เมื่อความจริงปรากฏ Gig Economy เลยเจ๊งไม่เป็นท่า | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
ในช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมาทำให้เกิดอัตราการว่างงานร้อยละ 13.5 จนก่อให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัปขึ้นมากมาย เพื่อตอบโจทย์คนที่เพิ่งตกงานจากการถูกเลย์ออฟครั้งใหญ่ ซึ่งในครั้งนั้นก่อให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัประดับโลกเช่น Uber Airbnb Grab
แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ก่อให้เกิดงานขึ้นมามากมาย ซึ่งงานเหล่านี้ไม่ได้มีสัญญาผูกมัด ไม่ได้มีเวลากำหนดว่าต้องทำกี่โมงถึงกี่โมง และไม่ได้จำกัดรายได้ของคนที่เข้ามาทำงานเหล่านี้ ฟังดูดีมากเลยใช่ไหมครับ
งานเหล่านี้เขาเรียกกันว่า Gig Economy หรืองานที่ไม่ประจำ สามารถเป็นงานพาร์ทไทม์ จะทำหลังเลิกงาน หลังเลิกเรียนก็สามารถทำได้ทุกเวลา ซึ่งก็ทำให้คนจำนวนมากเข้าไปทำงานเหล่านี้ เพราะจะทำเมื่อไหร่ก็ได้
ขอแค่เพียงคุณมีบ้านให้คนเข้าไปอาศัย รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่สามารถรับผู้โดยสารหรือรับอาหาร คุณก็สามารถได้รายได้จากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้แล้ว ฟังดูดีมากเลยใช่ไหมครับ
ในช่วงแรกที่แอพพลิเคชั่นเหล่านี้เข้ามาในเมืองไทย มีกระแสตอบรับเป็นในทิศทางบวกมากกว่าลบ เนื่องจากว่าในช่วงไหนแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้รับเงินจาก Angel Investors และ VC เป็นจำนวนมาก ทำให้มีเม็ดเงินในการทำการตลาดและการจ่ายอินเซนทีฟให้กับคนขับรถหรือคนปล่อยเช่าบ้านเป็นจำนวนเยอะ
มีคนขับรถที่ใช้แอพพลิเคชั่นอย่าง Grab ลาออกจากการทำงานประจำเพื่อมาขับ Grab อย่างเดียวก็มี เนื่องจากรายได้จาก Grab สูงกว่างานประจำเสียอีก
ตัวผมเองก็เคยขับทั้ง Grab และ Uber มาก่อน มีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณปี 2562 ผมใช้เวลาขับแกร็ปเพียงแค่ 3 วันได้เงินมาทั้งหมด 8,000 กว่าบาท ซึ่งเหตุผลที่ผมขับ Grab และได้เงินเยอะขนาดนั้นก็เพราะว่า ถ้าผมขับรถส่งผู้โดยสารครบ 15 เที่ยวภายใน 1 สัปดาห์ผมจะได้โบนัส 5,000 บาท ซึ่งหลังจากวันนั้นถึงวันนี้ ผมยังไม่เจอโปรแกรมอินเซนทีฟที่ดีขนาดนั้นอีกเลย
การเข้ามาของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ ได้สร้างงานให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถหารายได้เพิ่มจากสิ่งที่คุณทำเป็นอยู่แล้ว และก่อให้เกิดแอพพลิเคชั่นคล้ายคลึงขึ้นมามากมายทั้ง Fiverr หรือ Upstart ที่คุณสามารถหางานจากการเป็นฟรีแลนซ์ ตั้งแต่การเขียนบทความ จนไปถึงการทำกราฟฟิค
ตอนปี 2560 มีการรายงานว่าจำนวนคนอเมริกันที่ได้รายได้จาก Gig Economy นั้นสูงถึงร้อยละ 25 ของประชากรเลย
แอพพลิเคชั่นเหล่านี้หลายๆ ตัวได้กลายเป็นแอพพลิเคชั่นระดับโลก จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนเลยอย่าง Uber Airbnb Grab Lyft Fiverr และ Upstart แม้หลายๆ แอพพลิเคชั่นในตอนนั้นยังไม่ได้มีกำไรเลยด้วยซ้ำ
เพราะว่าแอพพลิเคชั่นเหล่านี้นั้นให้ราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดมาก สมมุติถ้าคุณนั่งมอเตอร์ไซค์จากสาทรมาสามย่าน ถ้าคุณนั่งวินมอเตอร์ไซค์ปกติ พวกเขาอาจจะเก็บคุณประมาณ 60 ถึง 70 บาท แต่พอคุณนั่ง Grab เท่านั้นจะเหลือเพียง 44 บาท ดังนั้น ถ้าคุณจ่ายเพียงแค่นี้ยังไงๆ ก็ไม่คุ้มกับทั้งคนขับมอเตอร์ไซค์และแอพพลิเคชั่น
แต่เหตุผลที่แอพพลิเคชั่นเหล่านี้อยู่ได้ก็เพราะว่าเงินของ Angel Investors และ VC ล้วนๆ เงินเหล่านี้ถูกใส่ลงไปในแพลตฟอร์มเพื่อที่ว่าพอจำนวนผู้ใช้งานเยอะมากพอแล้ว แอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะคืนทุนและทุกคนก็จะใช้งานในราคาปกติ คนขับก็จะได้เงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
แต่พอเวลาผ่านไปเงินที่ใช้ในการทำการตลาดและการจ่ายอินเซนทีฟก็เริ่มลดลง คนที่ทำงานเป็นคนขับรถหรือไรเดอร์เริ่มไม่สามารถหาเงินได้จากการเป็นไรเดอร์เพียงแอพเดียว หลายคนเริ่มรับงานจากสองแอพพลิเคชั่นสลับกันไป
ผมเคยเห็นโพสในเฟซบุ๊คที่แชร์กันเป็นไวรัลว่า ต้องเป็นไรเดอร์ในแอพพลิเคชั่นไหนถึงจะหาเงินได้ 1,000 บาทต่อวัน นอกจากนั้นคนเหล่านี้ในทางกฏหมายหรือในทางบัญชีไม่ได้ถือว่าเป็น พนักงานของบริษัท ด้วยซ้ำ แต่ถูกเรียกว่าเป็นสัญญาจ้าง
ดังนั้นแล้วสวัสดิการต่างๆ ที่พนักงานทั่วไปควรได้เช่น การรักษาพยาบาล การทำงานนอกเวลา ประกันสังคม คนขับและไรเดอร์จะไม่ได้ตรงนั้นเลย ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะประหยัดงบที่ต้องจ่ายไรเดอร์และคนขับไปได้ประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนทั้งหมด จึงทำให้เหล่านักลงทุนต่างอยากเข้ามาลงทุนในบริษัทเหล่านี้
แล้วทำไมสุดท้ายแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ถึงไม่สามารถทำกำไรในท้ายที่สุด คงเป็นเพราะว่าโมเดลธุรกิจนี้นั้นคาดหวังไว้ในอนาคตมากกว่าความเป็นจริง แอพพลิเคชั่นเหล่านี้หวังที่จะดิสรัปธุรกิจเดิมเช่นคนขับแท็กซี่หรือร้านอาหารได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วเขาดิสรัปได้แต่ตัวเองก็ไม่ได้กำไร
มีการรายงานว่ามีตัวเลขของคนขับรถแท็กซี่ ที่กรุงนิวยอร์กฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็นจำนวนมากจากการเข้ามาของแอพเหล่านี้
และร้านอาหารหลายๆ ร้าน โดนเก็บค่าคอมมิชชั่นจากการขายสูงถึงร้อยละ 33 เลย แทนที่จะปฏิวัติระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ปล่อยให้มันอยู่ในสภาพที่แย่ลงกว่าที่พวกเขาพบ และนั่นส่งผลต่อพวกเราทุกคน
สุดท้ายนี้ผมขอฝากคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง หลุยส์ ไฮแมน (Louis Hyman) เขากล่าวว่า “เมื่อบริษัทของเราล้มเหลว มันทำให้เราทุกคนเจ็บปวด แต่เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ เราจะไม่ได้รับการชดเชยสำหรับความเสี่ยงของเรา อย่างที่พูดกันบ่อยๆ ว่าบริษัทอเมริกันมักจะสร้างความเสี่ยงทางสังคมและแปรรูปผลตอบแทนเฉพาะบุคคล”
คอลัมน์ คุยให้... “คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
[email protected]