เตือน! นายจ้าง 13 ก.พ.นี้ วันสุดท้าย ยื่นต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ

เตือน! นายจ้าง 13 ก.พ.นี้ วันสุดท้าย ยื่นต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ

เตือน! นายจ้าง 13 ก.พ.นี้ วันสุดท้าย ยื่นต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือสำนักงานจัดหางาน เพื่อรับเอกสารแทนใบอนุญาตทำงานจริงเป็นการชั่วคราว

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาล โดย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขอให้นายจ้าง สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ.2566 หากประสงค์จะทำงานต่อไป ให้รีบยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ

โดยดำเนินการยื่นต่ออายุใบอนุญาตทำงานและชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.พ.66 เพื่อที่จะสามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2567 หรือ 13 ก.พ. 2568 แล้วแต่กรณี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พ.ค. 66 เพื่อจัดเตรียมเอกสารการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน โดยภายหลังยื่นต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และชำระเงินค่าธรรมเนียมฯ ภายในวันที่ 13 ก.พ.66 แล้ว ยังได้ขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของชาวเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี จนถึงวันที่ 13 พ.ค.2566 เพื่อแก้ปัญหาแรงงานหลุดออกจากระบบ

น.ส.ไตรศุลี กล่าว่า ภายหลังยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.พ.66 แล้ว ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน กรมการจัดหางาน จะออกเอกสารซึ่งแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร โดยเป็นเอกสารหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจริง เพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมายแล้ว
 

หากยื่นต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวไม่ทันตามเวลาที่ราชการกำหนด จะถือว่าเป็นการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย โดยแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร แรงงานผิดกฎหมาย มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท ไม่สามารถกลับมาทำงานภายในราชอาณาจักรในระยะเวลา 2 ปี ส่วนการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท หากกระทำความผิดซ้ำ จะไม่สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวได้เป็นระยะเวลา 3 ปี