แรงงานไรเดอร์ส่งอาหาร คุณค่าและการควบคุม
อาชีพไรเดอร์หรือคนขับรถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเป็นอาชีพที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย อาชีพนี้ขยายตัวอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
เนื่องจากการประกาศห้ามการนั่งรับประทานอาหารในร้าน อาชีพไรเดอร์จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในการรับประทานอาหารที่ตนชื่นชอบโดยไม่ต้องออกจากบ้านไปนั่งรับประทานที่ร้าน
แม้กระทั่งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็ยังคงนิยมใช้บริการไรเดอร์อยู่เพราะความสะดวกและค่าบริการที่ไม่สูงจนเกินไป
ท่ามกลางการขยายตัวอย่างมากของอาชีพไรเดอร์ ก็พบว่ามีข่าวสารอยู่เนือง ๆ ว่าไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุขณะกำลังขับรถไปรับอาหารหรือไปส่งอาหาร ไรเดอร์ถูกผู้บริโภคปฏิเสธการรับอาหาร (โดยไม่มีเหตุผลและไม่ได้เป็นความผิดของไรเดอร์)
กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไรเดอร์จะต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเองทั้งในเรื่องของการรักษาพยาบาลและในเรื่องของค่าอาหารที่ลูกค้าปฏิเสธการรับ
จึงนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่าอาชีพไรเดอร์นั้นมีสถานะความเป็นลูกจ้างหรือไม่ เพราะหากไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ผู้เป็นนายจ้างก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้
นอกจากประเด็นเรื่องการเป็นลูกจ้างดังได้กล่าวมาแล้ว ในช่วงหลายเดือนมานี้กระแสการเรียกร้องต่อรองขอเพิ่มค่าตอบแทนจากการทำงานของกลุ่มคนที่ทำอาชีพไรเดอร์ก็ปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
มีการรวมกลุ่ม มีการยื่นข้อเรียกร้อง รวมถึงมีการนัดหยุดรับงานเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แม้แต่ในภาควิชาการเองก็มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนการเรียกร้องนี้ด้วยการช่วยเหลือทางด้านข้อมูลต่าง ๆ
แต่ดูเหมือนว่าการเคลื่อนทั้งหมดนี้จะยังไม่ได้ผลตอบรับตามที่คาดหวังเท่าใดนัก ซึ่งอาจหาคำตอบได้แบบสำเร็จรูปในทางเศรษฐศาสตร์ได้ว่ายังมีคนว่างงานอีกมากมายที่พร้อมจะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานเป็นไรเดอร์ รวมถึงในอนาคตผู้ประกอบการอาจใช้เทคโนโลยีแบบประหยัดแรงงานเข้ามาทำงานแทนได้ด้วย
ผู้ประกอบการจึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับข้อเรียกร้องของไรเดอร์มากนัก ถึงแม้ว่าคำตอบสำเร็จรูปทางเศรษฐศาสตร์นี้ก็คงไม่ใช่คำตอบที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงสักเท่าไหร่
แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าคำตอบที่วางอยู่บนแบบเศรษฐศาสตร์เช่นนี้มองไม่เห็นถึงคุณค่าของคนทำงานและคุณค่าของการทำงาน
การคิดแบบเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวสามารถสะท้อนผ่านเรื่องบอกเล่าจากเฟซบุ๊คเพจ The Invisible Economist ที่มีผู้ติดตามอยู่จำนวนหนึ่ง แอดมินของเพจนั้นเล่าว่า
“วันก่อนผมเห็นข่าวไรเดอร์ไปประท้วงบริษัทครับ วันนี้จึงจะมาเล่าเรื่องสตาร์ทอัพชื่อ Nuro ที่สหรัฐอเมริกาครับ เป็นบริษัทเทคโนโลยีรถวิ่งอัตโนมัติบนท้องถนนเพื่อการส่งสินค้า พูดง่ายๆคือไม่ต้องจ้างคนขับรถส่งของอีกต่อไป ให้รถวิ่งไปมาเองเลยจะประหยัดค่าจ้างมากกว่า”
มีแฟนเพจของแอดมินท่านนี้หลากคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่สรุปได้คล้าย ๆ กันว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะยังไม่เหมาะสมกับสังคมไทยเพราะมีเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบกและพ.ร.บ.ขนส่งทางบก เป็นต้น
ที่สำคัญคือประเทศไทยนั้นมีความไม่ปลอดภัยสูง รถอัตโนมัติขนส่งอาหารอาจถูกปล้นทั้งอาหารและทั้งตัวรถระหว่างการเดินทางไปส่งสินค้าก็เป็นได้
การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ถือเป็นบรรยากาศที่ดีที่แฟนเพจจะคิดต่างจากแอดมิน แต่การคิดต่างนั้นก็ยังตกอยู่ในกรอบของเศรษฐศาสตร์ที่มองไม่เห็นคุณค่าของการทำงานและคุณค่าของคนทำงาน
อันนี้ที่จริงแล้วการใช้เครื่องจักรเพื่อทดแทนไรเดอร์อย่างสมบูรณ์แบบเป็นปลายทาง ก่อนจะถึงขั้นตอนนั้น อัลกอริธึมจำเป็นต้องบันทึกกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของไรเดอร์เพื่อประมวลเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (quantify) สำหรับการ operate จักรกล
ข้อมูลต่างๆ อยู่บนแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางป้อนคำสั่งแก่ไรเดอร์ โดยระบุประเภทสินค้าและสถานที่ ระบบ GPS คอยทำหน้าที่ติดตามการผลิต เวลาและการเคลื่อนที่ของไรเดอร์
ทั้งนี้ก็เพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถควบคุมคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่กล่าวมาเป็นกระบวนการอย่างย่อๆ เพื่อพัฒนาเครื่องจักรให้สามารถนำส่งสินค้าแทนมนุษย์ได้
หากมองเช่นนี้ การใช้พลังแรงงานไรเดอร์เองก็เหมือนอยู่ในการ “ควบคุม” ของจักรกลอยู่ในที ซึ่งปัญหาก็คือ หลายครั้งแรงงานเองก็ไม่ได้รู้สึกถึงการถูกควบคุม
มีงานวิจัยในต่างประเทศชี้ว่ามีไรเดอร์บางคนที่รู้สึกเป็นอิสระภายใต้การทำงาน (โดยให้เหตุผลว่า การขี่รถไปที่ต่างๆก็เหมือนได้สำรวจที่ทางใหม่ๆไปด้วย) ซึ่งตรงนี้อาจแตกต่างจากกรณีของไทยที่ไรเดอร์ต้องขับขี่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดกว่า และเกิดจิตสำนึกร่วมในการเรียกร้องเพื่อสิทธิต่างๆ
แต่ปัญหาอีกระดับคือ ในเชิงสังคมไม่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่ไรเดอร์เหล่านี้ต้องทำงานภายใต้ “การบัญชา” ของจักรกล (machinic subordination)
ท่วงท่าและการใช้แรงงานของพวกเขาได้ถูกลดทอนให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาจักรกล ซึ่งจริงๆ แล้วงานของไรเดอร์ย่อมมีคุณค่ามากกว่านั้น
วิธีคิดของเพจที่กล่าวถึงจึงบอกแค่เพียงว่า นายจ้างจะทำการจ้างคนงานก็ต่อเมื่อนายจ้างพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ้างคนงานเป็นวิธีการที่ “คุ้มค่า” ต่อการสร้างผลกำไรของตนเอง นั่นก็คือนายจ้างคิดว่าหากการจ้างคนงานจะทำให้ตนเองได้กำไรลดน้อยลง
นายจ้างที่มี “เหตุผล” ก็จะไม่ทำเช่นนั้น แต่ไม่ได้บอกถึง “คุณค่า” ของงานของไรเดอร์ งานที่พวกเขาทำย่อมมีคุณค่าแก่ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำ
การทำงานไม่เพียงแต่จะเป็นที่มาของการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตนเองแต่อาจรวมถึงครอบครัว แต่ก็สามารถเป็นความภาคภูมิใจให้กับคนทำงานว่าตนเองได้ทำสิ่งดี ๆ ที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้นกับสังคม
คำพูดทักทายว่าสวัสดีครับ ทานอาหารให้อร่อยนะครับพร้อมรอยยิ้มจากไรเดอร์น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความสุขกับการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น คำพูดขอบคุณพร้อมรอยยิ้มจากผู้บริโภคก็น่าจะทำให้ไรเดอร์มีความสุขกับการส่งอาหารเที่ยวนี้มากขึ้นแม้จะได้ค่าส่งเท่าเดิม
ข้อเสนอที่ว่าหากไรเดอร์เรียกร้องมากนักผู้ประกอบการก็จะนำเอาหุ่นยนต์อัตโนมัติมาทำงานแทนจึงเป็นข้อเสนอที่สะท้อนวิธีคิดที่มองกำไรนำ (ซึ่งจริงๆเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าเป็นกระแสหลักก็ไม่ใช่ศาสตร์ที่ต้องการแสวงหากำไรเป็นที่ตั้งนะครับ)
การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใด ๆ ขึ้นในทัศนะแบบเศรษฐศาสตร์ก็จึงไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าการหาวิธีสร้างผลกำไรให้มากขึ้น โดยไม่ได้ให้ความสนใจเลยว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะไปลดทอนคุณค่าอะไรของใครหรือไม่ ดังที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว
"ในพัฒนาการของระบบแคปิตะลิสม์นั้น สมรรถวิสัยในการผลิตได้มีการขยายตัวออกและขยายตัวออกกว้างขวางอยู่โดยไม่ยับยั้ง แต่การณ์กลับปรากฏว่า สิ่งที่คนงานและมหาชนส่วนใหญ่ได้รับเพื่อการดำรงชีพ ได้มีปริมาณน้อยลงและน้อยลงอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่ได้ส่วนสัมพันธ์กันเลย กับอำนาจการผลิตที่ยิ่งใหญ่ขึ้นและยิ่งใหญ่ขึ้น"
คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน
- ผศ.ตะวัน วรรณรัตน์
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ผศ.ดร.นรชิต จิรสัทธรรม
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น