เช็ก 10 ทักษะจำเป็น ปี 2570 เมื่องานกว่า 83 ล้านตำแหน่งจะหายไป
บัญชีจุฬาฯ ร่วมกับ World Economic Forum เผยผลสำรวจอนาคตอาชีพ ปี 2570 มีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง พร้อมเผย 10 ทักษะที่ตลาดงานในไทยและระดับโลกต้องการ
Key Point :
- เมื่อโควิด-19 ส่งผลต่อตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดอาชีพใหม่ๆ และทักษะใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการ ขณะเดียวกัน ก็มีงานบางตำแหน่งที่จะถูกแทนที่ได้อย่างรวดเร็ว
- จากการสำรวจโดย บัญชีจุฬาฯ ร่วมกับ World Economic Forum พบว่า ในปี 2570 จะมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง จากที่มีอยู่ราว 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน
- การสำรวจดังกล่าว ยังรวบรวม 10 ทักษะที่จำเป็นคนทำงาน ไม่ว่าจะในระดับโลก และ ระดับประเทศ เพื่อการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
โควิด-19 ส่งผลต่อตลาดแรงงานไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า เทคโนโลยี และ การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (Green transition) ที่ทุกองค์กรต่างพูดถึง จากการทำเรื่องของ CSR ในอดีต เปลี่ยนผ่านสู่ ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ส่งผลให้ทุกองค์กรต้องเปลี่ยนแปลง เกิดตลาดอาชีพ ตลาดแรงงานใหม่ และงานบางอย่างลดลง
ที่ผ่านมา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ทำการสำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Survey) โดยรวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งรวมการจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่างานประมาณ 23% จะเปลี่ยนแปลงภายในปี 2570 โดยมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง จากงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ใฝ่ ESG
- เช็ก!สุดยอด 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุดในปี 2023
- เปิดผลสำรวจ "องค์กรในฝัน" ที่คนรุ่นใหม่ในไทยอยากทำงานด้วย "google" ยืนหนึ่ง!
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวในงานสัมภาษณ์พิเศษ “บัญชีจุฬาฯ หนึ่งเดียวในไทยร่วมกับ WEF ชี้ทิศทาง Future of Jobs ของโลก” ว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในระดับมหภาค ตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของงานภายใน 5 ปีนี้ (2566-2570) คือ การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (Green transition) มาตรฐาน ESG ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Localization of supply chains) อย่างไรก็ดี ธุรกิจต่างๆ อาจต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการเข้าถึงเทคโนโลยี
10 อันดับ งานเติบโตเร็ว ปี 2566–2570
1. เอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่ง
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
3. นักวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูล
4. ความปลอดภัยทางข้อมูล
5. วิศกรที่เชี่ยวชาญด้านการเงินละเทคโนโลยี
6. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
7. การสร้างหุ่นยนต์
8. วิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์
9. ด้านการเกษตร
10. ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานฟอร์ม
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า อาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคต เป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysts) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต (Big Data Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Machine Learning Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Professionals) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ภายในปี 2570
นอกจากนี้ คาดว่างานทางด้านพาณิชย์ดิจิทัล (Digital Commerce) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation Specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์ (Digital Marketing and Strategy Specialists)
อาชีพไหนที่ถูกทดแทนเร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีและดิจิทัลอาจลดงานในบางบทบาทลง เช่น
- พนักงานธนาคารและตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง
- พนักงานให้บริการไปรษณีย์
- พนักงานเก็บเงินและพนักงานขายตั๋ว
- พนักงานบันทึกข้อมูล
- เลขานุการฝ่ายบริการ
10 ทักษะสำคัญจากทั่วโลก
1. การคิดเชิงวิเคราะห์
2. การคิดเชิงสร้างสรรค์
3. ความยืดหยุ่นและการคล่องตัว
4. การมีแรงจูงใจ
5. การเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีความอยากรู้อยากเห็น
6. ความสามารถด้านเทคโนโลยี
7. ตาไว เห็นรายละเอียด
8. การเอาใจใส่ เป็นผู้ฟังที่ดี
9. ทักษะความเป็นผู้นำ
10. ควบคุมคุณภาพ
ทั้ง 10 ทักษะต้องอาศัย การใช้ใจ ใช้สมอง และใช้มือ ได้แก่ การคิดเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง ความมุ่งมั่น มั่นใจ ในความคิด ความอยากรู้อยากเห็น การทำงานร่วมกับคนอื่น และ เทคโนโลยี
10 อันดับทักษะที่ต้องการในไทย ปี 2023 – 2027
1. ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า
2. การคิดเชิงวิเคราะห์
3. การคิดเชิงสร้างสรรค์
4. ความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม
5. การจัดการความสามารถ
6. ความยืดหยุ่นและความคล่องตัว
7. ความต้องการเรียนรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
8. ความรู้ทางเทคโนโลยี
9. การดูแลสิ่งแวดล้อม
10. แนวทางการให้บริการและการบริการลูกค้า
"ในประเทศไทยที่ติดอันดับ นอกเหนือจากระดับโลก คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับ จริยธรรม ความรับผิดชอบสังคมเป็นเรื่องของจิตสำนึก และ ทักษะการเชื่อมโยงตนเองกับภายนอก ธุรกิจที่เติบโตไม่ใช่เรื่องของสินค้าแต่เป็นเรื่องของบริการ ทำอย่างไรให้คนเกิดความผูกพันและเกิดความรักในแบรนด์"
งานด้านความยั่งยืน การศึกษา เกษตร แนวโน้มรุ่ง
อีกทั้ง สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มขึ้นของงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน การศึกษาและการเกษตร ในช่วงปี 2566–2570 อาชีพที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ในเชิงธุรกิจ คือ ทำแบรนด์ให้ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การรักษ์โลก แต่ทำให้องค์กรเติบโต ไม่ใช่กำไรระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ต้องมองว่าทำอย่างไรให้มองถึงผลกระทบสังคม ประเทศชาติ ความยั่งยืนคือระยะยาว
- งานด้านความยั่งยืน คาดว่าจะเติบโต 33% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 1 ล้านตำแหน่ง
- งานด้านการศึกษา คาดว่าจะเติบโต 10% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง
- งานด้านการเกษตร คาดว่าจะเติบโต 15 – 30% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 4 ล้านตำแหน่ง
มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ แนะว่า ต้องเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลกและประเทศไทย องค์กรต่างๆ ควรกำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะใหม่ โดยให้ความสำคัญและลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลมหัต (Big Data) รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นอกจากนี้ องค์กรต่างๆควรคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถในการทำงานข้ามบทบาท การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และการเพิ่มผลผลิตของพนักงาน
อีกทั้ง สถาบันการศึกษาควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
“บทบาทขอมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การบ่มเบาะความรู้ แต่บ่มเพาะพรสวรรค์ และพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาจิตใจให้เข้าใจโลกและสังคม เป็นคนที่มองรอบด้าน มองทุกอย่างเชื่อมโยงอย่างเข้าใจ หน้าที่มหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไป คือ พัฒนาทักษะควบคู่กับการพัฒนาจิตใจ เพราะ 83 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป ในปี 2570 ดังนั้น อาชีพในอนาคต ต้องเริ่มการปรับปรุง การศึกษาอานาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร บทบาทมหาวิทยาลัยต้องฟูมฟักคนในเรื่องของชีวิตมากขึ้น ซอฟต์สกีลสำคัญมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้าย