มองโลกไม่สวยของ "แรงงานแพลตฟอร์ม" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง

มองโลกไม่สวยของ "แรงงานแพลตฟอร์ม" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง

"วันแรงงาน" 1 พฤษภาคม ชวนสำรวจโลกอีกด้านที่ไม่ค่อยสวยงามของ "แรงงานแพลตฟอร์ม" แรงงานอิสระในโลกยุคใหม่ อาชีพที่อิสระและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังไร้ตัวตนในระบบแรงงานและไร้การคุ้มครองในทางกฎหมาย

ฟู้ดเดลิเวอรี่, เรียกรถแท๊กซี่, ขนส่งพัสดุ, บริการแม่บ้าน, ติวเตอร์ออนไลน์ คือสารพัดบริการที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน และทำให้แอปพลิเคชั่นอย่าง Grab, Lineman, Lalamove, Foodpanda, Robinhood, BeNeat เป็นแอปฯ สามัญลำดับแรกๆ ที่ต้องโหลดติดสมาร์โฟนไว้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นิยามบริการเช่นนี้ว่า เป็นธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม หรือจะเรียกรวมๆ กันว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) ก็ทำได้

สิ่งเหล่านี้เชื่อมต่อกับคีย์เวิร์ดแห่งยุคอย่าง ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital platform) เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy) เศรษฐกิจชั่วคราว (Gig economy) โดยความสำคัญของธุรกิจเช่นนี้  คือการจับคู่ความต้องการของผู้เสนอขายสินค้าและบริการกับความต้องการเสนอซื้อสินค้าผ่านกลไกดิจิทัล โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลทำหน้าที่นายหน้าซื้อขายสินค้าและบริการที่รวดเร็วทันเวลา

ถึง เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้สังคมและผู้บริโภค แต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือข้อถกเถียงว่าด้วย “สิทธิแรงงาน” ที่มากับการให้บริการในแพลตฟอร์มเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลการจ้างงานที่เกิดจากแพลตฟอร์ม รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 , พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ยังครอบคลุมไปไม่ถึง

  • แรงงานในโลกใหม่

ข้อมูลจากรายงาน World Employment and Social Outlook 2021: The role of digital labour platforms in transforming the world of work ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เก็บข้อมูลจากคนทำงานผ่านแพลตฟอร์มกว่า 12,000 คน จาก 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าในรอบสิบปี (ปี 2010 - 2020) แพลตฟอร์มทั่วโลกขยายตัวกว่า 5 เท่า โดยเพิ่มจาก 142 แพลตฟอร์มในปี 2010 เป็น 777 แพลตฟอร์มในปี 2020

มองโลกไม่สวยของ \"แรงงานแพลตฟอร์ม\" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง

การเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มจ้างงานที่สูงขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภาพจากรายงาน World Employment and Social Outlook 2021

ขณะที่ในประเทศไทย งานวิจัยเพื่อศึกษาสภาพการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์ม โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน เคยสำรวจกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม ทั้งที่ทำเป็นอาชีพหลักและเสริม ในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และต่างจังหวัด 1,000 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานใน 3 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มขับขี่ยานพาหนะรับจ้าง

2.กลุ่มบริการรับ-ส่งอาหาร

3.กลุ่มรับจ้างทำงานบ้าน

ปัญหาที่พบร่วมกันคือ แรงงานแพลตฟอร์มไม่ได้รับการจ้างงานเป็นธรรม ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นธรรม และไม่มีสิทธิสวัสดิการเทียบเท่าแรงงานในระบบ

“การจ้างงานแพลตฟอร์มเป็นรูปแบบใหม่ ที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน ประกอบกับโควิด-19 ทำให้แรงงานนอกระบบผันตัวมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงแรงงานและภาครัฐ ต้องออกนโยบายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม” ส่วนหนึ่งของงานวิจัยระบุ

มองโลกไม่สวยของ \"แรงงานแพลตฟอร์ม\" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง

วิทยา ทัพมงคล ไรเดอร์ของฟู้ดเดลิเวอรี และสมาชิกชมรมไรเดอร์แห่งประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า ปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์ม คือค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง

นับเฉพาะกลุ่มแรงงานประเภทไรเดอร์ ลักษณะในตลาดแรงงานขณะนี้เหมือน “คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า” นั่นคือ บุคคลภายนอกคิดว่า สามารถเป็นอาชีพที่พึ่งพาได้ จะเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักเมื่อต้องออกจากงานได้ แต่ในความเป็นจริงคือมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น อีกทั้งการที่จะได้ค่าตอบแทนตามเป้าหมาย(1,500 บาท/วัน ไม่หักค่าใช้จ่าย) นั่นหมายถึงต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมง

“ตัวเลขที่ถูกโฆษณาว่ารายได้หลักหลายพัน รวมๆกันแล้วมากกว่า2 หมื่นในแต่ละเดือน มันก็อาจจะได้นะ แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องได้รอบต่อเนื่องทั้งวัน ทำงานตั้งแต่ 8 โมง ถึงสัก 3 ทุ่ม แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ตามนี้ก็คงไม่ถึง จำนวนไรเดอร์ในปัจจุบันมีเยอะกว่าเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วมาก และถ้าถามว่าทำไมไม่เป็นทำอย่างอื่น ก็ต้องบอกว่าคนเราไม่เหมือนกัน บางคนเขาก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ถ้าไม่เป็นไรเดอร์ก็คงทำงานตามร้านอาหาร ตามห้าง ซึ่งรายได้ก็ไม่ต่างกันมาก แต่ที่เลือกเป็นไรเดอร์เพราะมีอิสระกว่า”

งานวิจัย “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” โดยศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพที่มาของแรงงานแพลตฟอร์มตอนหนึ่งว่า เหตุผลของการเป็นไรเดอร์ในลำดับแรกๆ คือ

1.มีความเป็นอิสระในการทำงานร้อยละ 38.9

2.ต้องการหารายได้เสริมร้อยละ 17.5

3.รายได้ดีกว่างานที่เคยทำ 10.7 ลำดับที่ 4. ว่างงาน / ไม่มีมีงานร้อยละ 7.9

มองโลกไม่สวยของ \"แรงงานแพลตฟอร์ม\" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง เหตุผลในการเลือกประกอบอาชีพของกลุ่มไรเดอร์ จากงานวิจัย ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนฯ

แรงจูงใจที่ว่านี้ สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ยังคงเป็นคำถาม? เพราะในอีกด้านหนึ่งความอิสระของการเป็นไรเดอร์ก็มีต้นทุนที่ต้องแลก เช่น ผลสำรวจที่ระบุว่าไรเดอร์มีจำนวนชั่วโมงการทำงานส่วนใหญ่ได้แก่ 2 กลุ่มหลัก คือ

  • ทำงาน 41-60 ชั่วโมง /สัปดาห์ จำนวนร้อยละ 36.6
  • กลุ่มที่สอง 61-80 ชั่วโมง/สัปดาห์ ร้อยละ 26.4

ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาต้องทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน ในอัตราน้อยที่สุดวันละ 6.8 ชั่วโมง จนไปถึงวันละ 13 ชั่วโมง โดยมีอัตราค่าจ้างที่สำรวจอยู่ที่สองกลุ่มหลักคือ 10,000-20,000 บาท ร้อยละ 58.9 และกลุ่ม 20,000-30,000 ร้อยละ 29.4

มองโลกไม่สวยของ \"แรงงานแพลตฟอร์ม\" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง ตารางชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของกลุ่มไรเดอร์

  • ไรเดอร์แค่ปลายยอด ฐานคือแรงงานอิสระที่ยังไร้กติกา  

ตลอดปี 2564-2565 เรามักได้ยินข่าวสมาชิกสหภาพไรเดอร์ประท้วงขึ้นค่ารอบ การถูกหักค่า GP (Gross Profit) ของร้านอาหาร หรือกรณีของแม่บ้านแพลตฟอร์มซึ่งมีค่าใช้จ่ายแฝงต่อการรับงาน 1 ครั้ง เช่น น้ำยาทำความสะอาด ค่ารถ แต่ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาแค่เพียงปลายยอดของปัญหา นั่นเพราะแรงงานเหล่านี้มีจำนวนมากพอ ที่จะส่งเสียงและเรียกร้องตามที่เป็นข่าวได้

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มฯ” มองว่า ความต้องการที่ไม่ลงตัวระหว่าง “แรงงาน” กับ “แพลตฟอร์ม” จะมีต่อเรื่อยๆ เพียงแต่ทุกวันนี้เมื่อเอ่ยถึง “แรงงานแพลตฟอร์ม” ผู้คนก็จะคิดแค่กลุ่มไรเดอร์ เนื่องจากมีจำนวนมากที่สุด

จะเป็นวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2565 หรือจะเป็นวันแรงงานในปีต่อๆไป ปัญหา “แรงงานแพลตฟอร์ม” ยังจะเป็นประเด็นอยู่ดี นั่นเพราะในโลกปัจจุบัน การจ้างงานในแบบ “เป็นจ็อบ” หรือที่เรียกว่า “Gig Economy” (การจ้างงานในระยะสั้น เช่น รูปแบบงานอิสระ ฟรีแลนซ์) จะได้รับความนิยมเรื่อยๆ เช่น งานรายชิ้นแบบฟรีแลนซ์ งานแปล งานถอดเทป งานออกแบบ เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ ช่างแต่งหน้า ฯลฯ ซึ่งก็จะมีคำถามว่าแพลตฟอร์มตัวกลางคุ้มครองแรงงานแค่ไหน?

มองโลกไม่สวยของ \"แรงงานแพลตฟอร์ม\" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ระหว่างการเก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่อง “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน”  อรรคณัฐ สะท้อนว่า เรื่องสวัสดิการของกลุ่มไรเดอร์ เป็นมากกว่า “รักสามเศร้า” เพราะผู้เกี่ยวข้องเห็นไปคนละทาง

ด้านแรกคือ ธุรกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งมองไรเดอร์เป็น “พาร์ทเนอร์” ไม่ใช่ลูกจ้าง จึงไม่เข้าข่ายแบบพนักงานบริษัท แต่ขณะเดียวก็มีสวัสดิการ และประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ขับขี่ที่ทำงานได้ “ถึงยอด” ซึ่งกลุ่มไรเดอร์ก็มีความหลากหลายทั้งที่ทำงานจริงและมาๆหายๆ การจะไปคุ้มครองทั้งหมดจึงเป็นภาระมาก

ด้านที่สอง ด้านนักวิชาการและผู้ขับเคลื่อนประเด็นแรงงาน ซึ่งเล็งเห็นว่า ควรผลักดันให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบ เข้าสู่การเป็นลูกจ้างแบบพนักงานบริษัท ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับภาระ

ขณะที่ในกลุ่มไรเดอร์นั้น มีทั้งที่เห็นพ้องแบบนักวิชาการ และก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากจะ “อิสระ” ต่อไป อยากคงประโยชน์เรื่องทำงานเมื่อไรก็ได้ที่พร้อม จำนวนกี่รอบก็ได้ แต่ก็อยากได้ความคุ้มครองจากผู้ว่าจ้าง

“ไรเดอร์เกินครึ่งต้องการเป็นแรงงานอิสระ เพราะไม่ต้องผูกมัดด้วยเงื่อนไขเวลาทำงาน เขาต้องการแค่เรียกร้องค่าจ้างทีเพิ่มขึ้น ไม่ได้ต้องการสวัสดิการอื่นๆเลย ประเด็นนี้คือจะบอกว่ากลุ่มไรเดอร์เองก็หลากหลาย ไม่ได้มีความต้องการแบบเดียว”

มองโลกไม่สวยของ \"แรงงานแพลตฟอร์ม\" แรงงานโลกใหม่ที่ยังไร้การคุ้มครอง

ต้นทุนของไรเดอร์หากต้องการเริ่มทำงาน

  • โจทย์ใหญ่ของแรงงานไร้ตัวตน

ถ้าการทำงานแบบรายเดือนคือการ “จ้างเหมา” แต่การทำงานอิสระคือ “ทำเท่าไรได้เท่านั้น” และการทำงานแบบหลังนี่แหละที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นมุมของลูกจ้างและนายจ้าง

ผู้ประกอบการด้านจัดเลี้ยงรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า โควิด-19 ได้ลดพนักงานประจำลง และเพิ่มงานแบบลูกจ้างชั่วคราวมากขึ้น และแม้แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้ถูกเรียกว่า “แรงงานแพลตฟอร์ม” ตรงๆ แต่หลักการดูแลคุณภาพชีวิตก็ยังคลุมเครือซึ่งยังเป็นคำถามทั้งนายจ้างและผู้ว่าแจ้ง เช่น ถ้าเกิดอุบัติเหตุในการทำงานในฐานะนายจ้างชั่วคราวต้องดูแลระดับไหน ? การดูแลนี้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นแค่ศีลธรรมที่มนุษย์ควรปฏิบัติต่อกัน

ถ้าจะบอกว่า แรงงานแพลตฟอร์ม ไม่ต่างจาก “แรงงานนอกระบบ” ผู้ไร้ตัวตน ก็ไม่ผิดนัก และต่อไปนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทักษะความสามารถและรายได้ในการทำงานของคุณจะเป็นอย่างไร ดูแลตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน เพราะขณะนี้ยังไม่มีหลักประกันทางสังคมใดๆ แม้ในปัจจุบันจะมีแพลตฟอร์มบริการที่หลากหลายมากขึ้น

นักวิจัยด้านแรงงานแพลตฟอร์ม กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มองแรงงานเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ แรงงานในระบบที่เข้าข่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 กับกลุ่มที่สองคือ ผู้ประกันตนแบบอาชีพอิสระตามมาตรา40

"ปัญหาหนึ่งคือเมื่อมี 2 ทางหลัก แต่แรงงานแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถเข้าระบบแบบทางแรกได้ ไม่สนใจเข้าสู่แนวทางที่สอง เพราะเมื่อพิจารณาถึงสิทธิที่จะได้รับ ถูกมองว่า "ไม่คุ้มค่า" ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าทำไมระยะห่างระหว่างสิทธิแรงงานในระบบกับนอกระบบถึงมีความห่างกันถึงขนาดนี้"

"กับอีกประเด็นคือเมื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานอิสระ ก็พบว่ามีจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองสามารถเข้าถึงระบบได้โดยการจ่ายเงินสมทบเอง ซึ่งความไม่รู้เช่นนี้ก็ชวนตั้งคำถามว่าทำไม? ทั้งๆที่แรงงานอิสระ ในปัจจุบันมีมากขึ้น

จึงพูดได้ว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าแรงงานกลุ่มแพลตฟอร์มนี้คืออะไร? เป็นลูกจ้างประเภทไหน จะออกแบบหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มนี้อย่างไร ให้สอดคล้องกับหลักคุ้มครองแรงงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสม

ในความโลกสวยที่อิสระ และเป็นเทรนด์การทำงานแห่งยุค หาก "แรงงานแพลตฟอร์ม" ก็มีด้านที่โลกไม่สวย และตั้งคำถามถึง  "สิทธิแรงงาน" ที่ควรได้รับ

อ้างอิง

งานวิจัย "ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19"

The role of digital labour platforms in transforming the world of work