แรงงานโดนแน่! ‘กองทุนประกันสังคม’เสี่ยงล้มละลายใน30ปี 'หักเงินสมทบเพิ่ม'

แรงงานโดนแน่! ‘กองทุนประกันสังคม’เสี่ยงล้มละลายใน30ปี 'หักเงินสมทบเพิ่ม'

‘กองทุนประกันสังคม’ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงในชีวิตของลูกจ้างและแรงงานไทย ความเพียงพอของเงินกองทุนฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะเดิมพันด้วยความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ

Keypoint:

  • กองทุนประกันสังคม สวัสดิการในรูปแบบสมทบจ่าย ลูกจ้าง แรงงาน นายจ้าง และภาครัฐร่วมกันจ่ายเงินสมทบ ทว่าในส่วนของภาครัฐได้ค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท
  • นักวิชาการ ระบุปัญหากองทุนประกันสังคมมีมานาน เชื่ออีก 30 ปี ขาดสภาพคล่อง เสี่ยงล้มละลาย 
  • ทางออกในการแก้ปัญหา ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ย เพิ่มอายุผู้มีสิทธิเงินบำนาญชราภาพเป็น60ปี ศึกษาการเพิ่มอัตราเงินสมทบ และลดการแทรกแซงจากภาครัฐ นโยบายนักการเมือง

ทว่าจากการศึกษาของนักวิชาการหลายภาคส่วนเกี่ยวกับสถานะกองทุนประกันสังคม กลับพบว่า กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง และล้มละลายในอีก 30 ปี ข้างหน้า ด้วยเหตุโครงสร้างประชากร

สัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน รวมถึงรัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท และนายจ้างหักเงินลูกจ้างแต่ไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน

ปัญหาการเงินของกองทุนประกันสังคม ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา( ที่มี นายณรงค์ รัตนากุล เป็นประธาน ) ประชุมพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ปี 2564 ในหมวดสินทรัพย์หมุนเวียนโดยเฉพาะเงินสมทบค้างรับ กรณีหลายงวดที่ลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม เช็กที่นี่อัปเดตโอนเงิน

แรงงานจ่อ 'รีด' เพิ่มหลังยอดประกันสังคมวูบ

อาชีพอิสระต้องรู้ สมัคร ม.40 ผู้ประกันตนได้ประโยชน์อย่างไร

 

1. เร่งรัดหนี้ค้างกองทุนประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ให้ความสำคัญในกระบวนการติดตามเร่งรัดหนี้เงินสมทบค้างชำระกองทุน โดยมีแนวด้านต่าง ๆ โดยมีนโยบายจัดทำคู่มือปฎิบัติงานติดตามเร่งรัดหนี้เงินสดสมทบค้างชำระกองทุน จัดอบรมเจ้าหน้าที่ติดตามเร่งรัดหนี้จากทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างการทบทวนเกณฑ์การรับรู้รายได้ของสำนักงานเพื่อให้เป็นไปตามหลักการและนโยบายการบัญชีภาครัฐ

ส่วนกรณีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นในปี 2564 นั้นเนื่องจากการจ่ายเงินดังกล่าวตามมาตรา 33 และ 34 ผู้ประกันตนที่เป็นคนไทยที่มีสัดส่วนมากกว่าผู้ประกันตนที่เป็นแรงานต่างด้าว เพราะมีการปรับอัตราการจ่ายประโยชน์ตอบแทนจาก 600 บาท เป็น 800 บาท ซึ่งกระทรวงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา

แรงงานโดนแน่! ‘กองทุนประกันสังคม’เสี่ยงล้มละลายใน30ปี \'หักเงินสมทบเพิ่ม\'

คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม วุฒิสภา พิจารณาแล้วเห็นว่าการติดตามเร่งรัดหนี้เงินสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคม ควรจ้างตัวแทนหรือบริษัทเอกชนในการติดตามเร่งรัดหนี้ เพื่อให้การติดตามหนี้เงินสมทบค้างชำระกองทุนมีประสิทธิภาพและเพิ่มมากขึ้น หากไม่รีบดำเนินการอาจจะทำให้มีหนี้เงินสมทบค้างชำระกองทุนเพิ่มมากขึ้นทุกปี หรือสำนักงานประกันสังคมอาจจะทำโปรโมชั่นสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมาชำระเงินสมทบค้างชำระกองทุน เช่น ให้ส่วนลดตามสัดส่วนที่ชำระสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

 

2. ความอยู่รอดของกองทุนประกันสังคม

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงในระยะยาวของกองทุนประกันสังคม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทางคณะกรรมการกองทุนรับทราบเป็นอย่างดี และที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นการแก้ที่ต้นตอของปัญหา

“จากที่เคยเป็นคณะอนุกรรมการกำหนดอัตราบำเหน็จบำนาญ ทำให้ได้เห็นถึงวิธีคิดและวิธีทำงานที่มุ่งแก้ปัญหา โดยเน้นไปที่การลงทุนหาผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ทั้งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้คำนวณว่า แม้กองทุนประกันสังคมจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้กองทุนติดลบในอนาคต เกิดจากโครงสร้างประชากรที่คนอายุยืนยาวมากขึ้น ทางกองทุนจึงต้องจ่ายเงินบำนาญให้กับแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนต่างมากกว่าอัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน”ดร.วรวรรณ กล่าว

ดร.วรวรรณ กล่าวต่อว่า ตามกฎหมายกำหนดให้กองทุนประกันสังคม สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และหุ้นกู้เอกชน 60% และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หน่วยทุน และหุ้นสามัญ 40% เพื่อให้กองทุนมีความปลอดภัย เมื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ไม่มาก ผลตอบแทนที่ได้รับจึงไม่สูงมากนัก ต่อให้มีนักลงทุนที่เก่งและเชี่ยวชาญจำนวนมาก แต่ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้ถึง 10% อย่างแน่นอน 

"สมมติฐานของทีดีอาร์ไอ พบว่าหากคณะกรรมการยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในอีก 25 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นเงินในกองทุนลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นอีก 5 ปี กองทุนก็จะติดลบและ ล้มลงในที่สุด เชื่อว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง ซึ่งหลังฝ่ายการเมืองเห็นว่าเงินในกองทุนประกันสังคมลดลงอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะมีการปล่อยสำนักงานประกันสังคมออกเป็นอิสระ”ดร.วรวรรณ กล่าว

แรงงานโดนแน่! ‘กองทุนประกันสังคม’เสี่ยงล้มละลายใน30ปี \'หักเงินสมทบเพิ่ม\'

3. ทางแก้กองทุนขาดสภาพคล่อง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ. กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมได้นั้น ต้องดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ นั่นคือ

1.ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณจ่ายเงินสมทบ เพราะเพดานค่าจ้างเฉลี่ย 15,000 บาท ซึ่งใช้มามากกว่า 30 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ ผู้ประกันตน 37.5 % มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าเพดานค่าจ้างปัจจุบัน ขอเสนอให้ปรับเพดานค่าจ้างเป็น 17,500-20,000 และให้ปรับเพิ่มทุกปีตามการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ย

ทั้งนี้การทำปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยจะทำให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มประมาณ 5-6 % โดยที่ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ยไม่ต้องรับภาระจ่ายสมทบเพิ่ม ส่วนผู้ประกันตนมีค่าจ้างสูงกว่าเพดานค่าจ้างเฉลี่ยใหม่ต้องจ่ายสมทบเพิ่มเพียงเล็กน้อย ดังนั้น การกำหนดเพดานค่าจ้างเฉลี่ยให้เหมาะสมจะทำให้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์และเงินสมทบให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินและก่อให้เกิดความมั่นคงต่อกองทุนประกันสังคมด้วย

2. การเพิ่มอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3.ควรศึกษาถึงความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราจ่ายเงินสมทบทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลเพื่อให้รายรับเพียงพอต่อ รายจ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มสูงขึ้น

4.ควรลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ รวมทั้งควรศึกษาเพื่อแปรสภาพสปส.ให้เป็นองค์กรอิสระของรัฐ

แรงงานโดนแน่! ‘กองทุนประกันสังคม’เสี่ยงล้มละลายใน30ปี \'หักเงินสมทบเพิ่ม\'

4. กองทุนพูดความจริง 'ปรับขึ้นเพดานเงินสมทบ'

'ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ...' คาดว่าจะมีผลบังคับใช้และจะปรับขึ้นเพดานเงินสมทบ และอาจจะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 จากการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นสูงสุด 23,000 บาท ภายในปี 2573 จะทำให้เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท

ปี 2567-2569 เพดานเงินเดือน 17,500 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 875 บาท

ปี 2570-2572 เพดานเงินเดือน 20,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท

ปี 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินเดือน 23,000 บาท จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท

ขณะที่สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เช่น เงินบำนาญชราภาพ จะได้ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน หากส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้บำนาญ 20 % ของค่าจ้าง และมากกว่า 15 ปี จะเพิ่มอีก 1.5 % จากการส่งเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน

ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  กล่าวว่าการปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ควรแจ้งไปยังผู้ประกันตนก่อนจะที่ปรับขึ้น การจะปรับขึ้นเงินสมทบต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก จะอยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับเพิ่ม จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? อีกส่วนคือ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแรงงานและมนุษย์เงินเดือนหรือไม่? เพราะความสามารถในการจ่ายเพิ่มของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“หากต้นทุนกองทุนฯ เพิ่ม จะต้องปรับขึ้นเงินสมทบ ก็ต้องปรับเพิ่มในเรื่องสิทธิประโยชน์ เหมือนประกันชีวิตเมื่อต้นทุนเพิ่ม ก็ต้องเก็บเบี้ยเพิ่ม การจะปรับเพิ่มเงินสมทบ คิดว่าไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะทำกันเพียงแค่การเปิดรับฟังความคิดเห็น ควรต้องออกมาพูด ออกมาอธิบายให้ชัดเจน ”ผศ.ดร.สันติ กล่าว