการเรียนรู้รายบุคคล และ 3. การขยายขอบเขตของผู้เรียนไปสู่ประชาชนทุกช่วงวัย

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของเรา จึงมุ่งไปที่กลุ่ม “นิสิต” ซึ่งถือเป็น “ลูกค้า” หลักลำดับแรก โดยเน้นการปรับปรุง “ประสบการณ์” การใช้ชีวิตตั้งแต่เริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ในยุคที่การเรียนรู้ทางออนไลน์เริ่มเฟื่องฟู ใครๆ ก็หาความรู้ได้จากทั่วโลก มหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การมาเรียนรู้แบบ “ตัวเป็นๆ” ที่มหาวิทยาลัยนั้น มีอะไรที่ “แตกต่าง” และสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” ที่ไม่สามารถหาได้จากโลกออนไลน์บ้าง

เมื่อสำรวจ Pain Point ของนิสิตก็พบว่า ตลอดช่วงชีวิตนิสิตต้องใช้บริการจากมหาวิทยาลัยหลายอย่าง ผ่านหลายระบบงาน และส่วนมากก็ยังต้องไปติดต่อดำเนินการด้วยตนเอง เราจึงได้พัฒนาแอป CUNEX เพื่อรวมข่าวสารและบริการที่จำเป็น 

ทำให้นิสิตใหม่ไม่จำเป็นต้องมาเข้าแถวทำบัตรนิสิตอีกต่อไป เพียงแต่ไปเปิดบัญชีกับธนาคารพันธมิตร แล้วอัพโหลดรูปก็จะได้รับบัตรนิสิตส่งไปที่บ้าน สามารถชำระค่าเล่าเรียนผ่าน QR Code 

ในช่วงระหว่างการพัฒนาแอป ก็ต้องปรับปรุงโครงข่าย WiFi ภายในมหาวิทยาลัยให้มีสัญญาณแรงชัดทั่วพื้นที่ เพื่อให้การใช้งานแอปและอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่สะดุด นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงห้องเรียนรวมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งให้กลายเป็น “Co-Working Space” 

นิสิตสามารถเข้าได้โดยการสแกน QR Code จากแอป CUNEX พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ “เปิด” ของนิสิตจากคณะต่างๆ ทำให้มีโอกาสพบปะสังสรรค์และจัดกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ต้องขออนุญาตเหมือนการใช้พื้นที่อื่นๆ ในมหาวิทยาลัย 

ผลสำเร็จจากการพัฒนาแอป CUNEX และการปรับปรุงสภาพทางกายภาพเพื่อให้เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนิสิต ทำให้เกิดความตื่นตัวจากคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ต้องการใช้แอปเช่นเดียวกับนิสิตบ้าง จึงมีการพัฒนา CUNEX สำหรับคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยในช่วงต่อมา

รูปแบบของการขับเคลื่อนที่กล่าวมาแล้ว เป็นเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า (Customer Experience) ผลที่ตามมาคือ กระบวนการทำงานภายในขององค์กรต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังเช่น การปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาให้สามารถรองรับการชำระผ่านระบบ QRCode หรือการลดขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้คล่องตัวขึ้น ถือเป็นรูปแบบที่สองของการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล นั่นก็คือ การสร้างประสิทธิภาพของการดำเนินงาน (Operational Excellence)

สำหรับวัตถุประสงค์เรื่องการเรียนรู้รายบุคคลและการขยายผู้เรียนไปสู่บุคคลทั่วไป เป็นการสร้างรูปแบบการดำเนินภารกิจแบบใหม่ (New Business Model) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามของการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ต้องอาศัยเครื่องมือใหม่

เราได้พัฒนาระบบ CUDSON ขึ้นเพื่อใช้ประเมินทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นสำหรับนิสิต โดยฝ่ายกิจการนิสิตเป็นผู้ส่งเสริมให้นิสิตเข้าประเมินทางออนไลน์แล้วจะรู้ผลพร้อมคำแนะนำในการพัฒนาทักษะเป็นรายบุคคล

ส่วนการพัฒนา ChulaMOOC นอกจากการสร้างเนื้อหาจากผู้สอนสำหรับขึ้นระบบออนไลน์แล้ว ระบบบริหารจัดการเนื้อหาและการเรียนรู้ออนไลน์มีความสำคัญมาก

มหาวิทยาลัยได้นำระบบ MyCourseVille ซึ่งพัฒนาโดยอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาต่อยอดให้รองรับผู้เรียนจำนวนมาก เป็นการพัฒนาทั้ง Solution ที่ประหยัดและส่งเสริมสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยไปในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนไปสู่ดิจิทัลให้เกิดความยั่งยืนคือ การพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรสายสนับสนุน

เพราะเป็นผู้ดูแลการดำเนินงานหลังบ้านทั้งหมด ซึ่งมักผูกติดกับระเบียบและกระบวนการที่ยังใช้กระดาษอยู่ การจะปรับเปลี่ยนกระบวนการต้องริเริ่มมาจากผู้ปฏิบัติงานที่จะเห็นช่องว่างของการพัฒนาได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้ 

เราจึงได้จัดหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารบุคลากรสายสนับสนุนขึ้นโดยเริ่มที่ส่วนกลางก่อน เน้นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานผ่าน Service Design และ Design Thinking ปรับให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการกล้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือประสบการณ์ในยุคบุกเบิกไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล บทเรียนคือการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับกลุ่มผู้รับบริการ แล้วเลือกโครงการหรือมาตรการสำคัญที่สนับสนุนยุทธศาสตร์องค์กร

โดยเริ่มจากโครงการทดลองขนาดเล็กก่อนแล้วขยายผลไปทั้งองค์กร ให้กลุ่มงานหรือโครงการนี้เปรียบเสมือน “เรือลากจูง” ที่จะช่วยให้ทั้งองค์กรปรับเปลี่ยนไปยังทิศทางที่ต้องการ โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้มุ่งไปสู่การพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลกันแล้ว โดยมีหน่วยงานและองค์กรสนับสนุนหลายแห่ง มีการรวมกลุ่ม CIO Digital University Forum ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นปัญหาในการขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล 

สถาบันคลังสมองของชาติ ได้จัดโครงการสนับสนุนเตรียมความพร้อมและสร้างระบบนิเวศสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการจัดอบรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงร่างสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) สำหรับมหาวิทยาลัยดิจิทัลและให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ต่างๆ

แนวทางในการพัฒนาไปสู่ดิจิทัลของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกันไป ตามเป้าประสงค์ที่ต้องการมุ่งเน้นและยุทธศาสตร์ของแต่ละแห่ง แต่เป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้มหาวิทยาลัยตอบสนองผู้เรียนในยุคใหม่และพร้อมปรับตัวรองรับพันธกิจที่เปลี่ยนไป ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกแห่งให้ก้าวไปสู่ “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” ได้สำเร็จครับ.