เวที THAILAND Future Careers ชี้ชัดแรงงานดิจิทัลขาดแคลนสุด
กระทรวง อว. เปิดเวที THAILAND Future Careers ถก กกร. เตรียมสร้างคนสู่อาชีพแห่งอนาคต ชี้ด้าน ดิจิทัล-ไซเบอร์ซีเคียวริตี้-เซมิคอนดักเตอร์ ขาดแคลนสุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
จัดงาน THAILAND Future Careers เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ พัฒนาตลาดแรงงานของประเทศในทุกมิติ ทั้งการสำรวจและศึกษาความต้องการของภาคธุรกิจ
รวมทั้งเพื่อให้สถาบันการศึกษานำไปพัฒนาหลักสูตรผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ตอบโจทย์โลกและสร้างทักษะแห่งอนาคต
ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของประเทศ และถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. เป็นประธาน พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "จะปรับการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไร" ว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระทรวง อว. จะต้องมีแผนและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ
โดยมุ่งพัฒนาบัณฑิตที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชนให้มากขึ้น ยกตัวอย่าง การจัดทำ Skill Mapping โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นผู้ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.เกษตรสมัยใหม่ 2.Smart SMEs และ 3. การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษานำไปปรับใช้ เพราะหมุดหมายของเยาวชนในทุกวันนี้ การจบปริญญาตรีไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของชีวิตแล้ว แต่เป็นการเรียนพร้อมฝึกทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพได้ทันที
ขณะเดียวกัน กระทรวง อว.ก็ทำโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ 9 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ
อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ขณะที่นักศึกษาที่เรียนก็ต้องไปฝึกและพัฒนาทักษะกับภาคเอกชน คิดเป็นร้อยละ 50 ของการเรียน นอกจากนี้ยังมีการผลิตกำลังคนที่ขาดแคลนเร่งด่วน
เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ให้ได้ 65,000 คนภายใน 10 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ให้ได้ 1,200 คนภายใน 7 ปี เป็นต้น
นี่คือรูปธรรมที่กระทรวง อว. พร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ และเราพยายามฝ่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงไปให้ราบรื่นที่สุด
ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เรื่องของคนคือเรื่องของ กกร. วันนี้โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ชีวิตของผู้คนเปลี่ยน แต่ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม คนก็ยังคือศูนย์กลางและอนาคตที่ กกร. จะร่วมกับกระทรวง อว. ทำหน้าที่สร้างคนต่อไป
เพราะการสร้างคนไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของภาครัฐ แต่เป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องลงมือทำร่วมกัน วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของวิกฤตเรื่องคน เราขาดแคลนคนในหลายด้าน แต่ กกร.จะยืนเคียงข้างรัฐบาลและกระทรวง อว. ตลอดไป
จากนี้ไปการสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่ได้ต้องการคนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคนดีด้วย เพื่อประเทศชาติของเรา
ขณะที่ ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังคนที่ขาดแคลนมากที่สุด คือ ด้านดิจิทัล ซึ่งมีหลายสาขา ตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานทั่วไปจนถึงระดับ 4
ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) การใช้ดิจิทัล (Digital Skill/ICT Skill) การแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือดิจิทัล (Problem Solving with Digital Tools) และการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล (Adaptive Digital Transform)
ปัจจุบันในตลาดแรงงานมีความต้องถึง 5-6 แสนคน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียง 2-3 หมื่นคนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขาดแคลนกำลังคนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้และด้านเซมิคอนดักเตอร์
ขณะนี้กระทรวง อว. กำลังเร่งปฏิรูปและทลายข้อจำกัดและอุปสรรคของการพัฒนาอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ.