เมื่อพนักงานรับเคราะห์จากกลยุทธ์ที่ผิดพลาด | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อพนักงานรับเคราะห์จากกลยุทธ์ที่ผิดพลาด | พสุ เดชะรินทร์

ช่วงปลายปีตลอดจนต้นปีที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ในสื่อธุรกิจระดับโลกจะหนีไม่พ้นเรื่องการปลดพนักงานอย่างมากมายของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งสาเหตุหลักที่ต้องปลดนั้นก็มาจากการมองอนาคตและกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของบริษัท

เริ่มจาก Meta ที่ปลดพนักงาน 11,000 คนในปลายปีที่ผ่านมา ตามด้วย Amazon อีก 18,000 คน ในต้นเดือนมกราคม ต่อด้วย Microsoft อีก 10,000 คน และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) อีก 12,000 คน ส่วนที่ไม่ถึงหลักหมื่นก็มี IBM (3,900 คน) SAP (3,000 คน) เป็นต้น

สาเหตุหลักของการปลดพนักงานอย่างมากมายในครั้งนี้ มาจากการคาดการณ์ต่อรูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิต และภาวะเศรษฐกิจหลังโควิดที่ผิดพลาด นำไปสู่กลยุทธ์ที่ผิดพลาด ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้เน้นการขยายกิจการและรับพนักงานเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

ในช่วงโควิดทุกองค์กร ทุกคน หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากขึ้น ทำให้ผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การคาดการณ์ว่าโลกหลังโควิดนั้น การใช้และพึ่งพาเทคโนโลยีจะยังจำเป็นและเติบโตอีกต่อไป 

เมื่อพนักงานรับเคราะห์จากกลยุทธ์ที่ผิดพลาด | พสุ เดชะรินทร์

บริษัทเทคโนโลยี มีการลงทุนใหม่ การขยายกิจการ การริเริ่มในโครงการใหม่มากมาย ซึ่งก็นำไปสู่การรับพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี หลังโควิดคลี่คลาย โลกกลับไม่ได้เป็นดั่งที่คาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจโลกไม่ได้ดีตามคาด ราคาน้ำมันพุ่ง อัตราเงินเฟ้อพุ่ง แถมเมื่อคนกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้มากขึ้น การใช้ชีวิตก็หมุนกลับสู่โลกก่อนโควิดมากขึ้น

ที่เคยคิดว่าจะออนไลน์ทั้งหมด ก็เป็นไฮบริดแทน ขณะเดียวกันคนก็แสวงหาโลกที่เน้นประสบการณ์ การเจอหน้าในแบบออฟไลน์มากขึ้น 

ดังนั้น การเติบโตในด้านเทคโนโลยีจึงไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีก็ออกมายอมรับต่อการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีที่น้อยลง หรือภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป หรือความผิดพลาดที่รับพนักงานอย่างมากมายในช่วงโควิด

การปลดพนักงานรอบนี้ ยังมีข่าวที่ไม่เป็นผลบวกกับบริษัทเหล่านี้ในเรื่องของวิธีการปลดพนักงานอีกด้วย พนักงานที่ถูกปลดส่วนใหญ่รับทราบว่าตนเองถูกปลดจากอีเมล บางคนก็ทราบเนื่องจากไม่สามารถล็อกอินเข้าในระบบของบริษัทได้อีกต่อไป

พนักงานที่ถูกปลดจะไม่ได้มีโอกาสสื่อสารหรือร่ำลากับเจ้านายหรือเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ อีกเลย เนื่องจากไม่สามารถเข้าระบบสื่อสารของบริษัทได้อีก

เมื่อพนักงานรับเคราะห์จากกลยุทธ์ที่ผิดพลาด | พสุ เดชะรินทร์

พนักงานที่ยังเหลืออยู่ก็เริ่มเสียขวัญ ไม่แน่ใจว่าจะกลายเป็นรายต่อไปที่ถูกปลดหรือไม่ ดังนั้น เมื่อเจอเพื่อนพนักงานคนอื่น ก็จะร่ำลากันล่วงหน้า เนื่องจากถ้าถูกปลดก็จะไม่สามารถเข้าระบบและได้มีโอกาสบอกลากับเพื่อนพนักงานได้อีก

นอกเหนือจากการปลดพนักงานแล้ว บริษัทเทคโนโลยีก็ยังต้องมาทบทวนต่อการเติบโตที่ผ่านมาว่ายังคุ้มหรือไม่ เช่น Amazon ที่ขยายคลังสินค้าเป็นจำนวนมากในช่วงโควิด ก็กำลังพิจารณาหาทางปล่อยเช่าคลังสินค้าบางส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป หรือ Google ที่ปิดบริการเกมออนไลน์ Stadia ของตนเองลง

ล่าสุด บริษัทที่ไม่ใช่เทคโนโลยีก็ได้เริ่มประกาศปลดพนักงานของตนเองลงด้วยเช่นกัน ซึ่งมีสาเหตุที่ต่างกัน บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีการขยายจำนวนพนักงานอย่างมากในช่วงโควิด แต่ลดพนักงานเนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่าย อันเนื่องจากภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่ไม่สดใส

เช่น Goldman Sachs ที่มีแผนจะลดพนักงานลง 3,200 คน หรือ Hasbro ผู้ผลิตของเล่นเด็กยักษ์ใหญ่ของโลกก็ประกาศจะลดพนักงานลง 1,000 คนหรือ 15% ของพนักงานทั้งหมด หรือ Dow ที่ประกาศจะลดพนักงานลง 2,000 คน 

หรือ 3M ประกาศลดพนักงานในภาคผลิตลง 2,500 คน ซึ่งสาเหตุการลดพนักงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มาจากต้องการลดค่าใช้จ่ายและปรับตัวเนื่องจากอุปสงค์และตลาดที่ไม่เติบโต

จะเห็นได้ว่าในกรณีของบริษัทเทคโนโลยีนั้น การคาดการณ์ในตลาดที่ผิดพลาด นำไปสู่การกลยุทธ์ที่ผิดพลาด นำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องพนักงานที่ผิดพลาด สุดท้ายก็ทำให้ต้องปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก

และผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ พนักงานที่ถูกปลดออก และเป็นผลกระทบจากการตัดสินใจทางกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของผู้บริหารนั้นเอง