สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หารือขยาย 'มะเร็งรักษาทุกที่' ครอบคลุมประกันสังคม
สถาบันมะเร็งแห่งชาติรับผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ ‘มะเร็งรักษาทุกที่’ 3-4 แสนคน ระบุรักษาได้รวดเร็วขึ้น แต่จำกัดแค่สิทธิ ‘บัตรทอง’ เล็งขยายครอบคลุมสิทธิรักษาอื่นๆ ประกันสังคม-ข้าราชการ
Keypoints :
- ข้อมูลปี 2565 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน มะเร็ง 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
- สถาบันมะเร็งเห็นชาติเตรียมเสนอขยาย โครงการมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ cancer anywhere จากที่ครอบคลุมเฉพาะสิทธิบัตรทอง ให้ไปสู่สิทธิประกันสังคม ข้าราชการ
- แนวทางการใช้สิทธิมะเร็งรักษาทุกที่ cancer anywhere และประสบการณ์ตรงจากการใช้บริการของญาติผู้ป่วย
สถานการณ์มะเร็งในไทย
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุถึงสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย( พ.ศ.2565)
- ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน
- มะเร็ง 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน ชายไทย
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี 33.2 %
- มะเร็งปอด 22.8 %
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 18.7 %
- มะเร็งต่อมลูกหมาก 6.6 %
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 6.6 %
- มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน หญิงไทย
1. มะเร็งเต้านม 34.2%
2.มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 13.3%
3.มะเร็งตับและท่อน้ำดี 12.2%
4.มะเร็งปอด 11.5%
5.มะเร็งปากมดลูก 11.1%
ขยายมะเร็งรักษาทุกที่สิทธิประกันสังคม
พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการ "มะเร็งรักษาทุกที่" หรือ cancer anywhere เริ่มต้นให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงปัจจุบันมีคนไข้เข้ามาในโครงการประมาณ 3-4 แสนคน โดยหลายๆคนบ่งบอกว่า รักษาได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมา เพื่อเอาใบส่งตัว
แต่ปัจจุบันโครงการนี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆควรเข้าถึงโครงการนี้ ซึ่งเบื้องต้นมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่จะขยายให้ครอบคลุมผู้ป่วยสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม และในสัปดาห์หน้าจะมีการหารืออีกครั้ง
“ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายของบัตรทองในโครงการนี้ ไม่มีปัญหา เบิกจ่ายรวดเร็ว และหากมีการขยายสิทธิมะเร็งรักษาทุกที่ ให้ครอบคลุมผู้ป่วยในสิทธิอื่นยัง สถาบันมะเร็งมีศักยภาพรองรับ เนื่องจากปัจจุบันก็มีการเชื่อมกับโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลอื่นๆ ในการส่งต่อมารักษาอยู่แล้ว เน้นการทำงานบูรณาการร่วมกัน”พญ.นภากล่าว
สำหรับความพร้อมหรือภาระงานที่อาจจะเพิ่มขึ้นของบุคลากรนั้น พญ.นภา กล่าว่า มารับตำแหน่งผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้าไปสัมผัสพูดคุยกับบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล วิชาชีพต่างๆ รวมถึงสายสนับสนุน ซึ่งคนทำงานในสถาบันมะเร็งฯ พร้อมและเข้าใจ ที่สำคัญรู้สึกถึงความทุกข์ของคนไข้ ของญาติ เพราะกลุ่มนี้เมื่อรู้ว่าป่วยมะเร็ง เขาต้องมารอหมออีกนานหรือถึงจะได้รักษา ดังนั้น โครงการนี้จึงช่วยบรรเทาความทุกข์ พวกเราเข้าใจ และในองค์กรก็มีการสื่อสารกันหมด มีปัญหาก็คุยกันเพื่อหาทางออก
สิทธิมะเร็งรักษาทุกที่
นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ Cancer Anywhere เป็น 1 ใน 4 นโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ เริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และความรวดเร็วให้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ได้รับบริการการรักษาครอบคลุมทุกวิธีการรักษา เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลการรักษา 20 ชนิด (Protocol) และการรักษามะเร็งทั่วไป (General) ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้
โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น "มะเร็ง" จะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการ ผ่าน ช่องทาง สายด่วน สปสช. 1330, แอปพลิเคชัน สปสช. หรือติดต่อหน่วยบริการที่มีความพร้อมให้บริการรักษาด้วยคิวรอคอยที่สั้นได้โดยตรง และไม่ต้องใช้ใบส่งตัวยืนยันสิทธิ อีกทั้งยังมีบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)
ขั้นตอนการรับบริการมะเร็งรักษาทุกที่
รายชื่อหน่วยบริการรังสีรักษา เคมีบำบัด
ประสบการณ์ใช้สิทธิมะเร็งรักษาทุกที่
ญาติผู้ป่วยที่ใช้สิทธิมะเร็งรักษาทุกที่ กล่าวว่า คุณพ่อเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ วินิจฉัยพบโรคที่ รพ.ตามสิทธิการรักษาในระบบบัตรทอง เมื่อถึงกระบวนการรักษาทาง รพ. ตามสิทธิแจ้งว่าจะต้องย้ายการรักษาไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เนื่องจากเกินศักยภาพของ รพ. จึงได้ทำเรื่องเข้าระบบมะเร็งรักษาทุกที่ Cancer Anywhere โดยครั้งแรกของการลงทะเบียนต้องใช้เอกสารส่งตัว สามารถลงทะเบียนได้ที่ รพ. ต้นสังกัดที่ส่งตัว หรือที่สถาบันมะเร็งฯ
หลังจากลงทะเบียนแล้ว จะมีคิวอาร์โค้ดยืนยันตัวตนในแอพพลิเคชั่น Cancer Anywhere ส่วนการไปสถาบันมะเร็งฯ ครั้งหลัง จะใช้แค่บัตรประชาชนหรือ แอพพลิเคชั่น Cancer Anywhere ไม่ต้องใช้เอกสารอื่นๆ จึงเป็นข้อดีที่ใช้เอกสารน้อย ขณะที่ การลงทะเบียนเข้าระบบ สะดวก รวดเร็ว ออนไลน์ในแอปพลิเคชั่นทันที การรับส่งต่อที่สถาบันมะเร็งฯ ไม่มีปัญหาใดๆ
“รพ.ต้นสังกัดแจ้งว่าผู้ป่วยควรจะต้องผ่าตัดภายใน 1 เดือน ซึ่งศักยภาพรพ.ไม่สามารถ รองรับจึงส่งต่อมายังสถาบันมะเร็งฯช่วยดูแล หลังจากประสานงานใช้เวลาภายใน 1 สัปดาห์ได้พบแพทย์ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ”ญาติผู้ป่วยรายนี้กล่าว