แรงงานไทยปี 2565 อัตราการว่างงานลดลง สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัว

แรงงานไทยปี 2565 อัตราการว่างงานลดลง สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัว

โฆษกรัฐบาลเผย ภาพรวมด้านแรงงานของไทยปี 2565 อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นายกฯ ย้ำทุกฝ่ายช่วยกันดูแลแก้ปัญหา ร่วมกันสร้างรากฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

วันนี้ (5 มี.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานพบความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับการจ้างงานในไตรมาสสี่ ปี 2565 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลง มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 

ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 รวมทั้งสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสี่ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยนายกรัฐมนตรีพอใจต่อสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ติดตามภาวการณ์มีงานทำ หรือการว่างงานของประชาชนในภาพรวมทุกไตรมาส ซึ่งภาพรวมด้านแรงงานปี 65 อัตราการมีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับ ซึ่งทิศทางด้านการจ้างงานที่เป็นบวกนี้ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จจากการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง รวมทั้งสะท้อนความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้น หลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์การจ้างงานแรงงานของไทยดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ร่วมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงไปด้วยกัน” นายอนุชา กล่าว 

นายอนุชากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประสานงานกับภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการหางาน และสถานประกอบการที่ต้องการรับสมัครคนทำงานมีโอกาสได้พบกัน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตำแหน่งงานและเกิดการจ้างงาน โดยทุกคนที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการจัดหางานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือเลือกหางานผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งให้บริการทั้ง Web Application ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th  และ Mobile Application หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 

ทั้งนี้ สศช. ได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสี่ ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการค้าส่งและค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต

 สำหรับภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 3.4 จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงาน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6 และ 46.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนกว่า 6.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ว่างงานแฝงและผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่าร้อยละ 28.0 และ 19.0 ตามลำดับ การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ1.15 ซึ่งลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน 

สำหรับภาพรวม ปี 2565 อัตราการมีงานทำและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 สถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปสู่สาขาที่ฟื้นตัวได้ดี