การทำงานแบบ Work from home ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ | ชญานี ศรีกระจ่าง
ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาด ของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตการณ์ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงการทำงาน
ภาคแรงงานนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากการทำงานในสถานประกอบการไปเป็นการทำงานที่บ้าน หรือที่มักเรียกกันว่าการทำงานแบบ work from home
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่บังคับใช้อยู่เดิมนั้น ไม่ครอบคลุมถึงการทำงานแบบ work from home ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 เพื่อรองรับการทำงานรูปแบบดังกล่าว
โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง รวมถึงยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาจราจรและลดการใช้พลังงานอีกด้วย
กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 มีสาระดังนี้ คือ
1. มาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันให้ลูกจ้างสามารถทำงานนอกสถานประกอบกิจการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้ โดยลูกจ้างสามารถนำงานดังกล่าวไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้
เห็นได้ว่า เจตนารมณ์หลักของมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง คือ ต้องการเพิ่มทางเลือกและความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับลูกจ้างและนายจ้าง
ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 และมีการกำหนดให้การตกลงทำงานแบบ work from home ต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
กล่าวคือ นายจ้างไม่สามารถบังคับให้ลูกจ้างต้องทำงานที่บ้านได้ นอกจากนี้ มาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง ยังส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานอีกด้วย
2. มาตรา 23/1 วรรคสอง กำหนดให้การตกลงทำงานแบบ work from home ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ต้องทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง
โดยอาจตกลงให้มีรายละเอียดดังนี้ คือ
(1) ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง
(2) วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา
(3) หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่าง ๆ
(4) ขอบเขตหน้าที่การทำงานของลูกจ้างและการควบคุมหรือกำกับการทำงานของนายจ้าง
(5) ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นอันเนื่องจากการทำงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดิมบัญญัติอยู่บนพื้นฐานที่ลูกจ้างทำงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงกรณีลูกจ้างทำงานแบบ work from home จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับการจ้างงาน
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายใหม่จึงบัญญัติให้นายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันในประเด็นต่าง ๆ เช่น ช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงานแบบ work from home วันหยุด วันลา
รวมถึงหน้าที่ในการจัดหาอุปกรณ์การทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นายจ้างควรต้องคำนึงถึงและควรกำหนดหน้าที่ในการรับภาระค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน
3. มาตรา 23/1 วรรคสาม ให้สิทธิลูกจ้างในการปฏิเสธการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใด ๆ กับนายจ้าง รวมถึงหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน
เดิมทีนายจ้างมักสั่งงานลูกจ้างผ่านทางโทรศัพท์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกเวลาทำงานปกติ เช่น ทางอีเมล์ ทางไลน์ โดยไม่มีกฎหมายให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อดังกล่าว
ทำให้ลูกจ้างต้องทำงานมากกว่าปกติ และไม่สามารถแบ่งแยกเวลาทำงานออกจากการใช้ชีวิตส่วนตัวได้ ด้วยเหตุนี้ มาตรา 23/1 วรรคสาม จึงได้บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างในการปฏิเสธการติดต่อสื่อสารจากนายจ้างนอกเวลางาน
ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างความสมดุลในการทำงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้างที่ทำงานแบบ work from home
การให้สิทธิลูกจ้างในการปฏิเสธการติดต่อสื่อสารจากงาน (Right to disconnect) ข้างต้น ถูกบัญญัติในกฎหมายของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม European Union (EU)
เช่น เบลเยี่ยมกำหนดให้พนักงานภาครัฐสามารถตัดขาดจากการติดต่อสื่อสารเรื่องงานได้เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานแล้ว โดยที่พนักงานคนนั้นจะไม่ถูกลงโทษใด ๆ เว้นแต่กรณีมีเหตุการณ์พิเศษที่ไม่อาจคาดเดาได้
ส่วนฝรั่งเศสกำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับเวลาทำงานของลูกจ้างให้ชัดเจน และหากไม่ได้ตกลงกันไว้ กฎหมายให้สิทธิลูกจ้างที่จะตัดการติดต่อจากนายจ้างนอกเวลางานได้
4. มาตรา 23/1 วรรคสี่ บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง
นายจ้างบางรายอาจปรับลดสิทธิหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของลูกจ้างที่ทำงานแบบ work from home เนื่องจากเห็นว่าลูกจ้างได้รับประโยชน์จากการ work from home ไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างโดยบัญญัติให้ชัดเจนในมาตรา 23/1 วรรคสี่ ว่าลูกจ้างที่ทำงานแบบ work from home ต้องได้รับสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ
โดยสรุป กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานแบบ work from home ให้มีความชัดเจน
ทำให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี ขณะเดียวกันนายจ้างก็ได้รับประโยชน์ในแง่การลดต้นทุนและลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจลง.