ค่าแรงต่ำ-วัฒนธรรมองค์กรเก่า อุปสรรคใหญ่ตลาดแรงงาน ‘ญี่ปุ่น’

ค่าแรงต่ำ-วัฒนธรรมองค์กรเก่า  อุปสรรคใหญ่ตลาดแรงงาน ‘ญี่ปุ่น’

ขณะนี้จำนวนประชากรญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลกลดลง ทำให้ต้องพิจารณารับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานประเทศอย่างจริงจัง แต่ญี่ปุ่นยังมีอุปสรรคมากมายที่ยังไม่สามารถดึงดูดแรงงานได้มากพอ

ขณะนี้จำนวนประชากรญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลกลดลง ทำให้ต้องพิจารณารับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานประเทศอย่างจริงจัง ทั้งด้านการผลิตและบริการ ไปจนถึงแรงงานที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอุบัติใหม่

ข้อมูลคาดการณ์ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. จากสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติ เผยว่า ประชากรญี่ปุ่นประมาณ 124 ล้านคนในตอนนี้ อาจจะลดลง 30% ภายในปี 2613 หรืออีก 47 ปีข้างหน้า

ข้อมูลรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน มิ.ย. แสดงให้เห็นว่า อัตราการเจริญพันธุ์ หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงหนึ่งคนร่วงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.26 ในปี 2565 และจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรก

ญี่ปุ่นจึงออกมาตรการหลายอย่างเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ออกวีซ่าใหม่ ๆ และปรับปรุงโครงการฝึกหัดด้านเทคนิคเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติเพิ่ม แต่ยังมีปัยจัยหลายอย่าง ที่เป็นความท้าทายต่อความพยายามดึงดูดแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น

แม้ญี่ปุ่นมีโครงการฝึกหัดด้านเทคนิค เป็นหนึ่งในโครงการดึงดูดแรงงานต่างชาติ เข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมเฉพาะ และแรงงานสามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้มากกว่า 5 ปี แต่โครงการดังกล่าว มีความเหลื่อมล้ำอยู่

ผู้บริหารรายหนึ่งที่สนับสนุนแรงงานฝึกหัดบอกว่า “มีแรงงานฝึกหัดเพียง 10% เท่านั้น ที่ทำงานเดิมต่อไปหลังเดินทางกลับบ้าน เพราะจุดมุ่งหมายหลักของแรงงานฝึกหัดคือการหาเงิน ซึ่งเป้าหมายโครงการเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นแค่เหตุผลของการทำโครงการฝึกหัดแรงงานเท่านั้น”

 

ค่าแรงต่ำ-วัฒนธรรมองค์กรเก่า  อุปสรรคใหญ่ตลาดแรงงาน ‘ญี่ปุ่น’

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังตกเป็นเป้าของความขัดแย้ง เนื่องจากมีหลายกรณีที่รายงานว่า นายจ้างข่มเหงลูกจ้างและไม่จ่ายค่าแรงให้แรงงานฝึกหัด ขณะที่แรงงานฝึกหัดอีกหลายพันคนหายไปจากที่ทำงานทุก ๆ ปี

ในปี 2564 แรงงานฝึกหัด 7,100 คน ต้องออกจากบริษัทโดยไม่แจ้งให้ทราบ เห็นได้ชัดว่าแรงงานออกไปหางานที่ให้ค่าจ้างดีกว่าแบบผิดกฎหมาย และเงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ เช่น ช่างฝีมือไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนงาน เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แรงงานอยากลาออก

ทั้งนี้ เมื่อปี 2565 ญี่ปุ่นมีแรงงานต่างชาติมากกว่า 1.82 ล้านคน และมีแรงงานฝึกหัดทางด้านเทคนิคประมาณ 343,000 คน มากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา 2  เท่า

ท่ามกลางการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอตัว ประกอบกับเงินเยนอ่อนค่า และวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า ๆ ทำให้ญี่ปุ่นดึงดูดแรงงานทักษะสูงได้ยากลำบากเช่นกัน

“เคสึเกะ โยชิดะ” จากทรานส์เซน-เลิร์นนิง องค์กรช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นที่คอยหานักศึกษาต่างชาติที่สนใจทำงานในญี่ปุ่น บอกว่า “ยิ่งนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยอันดับท็อป ๆ ยิ่งอยากไปทำงานในญี่ปุ่นน้อยลง” เพราะนักศึกษาทราบว่า ญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการมีผู้จัดการที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของแรงงาน ยิ่งไม่ช่วยให้คนอยากเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น

“ฮิซาชิ ยามาดะ” นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยญี่ปุ่น บอกว่า ประเทศพัฒนาแล้วต่างแข่งขันเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถด้านไอที แต่ญี่ปุ่นยังตามหลังประเทศเหล่านั้นอยู่ เพราะให้ค่าจ้างต่ำกว่า

ข้อมูลองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า ค่าแรงเฉลี่ยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในระหว่างปี 2544 ถึงปี 2564 ยังคงต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 40% และค่าจ้างในสหรัฐเพิ่มขึ้น 29% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ค่าแรงต่ำ-วัฒนธรรมองค์กรเก่า  อุปสรรคใหญ่ตลาดแรงงาน ‘ญี่ปุ่น’

ข้อมูลจากเลเวลส์ดอทเอฟวายไอ เว็บไซต์เปรียบเทียบเงินเดือนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เผยว่า เงินเดือนตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ในญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน เฉลี่ยต่ำกว่าสิงคโปร์ 23% และต่ำกว่าวิศวกรซอฟต์แวร์ในกรุงโซล 17%

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเวียดนามที่ค่าจ้างเฉลี่ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นญี่ปุ่นอาจกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจน้อยลงสำหรับแรงงานทักษะต่ำเช่นกัน

“คาโอริ อากิยามะ” กรรมการผู้จัดการอาวุโสจากสมาคมแลกเปลี่ยนเยาวชนญี่ปุ่น-เอเชีย องค์กรที่ดูแลการฝึกงานด้านเทคนิค เตือนว่า “ถ้าค่าจ้างในญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับเดิมเหมือน 2 หรือ 3 ปีก่อน อาจรักษาแรงงานคุณภาพดีไว้ได้ยาก เรากำลังบอกกับบริษัทญี่ปุ่นว่า ถ้าอยากได้แรงงานดี ๆ คุณต้องขึ้นค่าจ้างมากกว่านี้”

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งยังลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรอยู่

โยชิดะ จากทรานส์เซน-เลิร์นนิง เล่าว่า เมื่อได้พูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติ เด็ก ๆ บอกว่า รู้สึกตัวสั่น เมื่อเห็นว่าผลสอบภาษาญี่ปุ่นที่ระดับ N1 เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการสมัครงานในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ผลสอบภาษาญี่ปุ่นระดับ N1 คือระดับสูงสุดของการสอบวัดความสามารถภาษาญี่ปุ่น “เมื่อเห็นข้อกำหนดดังกล่าว แรงงานจึงรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมกับการทำงานในญี่ปุ่น และยอมแพ้ในที่สุด” โยชิดะ ย้ำ

ยามาดะ จากสถาบันวิจัยญี่ปุ่นบอกว่า ปริมาณโรงเรียนนานาชาติและแพทย์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ในกรุงโตเกียว ยังคงตามหลังเมืองสำคัญ ๆ ในเอเชียอยู่หลายแห่ง เช่น กรุงโซลและสิงคโปร์

“ปัญหาคือ ญี่ปุ่นยังขาดประสบการณ์การทำงานกับชาวต่างชาติ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ญี่ปุ่นต้องมีการแลกเปลี่ยนผู้คนมากกว่านี้ ผ่านการท่องเที่ยว หรือสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในญี่ปุ่นมากขึ้น” ยามาดะ เตือน