เปิดผลวิจัย'จัดซื้อจัดจ้าง'เพื่อความเสมอภาคทางเพศ
การสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหญิงถือเป็นประตูเปิดให้พวกเธอก้าวเข้าสู่โอกาสที่กว้างขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดงาน Ring the Bell for Gender Equality ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมการเสวนาในหัวข้อ “Diverse and inclusive supply chains as a transformative innovation to sustainability หรือ ห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายและครอบคลุมเป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ซึ่งงานนี้ไม่ใช่เวทีที่พูดกันปาวๆ แต่มีผลวิจัยมายืนยัน!
ภัทราภรณ์ เยอบะระ ตัวแทนนักวิจัยจากป่าสาละ บริษัทวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืน นำเสนอผลการประเมินระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและความพร้อมของประเทศในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่หลากหลาย รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ เน้นไปที่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (MSMEs)
ธุรกิจของผู้หญิงคืออะไร
เริ่มต้นต้องนิยามให้ชัด ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของ (Women-owned businesses: WOBs) หมายถึง MSMEs ที่มีผู้หญิงถือหุ้นอย่างน้อย51% หรือกิจการที่มีผู้หญิงถือหุ้นอย่างน้อย 20% และมีผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนมีอำนาจตัดสินใจ และมีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการบริหาร 30%
ส่วนวิสาหกิจที่คำนึงถึงมิติเพศสภาวะ (Gender-responsive Enterprises: GREs) หมายถึง บริษัทที่มีนโยบายสอดคล้องกับการเพิ่มพลังผู้หญิง ของ UN Women, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหลักการสากลอื่นๆ
การส่งเสริมธุรกิจสองประเภทนี้ที่เน้นการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ กระทำผ่านการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ (Gender-responsive Procurement: GRP)
สาเหตุที่ต้องสนใจ WOBs และอีโคซิสเต็ม
เมื่อพิจารณาซัพพลายเชนทั่วโลกไม่ว่าในภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งมีขนาด 11-13 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของเข้าถึงได้แค่ 1% เท่านั้น แต่ธุรกิจของพวกเธอมีความสำคัญด้วยคาดการณ์ว่า 60% ของ MSMEs ในเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้หญิง มีบทบาทมากในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
WOBs จ้างงานผู้หญิงมากกว่าธุรกิจที่เจ้าของเป็นผู้ชายประมาณ 17% นั่นเท่ากับว่ารายได้จากพนักงานไหลเข้าไปดูแลครอบครัวได้มากขึ้น แต่ WOBs มีความท้าทายในการทำธุรกิจมากกว่ากิจการที่ผู้ชายเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเครือข่าย เข้าถึงการเงิน ขยายธุรกิจ และที่สำคัญธุรกิจของผู้หญิงตอบสนองต่อการเข้าถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG),การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบต่อสังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) และเป้าหมายของอาเซียน
มอง MSMEs ในประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีข้อมูล WOBs โดยเฉพาะ งานวิจัยชิ้นนี้จึงต้องมองจาก MSMEs ในภาพรวม พบว่า 99.5% ของกิจการในประเทศไทยเป็น MSMEs คิดเป็น 34.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และ 72% ของการจ้างงานทั้งประเทศในปี 2565
เมื่อพูดถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ ต้องพิจารณาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งกระบวนการ ซึ่งประกอบด้วย MSMEs ในฐานะผู้ขาย, กิจการขนาดใหญ่ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทจดทะเบียนในฐานะผู้ซื้อ, ภาครัฐ เป็นทั้งผู้ซื้อและกำหนดนโยบาย และองค์กรสนับสนุนอื่นๆ ทั้งในด้านความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สนับสนุนด้านการเงิน และช่วยสร้างเครือข่าย
ข้อค้นพบการวิจัย
ข้อค้นพบจากการวิจัยขั้นปฐมภูมิผสมผสานการสัมภาษณ์เชิงลึกจากหน่วยงานภาครัฐ บริษัทขนาดใหญ่ MSMEs และ WOBs จำแนกตามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดังนี้
1. หน่วยงานภาครัฐ เริ่มขยับเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ
มี 8 องค์กรภาครัฐนำร่องวางงบประมาณโดยใช้หลักความเสมอภาคทางเพศที่เรียกว่า Gender-responsive Budgeting เมื่อปี 2564 ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำลังนิยาม WOBs ในภาษาไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นิยามที่ใช้ในงานวิจัยยังเป็นนิยามของนานาชาติ
ภาครัฐเองได้เห็นช่องทางเพิ่มเงื่อนไขความเสมอภาคทางเพศเข้าไปในเอ็มโอยูสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง และสนับสนุน MSMEs ในทางอ้อมอยู่แล้วโดยไม่ได้เจาะจงว่าผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการต้องเป็นผู้หญิง กล่าวคือ ในปี 2563 รัฐกำหนดให้งบประมาณขององค์กร 30% ต้องซื้อสินค้าและบริการจาก MSMEs ที่ลงทะเบียนกับรัฐ หากเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก็สามารถซื้อขายกับรัฐได้เลยไม่ต้องประมูลแข่งขัน
2. บริษัทขนาดใหญ่ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในบริษัทข้ามชาติที่ทำโครงการริเริ่มนี้มาเป็นสิบปีแล้ว เมื่อบริษัทเหล่านี้มามีสาขาในไทยจึงทำตามนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นระบบ มีการตั้งงบประมาณเป็นการเฉพาะ ตั้งเป้าหมาย รายงานผลและที่สำคัญคือผูกกับเคพีไอของผู้บริหารรวมถึงฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยก็มีแนวโน้มที่ดี หลายบริษัทเริ่มมีการทำวิจัยภายใน นำข้อมูลซัพพลายเออร์มาดูจำนวนและความต้องการของ WOBs ในอีกแง่หนึ่งบริษัทไทยมีการสนับสนุนทางอ้อมมาก เห็นได้จากโครงการซีเอสอาร์ของหลายบริษัทสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงอยู่แล้ว หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีกรอบการทำงานอีเอสจีด้านความเสมอภาคทางเพศ
3. MSMEs ที่เปรียบเป็นคนตัวเล็กๆ แม้ไม่มีนโยบายเรื่องความเสมอภาคทางเพศเขียนเอาไว้ แต่หลายบริษัททำงานด้านนี้อยู่แล้ว เช่น ทำงานกับซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้หญิงหรือกลุ่มเปราะบาง
อุปสรรค/ความท้าทายของ MSMEs ในปัจจุบันคือหลายบริษัทยังได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ต้องลดสาขา ลดจำนวนพนักงาน ถ้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมคนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร ทำงานอย่างไร
ส่วนปัญหาของผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยคล้ายกับที่พบในต่างประเทศ เช่น การสร้างเครือข่าย ผู้หญิงไม่ได้สบายใจกับการต้องไปตีกอล์ฟหรือไปสังสรรค์นอกเวลางาน, หลายคนมีแผนขยายกิจการแต่พอเป็นคุณแม่ก็ต้องเบรกไว้ก่อน, สังคมยังเหมารวมเกี่ยวกับผู้ประกอบการหญิงและยังมีการเหยียดเพศ เหยียดอายุถูกมองว่าอายน้อยเกินกว่าจะเป็นผู้บริหาร, การพิจารณาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ออกแบบโดยผู้หญิง ผู้บริหารชายมักไม่เข้าใจถึงความจำเป็นของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ทั้งนี้ MSMEs มองว่า การเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะรัฐมั่นคง แต่กฎหมายและกระบวนการซับซ้อนและยังไม่มีเกณฑ์เรื่องความเสมอภาคทางเพศถือเป็นข้อจำกัดของภาครัฐ งานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้ภาครัฐกำหนดนิยามของ WOBs และ GREs ให้ชัดเจนเพื่อให้ภาคเอกชนไปใช้ต่อไป, เก็บข้อมูล MSMEs หาสัดส่วนผู้ประกอบการหญิง และมียุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อความเสมอภาคทางเพศโดยรวมเพราะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังขึ้นอยู่กับกรมบัญชีกลางเป็นหลัก