มหาวิทยาลัยต้องเป็นมากกว่า "ผู้ใช้" AI
ในปี 2562 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศให้นักเรียนในระดับประถมปลายทุกคนต้องเรียนเกี่ยวกับการเขียนโค้ด (Coding Class) เป็นเวลา 10 ชั่วโมง เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะดิจิทัลของประชาชน ภายใต้ วิสัยทัศน์ Smart Nation ของสิงคโปร์
แม้ว่าสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศแรกที่กำหนดให้วิชาการเขียนโปรแกรมเป็นวิชาบังคับ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าว ที่น่าสังเกตคือ เป็นวิชาบังคับสำหรับทุกคน
ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่ต้องการมีอาชีพทางสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น เหตุผลก็คือ แม้จะไม่ได้มีอาชีพสายวิทยาศาสตร์หรือเป็นนักเขียนโปรแกรมก็ตาม
ทักษะการเขียนโค้ดดังกล่าวกลายเป็นเรื่อง “จำเป็น” สำหรับการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 นี้ เพราะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์จะอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน
แม้จะอยู่ในฐานะผู้ใช้ ก็ต้องมีความเข้าใจกลไกการทำงานของหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์ จึงจะใช้งานหรือควบคุมมันได้ รวมถึงเข้าใจผลกระทบจากการใช้งานได้เป็นอย่างดี
เมื่อ OpenAI เปิดตัว ChatGPT ปลายปี 2565 อันเป็นการเปิดศักราชใหม่ของเทคโนโลยี AI ที่สามารถสนทนาโต้ตอบกับคน สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ โดยเฉพาะการเขียนโค้ด งานเขียน หรืองานศิลปะ ภาพวาด หรือภาพเคลื่อนไหวได้
เทคโนโลยีดังกล่าวก็ถูกนำไปใช้ในการทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การสรุปหรือเขียนเรียงความ การแปลภาษา และการใช้งานอื่นๆ
ความแพร่หลายอย่างรวดเร็วทำให้ ทักษะการใช้งาน AI กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ “ทุกคน” ตามความเชื่อที่ว่า “AI ไม่ได้มาแทนคน แต่คนที่ใช้ AI เป็นต่างหากที่จะมาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็น”
ในโลกของการอุดมศึกษา องค์การ UNESCO ได้จัดทำแนวทางสำหรับการนำ ChatGPT มาใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารงานในมหาวิทยาลัยตั้งแต่กลางปี 2566
ขณะนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทย เริ่มนำ Generative AI เข้ามาใช้ในการทำงาน และการเรียนการสอนมากขึ้น มีการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้รู้จักพื้นฐานของ AI การเขียน Prompt ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในการทำงานต่าง ๆ
สิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยควรดำเนินการคือ การให้คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน เรียนรู้และ “กล้า” ที่จะทดลองและนำมาใช้ในการทำงาน หรือการเรียนการสอน
ถ้านิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน ไม่รู้จักการใช้งาน AI ก็จะกลายเป็น “บัณฑิต” ตกยุคทันทีที่เรียนจบ หากไม่ขวนขวายเรียนรู้ขณะทำงานแล้วก็จะกลายเป็นคนไม่ทันโลก และอาจไปขวางการพัฒนาองค์กรโดยไม่รู้ตัว
แต่ความยากที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่กลุ่มคณาจารย์และเจ้าหน้าที่พนักงานของมหาวิทยาลัยบางส่วนที่ยังไม่เคยสัมผัสลองใช้ ทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่นี้
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและสอนให้รู้จักนำ AI มาใช้ในองค์กร หรือการสร้าง AI Literacy เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ การนำ AI มาใช้ในชีวิตประจำวันและภาคส่วนต่างๆ ของสังคมอย่างแพร่หลาย
การประยุกต์ใช้ AI กับศาสตร์ต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพอย่างไร และท้ายสุด การเรียนการสอนศาสตร์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ควรจะต้องปรับตัวอย่างไร
ลองย้อนไปถึงสมัยที่เริ่มมีการใช้เครื่องคิดเลขกันอย่างแพร่หลาย ก็ไม่ได้แปลว่า เราไม่ต้องสอนวิชาเลขคณิตอีกต่อไป หากแต่ต้องปรับเนื้อหาและวิธีการสอน เช่น ไม่ต้องมีวิชาเลขคณิต “คิดในใจ” เพราะมีเครื่องคิดเลขช่วยแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องสอนพื้นฐานของคณิตศาสตร์เหมือนเดิม แล้วหันมามุ่งเน้นการตีโจทย์ปัญหาให้กลายเป็นสมการคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องแทน เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นอกเหนือจากทักษะในการใช้ AI เป็นแล้ว ทักษะของมนุษย์ที่แตกต่างจาก AI นั้นคืออะไร แล้วเราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ตลอดจนการประเมินและวัดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างไร
ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรดำเนินการต่อมาคือ การพัฒนาสมรรถนะด้าน AI และ ด้านที่แตกต่างจาก AI โดยมีการประยุกต์เข้ากับศาสตร์ด้านต่างๆ แล้วปรับรูปแบบการเรียนการสอน
โดยอาจมีการสร้างกลุ่มเรียนรู้ (Community of Practice) เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงในการเรียนการสอนของอาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน
ท้ายที่สุด สถาบันอุดมศึกษา ต้องไม่เป็นเพียง “ผู้ใช้” เทคโนโลยีที่มีความชำนาญเท่านั้น แต่ต้องเป็น “ผู้สร้าง” เทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาใหม่ๆ ด้วยตนเอง
มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนา ควรจะต้องพัฒนาเทคโนโลยี หรือสร้างเครื่องมือเพื่อใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ มีการทดลองทดสอบกับภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ใช้งาน
ตัวอย่างโจทย์ที่ท้าทายได้แก่ การพัฒนา LLM สำหรับภาษาไทย แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม AI ในประเทศ การกำกับดูแลให้เกิดการนำ AI มาใช้อย่างมีความรับผิดชอบ
การพัฒนาข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อใช้ในการฝึกสอน AI การสร้าง use case ในโดเมนสำคัญต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการเกษตรหรือ การใช้ AI เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการภาครัฐ เป็นต้น
หากมหาวิทยาลัยสามารถสร้างบุคลากรที่พร้อมใช้เทคโนโลยี AI โดยมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถพัฒนาการเรียนการสอนที่สร้างทักษะของคนที่แตกต่างจากเทคโนโลยี AI และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับ AI ได้
เมื่อนั้น มหาวิทยาลัยก็จะเป็นแหล่งพึ่งพิงทางปัญญาของประเทศที่จะเป็นหนทางพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Nation ได้อย่างแน่นอน.