Futures Literacy ทักษะใหม่ในโลกซับซ้อน
ยูเนสโกให้ความหมายของทักษะ “ความรอบรู้อนาคต” (Futures Literacy) ว่าเป็นทักษะในการคาดการณ์อนาคตในหลากหลายรูปแบบ
ในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคม ทำให้การเรียนรู้จากข้อมูลในอดีตหรือประสบการณ์ที่ผ่านมามักไม่เพียงพอสำหรับการเผชิญกับอนาคต แม้ว่าเราจะไม่สามารถมองเห็นอนาคตได้ชัดเจน แต่สิ่งที่แน่นอนคืออนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเสมอ
ในชีวิตประจำวัน เราใช้แนวคิดการมองอนาคตโดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า มนุษย์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคต ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม มุมมองต่ออนาคตส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจในปัจจุบัน การปรับกรอบแนวคิดและทัศนคติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ยูเนสโกให้ความหมายของทักษะ “ความรอบรู้อนาคต” (Futures Literacy) ว่าเป็นทักษะในการคาดการณ์อนาคตในหลากหลายรูปแบบ โดยคำว่า "futures" ใช้ในรูปพหูพจน์ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นไปได้หลากหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่กำลังก่อตัวขึ้น แนวคิดนี้เตือนให้เรารับรู้ถึงความไม่แน่นอน ความผันแปร และโอกาสที่มักถูกมองข้าม
ในชีวิตประจำวัน มนุษย์มักใช้ชีวิตในกรอบของความคุ้นชิน เช่น การตื่นมาพร้อมกับมีไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย ความเคยชินเหล่านี้ทำให้เรามองข้ามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งตามฤดูกาลและปัจจัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดอนาคตให้เป็นไปตามความต้องการได้เสมอ
Ziauddin Sardar นักวิชาการชื่อดัง ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตในบริบทของยุคหลังความปกติ (post-normal times) ซึ่งเขานิยามว่าเป็นยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงซับซ้อน และส่งผลกระทบในวงกว้าง แนวคิดนี้ช่วยให้เราตระหนักถึงความซับซ้อนและความท้าทายของการเผชิญกับโลกยุคใหม่
ในบริบทนี้ นักวิชาการจากยุโรปและออสเตรเลียสนับสนุนให้เปลี่ยนจากการเน้นทำนายอนาคตเพื่อความแม่นยำ ไปสู่การทำความเข้าใจกรอบความคิดของมนุษย์ต่ออนาคต
Riel Miller ประธาน UNESCO Chair of Futures Literacy เชื่อว่าทักษะความรอบรู้อนาคต (Futures Literacy) ต้องอาศัยความสามารถทางการรับรู้ (cognitive capacity) ซึ่งพัฒนาได้ผ่านการฝึกฝน เมื่อพัฒนาทักษะนี้จนเชี่ยวชาญ จะช่วยให้การมองอนาคตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หน่วยงานและองค์กรระดับนานาชาติหันมาให้ความสนใจแนวคิดการมองอนาคตมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ทักษะความรอบรู้อนาคตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน
ยูเนสโกมองว่าทักษะความรอบรู้อนาคตนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะพื้นฐานอย่างการอ่านและการเขียน เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วงกลางปีนี้ เราได้มีโอกาสเข้าร่วมห้องปฏิบัติการเชิงอนาคตที่ มหาวิทยาลัย Hanze เมือง Groningen ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจากประสบการณ์จริง กระบวนการหลักในการพัฒนาทักษะความรอบรู้อนาคตตามแนวคิดนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
1. เปิดเผย (Reveal) ความรู้เกี่ยวกับอนาคตที่แฝงอยู่ให้ปรากฏชัด โดยใช้การวิเคราะห์ย้อนหลังเพื่อเข้าใจสมมติฐานที่เรายึดถือเกี่ยวกับอนาคต
2. ปรับกรอบความคิด (Reframe) ด้วยการค้นหา ทดลอง และใช้ความคิดสร้างสรรค์ หาวิธีคิด ทางเลือก และจินตนาการถึงอนาคตที่เป็นไปได้ในรูปแบบใหม่
3. คิดใหม่ (Rethink) ผ่านการเปรียบเทียบ การไตร่ตรอง และการประมวลความคิด โดยพิจารณาจากการเรียนรู้และบทเรียนในขั้นตอนที่ผ่านมา เพื่อสร้างกรอบความคิดที่สามารถนำไปสู้ทางเลือกที่หลากหลาย หรือความเป็นไปได้ใหม่
กิจกรรมห้องปฏิบัติการเชิงอนาคตเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (co-create) และด้วยการสังเคราะห์จากงานวิจัยหลากหลาย ทำให้รูปแบบการเรียนรู้นี้เรียบง่ายและส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
แนวโน้มการศึกษาอนาคตในปัจจุบันกำลังเน้นเปลี่ยนจากการทำนายอนาคตเพื่อความแม่นยำ ไปสู่การมองอนาคตแบบองค์รวม (holistic approach) โดยครอบคลุมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น สภาพแวดล้อมและปัจจัยขับเคลื่อนภายนอกต่างๆ และปัจจัยภายใน เช่น จิตใจและการตระหนักรู้ของผู้คน แนวทางนี้ช่วยให้การออกแบบและวางแผนอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังคงเน้นปัจจัยภายนอกในการมองอนาคตเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องยกระดับกระบวนการให้ครอบคลุมถึงปัจจัยภายในซึ่งเป็นแหล่งต้นธารสำคัญในการสร้างอนาคตทั้งระดับปัจเจกบุคคล องค์กรและประเทศเพื่อความสมดุลยิ่งขึ้น
การสำรวจสมมติฐานที่ฝังลึกในจิตใจ ซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นข้อจำกัดต่อความคิดสร้างสรรค์และการจินตนาการถึงอนาคต เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทักษะความรอบรู้อนาคต การตระหนักถึงข้อจำกัดเหล่านี้ช่วยให้เราก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ และเปิดรับแนวทางใหม่ที่ตอบสนองต่อความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดียิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทักษะความรอบรู้อนาคตจึงเป็นทักษะใหม่ที่สำคัญที่จะช่วยให้เราปรับตัว เตรียมพร้อม และสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ และยังเปิดโอกาสให้เรามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นด้วยตัวเอง