หมดไฟได้ง่ายเมื่อชีวิตส่วนตัวเริ่มหายไป | พสุ เดชะรินทร์
คำว่า Burnout หรือ การหมดไฟในการทำงานเป็นคำที่ผุดขึ้นมาในวารสารทางด้านการบริหารและวิชาการต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะโควิดและหลังโควิดคลี่คลาย ได้มีบทความใน hbr.org ที่อธิบายภาวะของการหมดไฟไว้สามประเภท
นั้นคือ Overload Burnout เนื่องจากทำงานมากเกินไป Under-Challenged Burnout เกิดจากการทำงานที่ขาดความท้าทาย และ Neglect Burnout เกิดจากภาวะหมดหวังที่จะทำงานให้สำเร็จ การหมดไฟที่พบส่วนใหญ่จะเป็น Overload Burnout จากการทำงานที่หนักและมากจนเกินไป จนกระทบต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและสุขภาพ
ปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ภาวะ Burnout คือ เมื่อการทำงาน ได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว พนักงานมีความรู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวได้หายไปกับงาน การทำงานเกิดขึ้นในทุกเวลา ทุกสถานที่ การแบ่งแยกอย่างชัดเจนในอดีต ทั้งในด้านของสถานที่และเวลา ระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้จางหายไป
ยิ่งในช่วงโควิดที่ทุกคนทำงานจากบ้าน ทำให้แทบแยกไม่ออกระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ในอดีตงานเกิดขึ้นที่ออฟฟิศและจบที่ออฟฟิศ เมื่อกลับมาที่บ้านก็ควรจะเป็นสถานที่และเวลาของชีวิตส่วนตัว แต่โควิดทำให้เส้นแบ่งดังกล่าวสูญหายไป ถึงแม้โควิดจะคลี่คลาย แต่ผลพวงจากที่องค์กรปรับตัวในช่วงโควิด ก็ได้ทำให้งานไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงที่ออฟฟิศอีกต่อไป
หลายองค์กรเจ้านายจะนัดประชุมกับลูกน้องนอกเวลางานผ่านทางออนไลน์มากขึ้น หรือ ปัจจุบันที่คนไทยไปเที่ยวและพักผ่อนต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็กลายเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเข้าประชุมผ่านทางออนไลน์
ในอดีต เมื่อพนักงานลาพักร้อน ก็จะได้ลาพักผ่อนจริงๆ แต่ปัจจุบันก็อาจจะมีมุมมองใหม่ว่าไม่มีข้ออ้างในการขาดการประชุมแม้จะลาพักร้อนเพราะสามารถเข้าร่วมผ่านทางออนไลน์ได้ แต่มุมมองก็คือ ตัวเร่งให้พนักงานเกิดอาการหมดไฟในการทำงานมากขึ้น
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุออกมาว่าการมีเส้นแบ่งระหว่างการทำงาน กับ ชีวิตส่วนตัวเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตของพนักงาน แต่สำหรับผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่บ้างานนั้น เส้นแบ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ง่าย
ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ การส่งอีเมลหรือข้อความจากเจ้านายไปหาลูกน้องนอกเวลาทำงาน มีงานวิจัยที่ศึกษาคนทำงานมากกว่า 2,000 คนและพบว่าการได้รับอีเมลหรือข้อความจากเจ้านายนอกเวลาทำงาน ทำให้ผู้รับถูกกระตุ้นให้ต้องตอบสนองทันที ถึงแม้ข้อความดังกล่าวจะไม่ด่วนเลยก็ตาม
บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งได้เริ่มมีการสำรวจพนักงานอย่างเป็นประจำและต่อเนื่องมากขึ้นว่าได้เริ่มมีสัญญาณเตือนถึงภาวะของการหมดไฟหรือยัง LinkedIn ได้มีการสำรวจพนักงานของตนเองในทุกไตรมาสและใช้คำถามปลายเปิดว่า How are you? และนำคำตอบที่ได้มาวิเคราะห์หาแนวโน้มว่าพนักงานของตนเองเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อข้อมูลที่ได้รับติดต่อกันหลายไตรมาส เริ่มแสดงให้เห็นว่าพนักงานมีอาการหมดไฟในการทำงานมากขึ้น ทางผู้บริหารจึงได้เริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูแลและหาทางบรรเทาอาการหมดไฟของพนักงาน
นอกจากนี้ ผู้บริหารยังได้ประกาศให้พนักงานของ LinkedIn ทั่วโลกได้หยุดงานพร้อมกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ สาเหตุสำคัญ คือ เพื่อไม่ให้ระหว่างหยุดงานพนักงานจะถูกรบกวนจากเพื่อนร่วมงานที่ยังทำงานอยู่
รวมทั้งเมื่อกลับมาแล้วก็จะต้องเจองานกองเต็มไปหมด ทำให้ความสุขจากการได้หยุดนั้นหายไปอย่างรวดเร็ว โดยช่วงที่หยุดพร้อมกันจะมีพนักงานหลักกลุ่มเล็กๆ ที่ยังต้องทำงานอยู่เพื่อให้บริษัทเดินต่อไปได้ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้หยุดในช่วงหลังแทน
ปัจจุบันผู้บริหารองค์กรชั้นนำได้หันมาให้ความสนใจต่อภาวะการหมดไฟของพนักงานตนเองมากขึ้น หลายองค์กรได้เริ่มมีแนวทางหรือมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานตนเองหมดไฟ
ทั้งนี้ พนักงานที่หมดไฟในการทำงานกับองค์กร ส่งผลในเชิงเสียต่อองค์กรอย่างชัดเจน อีกทั้งยังทำให้เกิดสถานการณ์ของ Great Resignation หรือ Quiet Quitting ได้เช่นกัน