ความในใจ! นายจ้างสงสัยทำไม ‘Gen Z’ ชอบ สร้างเรื่อง ‘น่าปวดหัว’
บางคนมองว่าพนักงานรุ่นใหม่ชาว “Gen Z” ชอบทำตัวเรื่องเยอะจนนายจ้างกุมขมับ! ทั้งไม่มีความสุขกับการทำงาน, ลาออกบ่อย, เรียกร้องสิทธิมากไป ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้จริงเท็จแค่ไหน ? แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ? เพื่อให้ทุกช่วงวัยทำงานร่วมกันได้ราบรื่น
Key Points:
- “Gen Z” เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องความรู้ความสามารถ และการพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันโลกอนาคต
- ปัญหาสำคัญที่หลายองค์กรกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ก็คือ คนทำงานรุ่นใหม่มักไม่พอใจกับการทำงานและพากันลาออก สร้างความไม่มั่นคงให้กับองค์กร และถูกมองว่าเป็นกลุ่มพนักงานที่ชอบทำตัวเรื่องเยอะ!
- การแก้ปัญหาเบื้องต้นกรณีแห่ลาออกของชาว Gen Z อาจต้องเริ่มต้นจากการสื่อสารกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมา และพยายามทำความเข้าใจช่องว่างระหว่างวัย
เคยสังเกตกันไหมว่าบรรดาพนักงานออฟฟิศที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือ เด็ก Gen Z ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อยู่เสมอ กลับเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหากับ “นายจ้าง” ค่อนข้างมาก และยังตัดสินใจ “ลาออก” ได้ง่ายหากพวกเขารู้สึกว่าไม่มีความสุขกับการทำงานและเจอองค์กรใหม่ที่เขาเชื่อว่าจะมีความสบายใจกับการทำงานมากกว่า
สำหรับชาว “Gen Z” หรือ “Generation Z” เป็นคนที่เกิดช่วงปลายศตวรรษ 1990 (ระหว่างปี 1997-2012) มีชื่อเล่นว่า “Zoomers” ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เพราะพวกเขาคือกลุ่มแรงงานที่จะมาทดแทนคนรุ่นเก่าทั้งในแง่การทำงานและการพัฒนาประเทศ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ กลับมีรายงานผลสำรวจของ Yahoo Finance พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลายเป็นคนที่ไม่มีความสุขกับการทำงานมากกว่าพนักงานรุ่นอื่นๆ และบางคนยังสร้างเรื่องน่าปวดหัวให้กับนายจ้างอีกด้วย ทำให้บางครั้งพวกเขาถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ “หนักไม่เอา เบาไม่สู้” เนื่องจากเปลี่ยนงานบ่อยและเรียกร้องความยืดหยุ่นในการทำงาน
- เพราะอะไร? คนรุ่นใหม่ “Gen Z” จึงไม่มีความสุขกับการทำงาน
ในบรรดาคนวัยทำงานทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z พบว่า พนักงาน “Gen Z” เป็นกลุ่มที่ไม่มีความสุขจากการทำงานมากที่สุด เพราะรู้สึกว่าไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนตัว หรือไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบหลังเลิกงาน เนื่องจากทำงานมากเกินไป รวมถึงรู้สึกว่าการทำงานในแต่ละวันเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดและหนักใจ ทำให้วัยทำงานรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะมองหางานใหม่ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ตนเองมากขึ้นและพร้อมที่จะ “ลาออก” จากงานปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
อีกทั้งมีจากผลสำรวจของ Bankrate ก็สะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า ชาว “Gen Z” มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานมากกว่าคนรุ่นอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าคนเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะหางานใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนกลุ่ม Gen X อยู่ที่ 43% Gen Y 28% และ Baby Boomer 13% ทั้งนี้ เป็นการสำรวจจากคนวัยทำงาน (ทุกช่วงวัย) ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 2,417 คน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Business Insider ที่ระบุว่า พนักงานออฟฟิศ Gen Z ที่มีอายุน้อยกว่า 26 ปี ประมาณ 27% จะกลายเป็นกลุ่มหลักๆ ของ “การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation)” เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่พอใจกับการทำงานแบบเก่า และมองว่างานไม่จำเป็นต้องอยู่ในโครงสร้าง 9 : 5 หรือ เริ่มงาน 9 โมงเช้าและเลิกงาน 5 โมงเย็น เพราะสามารถทำงานให้เสร็จได้ในเวลาที่เหมาะสม และใช้เวลาที่เหลือเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสมดุลชีวิต
ในขณะที่ผลสำรวจของ Bankrate ก็พบเช่นกันว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ประมาณ 61% มีแนวโน้มต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานจากนายจ้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น ทำงานที่บ้าน หรือ ไม่จำเป็นต้องเข้างานตามเวลาที่กำหนด แต่ก็ยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะความยืดหยุ่นนั้นช่วยให้พนักงานรุ่นใหม่เหล่านั้นมีความสบายใจ และสามารถแบ่งเวลาในการทำงานสลับกับกิจกรรมอื่นๆ ได้ เพราะพวกเขามองว่าจะทำงานก็ต่อเมื่ออยากทำงาน และนั่นอาจเป็นปัญหาสำหรับนายจ้างที่ยังเคยชินกับการทำงานในระบบเดิมๆ อยู่
ดังนั้นปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความสุขกับการทำงานเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะมีความคิดว่า เวลาในหนึ่งวันนั้นไม่ควรทุ่มเทไปกับการทำงานเพียงอย่างเดียว และหากรู้สึกว่าไม่พอใจในตัวงาน ณ ปัจจุบันก็พร้อมที่จะออกไปหางานใหม่ทันที
- ผู้บริหารควรรับมืออย่างไรเมื่อคนรุ่นใหม่แห่ลาออก
ปัญหากรณีคนรุ่นใหม่ชาว Gen Z ที่ตัดสินใจลาออกแบบง่ายๆ นั้น ถือว่ามีความสำคัญต่อผู้บริหารและองค์กรมากพอสมควร เนื่องจากปัจจุบันแต่ละองค์กรเองก็ต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ เพื่อใช้ในการพัฒนาองค์กรที่ต้องมีการแข่งขันสูงอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นเมื่อพนักงาน Gen Z ต่างพากันลาออกจำนวนมากๆ ในระยะเวลาสั้นๆ จึงส่งผลให้เหล่านายจ้างต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากต่อการลาออกของพนักงาน 1 คน เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับนายจ้างเลยทีเดียว นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนพนักงาน 1 คน อาจทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่าย 1-2 เท่า ของเงินเดือนของพนักงานคนนั้นๆ
เพราะฉะนั้นแล้ว ผู้บริหารเองจึงจำเป็นต้องเริ่มทำความเข้าใจพนักงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งคน Gen Z เอง ก็ต้องมีมุมที่ปรับตัวเข้าหาคนรุ่นอื่นๆ ในองค์กรเช่นกัน เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากทรัพยากรมนุษย์
- เปิดกลยุทธ์จูงใจชาว “Gen Z” นายจ้างต้องสื่อสารอย่างจริงใจ!
โดยจุดเริ่มต้นที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอยากทำงานมากขึ้น ก็คือ การพูดคุยกับพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และที่สำคัญ.. นายจ้างจำเป็นต้องอธิบายให้พนักงานรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าใจว่า พวกเขามีส่วนสำคัญอย่างไรและทำอะไรได้บ้างเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน ไปจนถึงในภาพรวมขององค์กร และองค์กรเองก็พร้อมจะสนับสนุน รับฟัง และให้คำปรึกษากับพนักงานเช่นกัน
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ นายจ้างเองก็จำเป็นจะต้องพยายามเข้าใจด้วยว่าความต้องการเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนขี้เกียจหรือว่าเอาแต่ใจ แต่คนรุ่นใหม่เองมีความมั่นใจเช่นกันว่าพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และมีอุปกรณ์พร้อมทำงานได้ที่บ้าน ไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศ ขณะเดียวกัน ตัวพนักงาน Gen Z เองก็ต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเป็นบางครั้งด้วย เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
นอกจากนี้ การสื่อสารระหว่างพนักงานแต่ละรุ่นภายในองค์กร ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เข้าออฟฟิศ แต่ก็สามารถสื่อสารทางออนไลน์กันได้อย่างสะดวกสบาย โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือที่ใช้สำหรับ การประชุม การส่งงาน หรือ การตรวจงาน เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้พนักงานแต่ละช่วงวัยไม่พลาดการสื่อสารระหว่างกัน และทำให้ตัวงานคืบหน้าได้โดยไม่ติดขัดเรื่องสถานที่อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : Bankrate, Business Insider และ Yahoo Finance