‘รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์’เฟ้นหานักวิจัย ชิงเงิน 5 ล้านบาท

ม.มหิดล เปิดตัว “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์” เฟ้นหานักวิจัยสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคม ภายใต้แนวคิด “Real World Impact for Sustainability” รับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 1 เม.ย.2568 ชิงเงินรางวัล 5 ล้านบาท
KEY
POINTS
- ครั้งแรก! 'รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตเมธีวิชญ
บทบาทหน้าที่ของ “มหาวิทยาลัย” ไม่ใช่เพียงการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร ปั้นคนรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดงานเท่านั้น แต่ต้องมีหน้าที่ในการสร้างบุคลากรคุณภาพสูง และเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนา
ล่าสุด “มหาวิทยาลัยมหิดล” ได้เปิดตัว “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์” ซึ่งเป็นรางวัลใหม่ที่ต้องการยกย่องและสนับสนุนนักวิจัยไทย ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคมและการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
วันนี้ (3 มี.ค.2568) ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแถลงข่าว “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์” ว่ารางวัลดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกของม.มหิดล ซึ่งเป็นรางวัลใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น เพื่อให้นักวิจัยไทยที่สร้างผลงานเชิงประจักษ์ ที่มีคุณประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ 2 ชุดในการค้นหานักวิจัยที่มีคุณลักษณะตามเกณฑ์ที่กำหนด ภายใต้แนวคิด “Real World Impact for Sustainability”ที่เน้นงานวิจัยใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'มหิดล' เดินหน้าผลักดันสร้างกิจกรรมเชิงเรียนรู้ 'สู่ความยั่งยืน'
มอบเงินรางวัลนำใช้ได้อย่างอิสระ พร้อมเข้าถึงเครือข่ายม.มหิดล
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อว่า ม.มหิดล มีปณิธานในการเป็นปัญญาของแผ่นดิน ที่ไม่เพียงมุ่งสร้างบุคลากรคุภาพสูงเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นด้วยการมุ่งสร้างสรรค์งานวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนงานวิจัยจากภายนอกที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคม และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้เจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในการจัดตั้งรางวัลดังกล่าว เพื่อยกย่องเชิดชูนักวิจัยไทยที่มีผลงานวิจัยที่สร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในวงกว้าง สร้าง Real World Impact ที่ไม่ใช่เพียงความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ต้องสามารถแก้ปัญหา พัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนประเทศได้
“รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์จะเป็นการเชิดชูเกียรติ พร้อมกับการมอบเงินสนับสนุนเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิจัยไทย ซึ่งผู้ที่ได้รับเงินรางวัลจะนำเงินดังกล่าวจะนำไปใช้ได้อย่างอิสระ ใช้ประโยชน์อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำไปศึกษาวิจัยต่อ อีกทั้งผู้ได้รับรางวัลจะได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงทรัพยากร เครือข่ายทางวิชาการและเครือข่ายพันธมิตรของม.มหิดลทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งม.มหิดลมีคณะ วิทยาลัย และนักวิจัยในภาคส่วนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดขยายผลในวงกว้างที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่สร้างอิมแพคระดับภูมิภาคและระดับโลก”ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว
ค้นหานักวิจัย ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวอีกว่าประเทศไทยมีนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถและมีงานวิจัยที่มีคุณค่ามากมาย แต่ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่ในแวดวงวิชาการ ไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมุ่งหวังให้รางวัลนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้นักวิจัยได้มีเวทีที่พร้อมสนับสนุน เพื่อให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจและมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณค่าตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตเมธีวิชญ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.รางวัลนักวิจัยดีเด่น (ไม่จำกัดอายุ) สำหรับนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างคุณูปการแก่สังคม และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องโดยผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินสนับสนุน 5 ล้านบาท
2.รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ (อายุไม่เกิน 45 ปี) ที่มีศักยภาพในการสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินสนับสนุน 1 ล้านบาท
"ทุนวิจัยในปัจจุบันมีแหล่งทุนที่ให้อยู่จำนวนมาก แต่ต้องยอมรับว่ามีคอขวดบางส่วนที่อาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าว หรือต่อยอดงานวิจัย การให้รางวัลในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่นักวิจัยไทยได้ต่อยอด หรือพัฒนางานวิจัย และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่จะทำให้นักวิจัยไทยมุ่งมั่นและใช้องค์ความรู้ ในการพัฒนา สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ ซึ่งเงินรางวัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป้าหมายหลักจะเป็นการสร้างเครือข่ายให้แก่นักวิจัย"รศ.ดร.ยศชนัน กล่าว
เปิดเสนอรายชื่อนักวิจัยคุณภาพตั้งแต่วันนี้-1เม.ย.2568
ทั้งนี้ การมอบรางวัลดังกล่าวในแต่ละปีจะมีการกำหนด Theme ที่แตกต่างกันไปสำหรับปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้ Theme "Real World Impact for Sustainability" ซึ่งเน้นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคมโดยมีเกณฑ์การพิจารณา 5 ด้านหลักๆดังนี้
1.การได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลได้รับการอ้างอิงหรือมีการนำมาใช้จริงโดยหน่วยงานสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.การสร้างองค์ความรู้ใหม่
เป็นงานวิจัยที่มีการสร้างสรรค์และมีการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมที่มีอยู่ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการค้นพบแนวทางการรักษาโรคใหม่ๆ
3.ศักยภาพในการขยายผลและผลกระทบระยะยาว
เป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ในวงกว้างหรือขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นหรือสามารถปรับใช้ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป เช่น การขยายผลสู่ชุมชนเล็กๆไปสู่ระดับประเทศ
4.ความยั่งยืนและผลงาน
สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรจำนวนมากและมีแผนรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
5.การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม หรือสร้างมาตรฐานใหม่ที่สามารถนำไปใช้ในระดับประเทศหรือสากลได้
"การเปิดรับสมัครผลนักวิจัย และนักวิจัยที่เข้าร่วมรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตเมธีวิชญ์นั้น นักวิจัยจะไม่สามารถเป็นผู้สมัครเองได้ แต่ต้องเป็นหน่วยงาน องค์กร ภาคส่วนต่างๆ และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสามารถเสนอชื่อได้ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ต้องเป็นผลงานวิจัย หรือนักวิจัยที่มีผลงานเชิงประจักษณ์ ทำให้เกิดผลกระทบในระดับประเทศ โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 1 เม.ย.2568"รศ.ดร.ยศชนัน กล่าว
รางวัลดังกล่าว ได้รับแรงบันดาลใจและสนับสนุนจากพล.ต.อ.นพ.จงเจตน์ อาวน์เจนพงศ์ อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นมากกว่ารางวัลชื่อชูเกียรติแต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยไทยให้ก้าวข้ามจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม พร้อมสร้างค่านิยมใหม่ในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ไม่ใช่เก็บไว้บนหิ้ง แต่เน้นการนำไปใช้ประโยชน์จริง
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์และผลักดันงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สนับสนุนนักวิจัยไทยก้าวสู่เวทีโลกเพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้สนใจเสนอชื่อนักวิจัยเข้ารับรางวัลสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ https://jongjate-award.mahidol.ac.th/ คาดว่าเสร็จสิ้นกระบวนการสรรหาและประกาศผลผู้ได้รับรางวัลภายในเดือนสิงหาคม 2568 หรือติดต่อสอบถาม ได้ที่ 02-849-6245 อีเมล์:jariya.saw@mahidol.edu