"ธงไชย" นำการศึกษา | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

"ธงไชย" นำการศึกษา | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

จีนสามารถจัดประชุมขนาดใหญ่เเบบมีผู้เข้าร่วม 3,000-4,000 คน ในสถานที่ประชุมใหญ่โตมโหฬารอย่างเป็นเรื่องปกติ และมีงานเช่นนี้หลายครั้งในแต่ละเดือนในเมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้

ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเช่นนี้เมื่อกลางเดือน พ.ย.2567 จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะมีทั้งเรื่องน่าภูมิใจ เพราะเป็นเกียรติเเก่ประเทศไทยและเรื่องน่ารู้สำหรับบ้านเรา

การประชุมจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมเเห่งชาติจีน (China National Convention Center) เรื่อง “2024 World Chinese Language Conference” หัวข้อ Interconnection, Integration, Inheritance, Innovation ร่วมจัดโดยหลายองค์กรของรัฐบาลจีน

ชื่อการประชุมอาจฟังดูซับซ้อนแต่พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเชิญผู้ที่ร่วมโครงการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนที่รู้จักกันในชื่อ “ห้องเรียนขงจื่อ และสถาบันขงจื่อ” มาพบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามงานกัน ครั้งนี้พิเศษเพราะครบรอบ 20 ปีของโครงการ จึงมีการมอบรางวัลใหญ่

การประชุมในจีนส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนพูดไม่ยาวบนเวที ผู้ร่วมประชุมก็ฟังคำแปลภาษาจีน อังกฤษ และอีกบางภาษา โดยไม่มีการถามคำถามหรือแลกเปลี่ยนความเห็นแบบฝรั่ง

การนำเสนอบทความหรืองานศึกษาวิจัยมีเเต่ไม่บ่อยนัก การประชุมทั้งหมดกินเวลาไม่เกิน 3 วัน วันสุดท้ายมักมีการแสดงด้วย (งานนี้เป็นเรื่องภาษาจีน จึงมีเด็กวัยรุ่นจากทวีปต่างๆ ร่วม 200 คน มาร้องเพลงจีนและเต้นอย่างสนุกสนาน) 

รายการสุดท้ายคือการมอบรางวัล ผู้จัดทำได้ดีมากในทุกงานที่ผมเห็นมา กล่าวคือเมื่อประกาศชื่อผู้รับรางวัลและเกียรติคุณก็จะเดินขึ้นไปบนเวที บนจอก็จะปรากฏภาพผู้รับรางวัล ชื่อ และเกียรติคุณโดยย่อ มีการถ่ายรูปกับผู้มอบ ทุกอย่างกระทำอย่างกระชับไม่เยิ่นเย้อ และให้เกียรติเป็นอย่างยิ่ง

โครงการขงจื่อ” (ไม่ออกเสียงว่า “ขงจื้อ” ซึ่งผิด) จีนกระจายไปทั่วโลก เพื่อให้เป็นตัวกลางของการสื่อมิตรภาพผ่านภาษาและวัฒนธรรมโดยกระทำอย่างจริงจัง

ตลอดเวลาที่ผ่านมาในบ้านเรามีสถาบันขงจื่อในสถาบันอุดมศึกษาไทยรวมทั้งสิ้น 17 แห่ง มีห้องเรียนขงจื่อ (ความร่วมมือในขนาดที่เล็กลง) 11 ห้อง ทุกปีเเต่ละเเห่งจะได้รับเงินช่วยเหลือเเละอุปกรณ์การเรียน ที่สำคัญคือมีครูจากจีนมาประจำอยู่ด้วย 

ปัจจุบันมีเด็กไทยที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน

ผมเกริ่นไว้ข้างต้นว่าการประชุมครั้งนี้ทำให้คนไทยรู้สึกภูมิใจ ผมคาดว่ามีคนไทยที่เกี่ยวพันกับโครงการ “ขงจื่อ” ในบ้านเราร่วมประชุมหลายสิบคน และที่ประจักษ์แก่สายตาก็คือมีคนไทยคนเดียวที่ได้รับเกียรติขึ้นไปพูดถึง 2 ครั้ง และรับรางวัลสุดยอดของโครงการ

ดังที่เรียกว่า “ผู้จุดประกายแห่งสถาบันขงจื่อ” (Brilliance of Confucius Institute) และไม่ใช่ “คน” ด้วย หากเป็น “พระ” และเป็นคนเดียวที่แต่งกายผิดแผกกว่าทุกคนในงานจนเป็นจุดสนใจ

รางวัลนี้มอบในโอกาสครบ 20 ปี ของการสถาปนาสถาบันขงจื่อเพื่อขอบคุณบุคคลต่างๆ ที่ได้ร่วมสนับสนุนและสร้างคุณูปการจนเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาสถาบันขงจื่อตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้รับรางวัล 34 คน ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุม 3,000 คน

คนไทยดังกล่าวคือ “สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี” หรือ “สมเด็จธงชัย” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “เจ้าคุณธงชัย”

ที่รู้สึกภูมิใจก็เพราะในจำนวนสถาบันขงจื่อทั่วโลก 496 แห่ง และห้องเรียนขงจื่อ 756 แห่ง ใน 160 ประเทศ มีผู้เกี่ยวพันในโครงการนี้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานับพันๆ คน และในจำนวนนี้ “สมเด็จ” ได้เป็นหนึ่งใน 34 คนนั้น และเป็นคนเอเชียที่มีไม่กี่คน ส่วนใหญ่จากยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ฯลฯ

สังเกตเห็นได้ชัดว่า “สมเด็จ” ได้รับความเคารพนับถือจากเพื่อนร่วมงานชาวขงจื่อเป็นอันมากโดยเฉพาะทางการจีนนั้นให้ความไว้วางใจ และเคารพนับถือท่านเป็นอย่างยิ่ง

เห็นท่านทักทายกับผู้ใหญ่ในวงการศึกษาจีนอย่างสนิทสนม ผมค้นประวัติของท่านก็รู้สึกทึ่งกับผลงานของท่านที่กว้างขวางและเกิดผลกระทบอย่างเห็นผล ( ดู “วิกิพีเดีย” และค้นชื่อ “สมเด็จธงชัย”)

“สมเด็จ” มีอายุ 71 ปี บวชมาแล้ว 50 พรรษา ท่านเป็นคน อ.พานทอง จ.ชลบุรี เป็นเถระผู้ใหญ่ชั้นที่เรียกว่า “สมเด็จพระราชาคณะ” (สูงขึ้นไปอีกก็คือสมเด็จพระสังฆราช) ซึ่งมีทั้งหมด 8 รูปโดยมีชื่อ เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ฯลฯ

ท่านเป็นพระที่มีการศึกษาสูงทั้งทางโลกและทางธรรม จบปริญญาเอกศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นฟิลิปปินส์ ปริญญาตรีและโทศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สอบไล่ได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก 14 มหาวิทยาลัย 

(เช่น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ฯลฯ)

ท่านรับรางวัลอีกเป็นจำนวนมากจากรัฐบาลจีนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจีน-ไทย และรางวัลอื่นๆ ในประเทศอีกมากมาย

ผลงานสำคัญของท่านคือ การบุกเบิกการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา วัดไตรมิตรวิทยารามที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้นตั้งอยู่ใจกลางชุมชนคนจีน จึงเป็นสิ่งเเวดล้อมของการจุดประกายการเรียนรู้ภาษาจีน

เราต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของท่านที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ภาษาจีนอย่างกว้างขวางในบ้านเราในปัจจุบัน และยิ่งไปกว่านั้นท่านได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่อาชีวศึกษา 

ท่านได้ใช้ “บารมี” ของท่านในการหาทุนการศึกษาระดับ ปวส. ให้เด็กไทยไปเรียนที่จีนติดต่อกันมา 10 รุ่น รวม 300 ทุน (คิดเป็นเงิน 158 ล้านบาท) ปัจจุบันจบมาแล้ว 223 คน จำนวนมากเรียนทางด้านรางจน

ปัจจุบันเป็นแรงงานของการขนส่งรูปแบบที่สำคัญยิ่งนี้ในประเทศไทย นอกจากนี้ท่านได้หาทุนให้ไปศึกษาต่อในจีนทั้งด้านภาษาและอาชีพอีกเป็นจำนวนมาก

ทราบว่าหลังการประชุมครั้งนี้ ท่านได้ไปร่วมประชุมอาชีวศึกษาและเทคนิคระดับโลกที่ทางการจีนเป็นเจ้าภาพต่ออีก ท่านได้ขึ้นพูดและหนุนพัฒนาหลักสูตรทวิวุฒิไทย-จีน ว่าเราต้องพัฒนา Human Innovation เพื่อขับเคลื่อนประเทศโดยผ่านการใช้บุคลากรที่มีความสามารถและนวัตกรรมเป็นพลัง

“สมเด็จ” ได้เปิดประตูพร้อมกับสร้างสะพานให้เด็กไทยมีโอกาสและมีเครื่องมือในการสร้างฐานะให้ตนเอง ครอบครัวเเละรับใช้ประเทศ

ท่านกำลังถือ “ธงไชย” นำอาชีวศึกษาไปข้างหน้า บัดนี้เป็นหน้าที่ของอาชีวศึกษาไทยที่จะต้องทำงานอย่างแข็งขันโดยใช้ประโยชน์จากการนำทางเเละงานที่ “สมเด็จ” ท่านได้ ปูทางไว้ครับ.