ห่วง 66 แรงงานถูกเลิกจ้าง สั่ง กสร.เร่งช่วยเหลือสิทธิตามกฎหมาย
รมว.แรงงาน ห่วงใยลูกจ้างถูกนายจ้างในจังหวัดชลบุรีเลิกจ้าง 66 คน สั่ง กสร. หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการช่วยเหลือตามหน้าที่ กรมสวัสดิฯ-รับคำร้อง (คร.7) ประกันสังคม-จ่ายว่างงาน จัดหางาน-หางานใหม่ และกรมพัฒน์-ฝึกทักษะอาชีพ พร้อมชี้แจงสิทธิตามกฎหมายครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าว ลูกจ้างเกือบร้อยชีวิตถูกเลิกจ้างไม่รู้ตัว โรงงานปิดโดยไม่บอกล่วงหน้า พร้อมค้างค่าจ้าง 7 เดือน ว่า ผมขอส่งความห่วงใยไปยังลูกจ้างกลุ่มนี้ และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เบื้องต้นได้รับรายงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ว่า พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบกลุ่มลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งประกอบกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็ก สำนักงานใหญ่อยู่แถวบรรทัดทอง กรุงเทพฯ มีสาขาอยู่อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 66 คน พนักงานตรวจแรงงาน สสค.ชลบุรี ได้ดำเนินการรับคำร้อง (คร.7) ลูกจ้าง จำนวน 64 คน กรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ย และลูกจ้าง จำนวน 2 คน กรณีนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุได้รับค่าชดเชยไม่ครบถ้วน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,702,921.67 บาท
ทั้งนี้ ได้สั่งให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันชี้แจงสิทธิ หน้าที่ สิทธิตามกฎหมายแก่ลูกจ้างตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง การใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่างรองรับ การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ และการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้มีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นี้ และให้เร่งดำเนินการมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ผมขอย้ำไปยังนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากับทั้งสองฝ่าย หากนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด