พัฒนาทักษะคนทุกช่วงวัย พาไทยสู่ประเทศรายได้สูง | วาระทีดีอาร์ไอ
ก้าวสู่ปี 2566 ตลาดแรงงานทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรและการปรับใช้เทคโนโลยี แต่ตลาดแรงงานของประเทศไทยยังวนเวียนกับปัญหาเดิม
เช่น ปัญหาการว่างงานในบัณฑิตจบใหม่และการว่างงานช่วงโควิด ปัญหาจับคู่ระหว่างแรงงานจบใหม่และความต้องของผู้ประกอบการ ระบบการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือแรงงานไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ล้มเหลว เป็นต้น
แม้ว่าที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามใช้นโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการพัฒนาแรงงานเพื่อยกระดับรายได้ทำได้ยาก และการนำพาประเทศไปสู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี ตามเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2560 นั้น จึงดูไกลออกไป
เพื่อสร้างความเป็นไปได้และวางแผนให้ประเทศไทยก้าวผ่านผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในด้านแรงงานและเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงอย่างยั่งยืน คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
จึงได้ศึกษาจัดทำโครงการ “นโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน” เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกตลาดแรงงาน
โดยต่อยอดจากการศึกษาภาพอนาคตประเทศไทยในทิศทางที่ควรจะเป็น ด้วยการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศด้านการกระจายอำนาจและการการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ของ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทีมวิจัย
งานศึกษาของ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ และคณะ ได้นิยามฉากทัศน์แห่งความสำเร็จของการเป็นประเทศรายได้สูงนี้ว่า บัวพ้นน้ำ ไทยวิวัฒน์ โดยการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเป็นกรอบวิเคราะห์เสนอกลไกการพัฒนาประเทศ
เพื่อการยกระดับไปสู่การมีรายได้สูง ภายใต้การชี้นำของอุตสาหกรรมเป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียวที่ครอบคลุมด้าน พลังงาน เกษตร อาหาร เทคโนโลยี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นตัวช่วย
ผ่านการเสริมเติมทักษะให้คนไทยทุกช่วงวัยมีความพร้อมในการปรับตัว เริ่มตั้งแต่การเพิ่มพูนทักษะความเป็นผู้ประกอบการผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับคนทุกช่วงวัย
สำหรับวัยอนุบาล-ประถมศึกษาตอนต้น งานศึกษาได้เสนอให้ยกเลิกการสอบกลางภาค-ปลายภาค และแทนด้วยการให้น้ำหนักกับการเล่นปนเรียนเพื่อบ่มเพาะทักษะพื้นฐานที่จำเป็น
อาทิ การคำนวณ การจัดการด้านการเงิน การใช้ภาษา และการใช้เทคโนโลยี ภายใต้การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจให้มีความยืดหยุ่นทางความคิด เรียนรู้จากความผิดพลาด มีความรับผิดชอบในตัวเอง
สำหรับวัยประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น งานศึกษาได้เสนอให้ปลูกฝังความคิดแบบผู้ประกอบการและการสร้างรายได้ เตรียมความพร้อมในการค้นหาตนเองและเข้าสู่ตลาดแรงงาน
สำหรับผู้เรียนระดับอุดมศึกษา ในงานศึกษาได้เสนอให้เพิ่มความยืดหยุ่นในการศึกษา และการสร้างทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เชื่อมโยงการศึกษาและการทำงานโดยรับรองการนับหน่วยกิตจากการทำงานจริง โดยรัฐสมทบเงินออมในส่วนของนายจ้างให้กับนักศึกษาฝึกงาน
สำหรับผู้สูงอายุ งานศึกษาได้เสนอให้สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สูงอายุกับชุมชน ผ่านกิจกรรมจิตอาสา ฝึกอาชีพ แบ่งปันประสบการณ์ ควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพกายและจิต รวมทั้งมีการอุดหนุนเงินฝึกอบรมแบบมีเงื่อนไขให้แรงงานรับการพัฒนาทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ
การดำเนินการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยทั้งวงจรชีวิตนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลากหลายด้าน โดยไม่อาจแยกส่วนการทำงานระหว่างบทบาทการศึกษา การพัฒนาทักษะ การทำงาน การดูแลสุขภาพ และการจัดการด้านรัฐสวัสดิการออกจากกันได้
ในทางปฏิบัติ ความยุ่งยากซับซ้อนในการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ วิชาการ สถานศึกษาและเอกชน เป็นสิ่งกีดขวางทัศนวิสัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ทำให้นักพัฒนาจำนวนมากเกิดความท้อถอยและไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้
เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือ คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลแรงงาน อาทิ ข้อมูลแรงงานในระบบ-นอกระบบ ทักษะแรงงาน ข้อมูลสวัสดิการแรงงาน และความต้องการแรงงานของนายจ้าง
การศึกษานี้ นอกจากมีข้อเสนอเสริมเติมทักษะให้คนไทยทุกช่วงวัยแล้ว ยังได้เสนอสร้างวิสัยทัศน์ด้านข้อมูลแรงงานที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการ สถานศึกษาและเอกชน เพื่อมุ่งยกระดับรายได้ต่อหัว
และเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินงานได้เห็นภาพรวมของการใช้งานข้อมูลทั้งระบบ ไม่จำกัดเฉพาะข้อมูลที่ตนเองเกี่ยวข้อง บนพื้นฐานด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลกลาง อาทิ คลาวด์กลางภาครัฐ และระบบธรรมาภิบาลด้านข้อมูล
เมื่อมีวิสัยทัศน์ด้านข้อมูลร่วมกันแล้ว ความท้าทายคือ การทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการใช้งานข้อมูลเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และใช้จุดแข็งของการทำงานทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ร่วมกัน
โครงสร้างทะเบียนแรงงานอาจอยู่เพียงในอุดมคติหากเราพูดถึงแนวคิดนี้ในอดีต แต่การขึ้นทะเบียนข้อมูลภาครัฐ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการตื่นตัวในการใช้งานระบบดิจิทัลในวงกว้างของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ
ในปัจจุบัน กำลังเปิดโอกาสสำคัญให้ประเทศก้าวไปสู่การบูรณาการการทำงานร่วมกัน สร้างความหวังให้นักพัฒนา และทำให้ทัศนวิสัยแห่งความสำเร็จของการเป็นประเทศรายได้สูง “บัวพ้นน้ำ ไทยวิวัฒน์” ชัดเจนและเป็นไปได้ยิ่งขึ้น