สั่งเก่งไม่เวิร์ก! หัวหน้างาน-HR ต้องรับมืออย่างไร? เมื่อพนักงาน ‘Burnout’
การทำงานในยุคปัจจุบัน เชื่อว่าพนักงาน คนวัยทำงานล้วนประสบปัญหาความเครียดในการทำงานเพิ่มมากขึ้นจนหลายคนอาจรู้สึกว่า 'เบื่องาน รู้สึกแย่กับตัวเอง กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน และอยากลาออกจากงาน'
Keypoint:
- พนักงานหลายคนหลายบริษัท เผชิญภาวะBurnout หรือการอ่อนล้าทางอารมณ์ จากความเครียดจากงานที่มากเกินไปจนอยากลาออกจากงาน
- ปริมาณงานมาก งานยาก ซับซ้อน ไม่มีเวลาพัก หัวหน้างานขาดความยุติธรรม มีปัญหาเพื่อนร่วมงาน เครียด ไม่ได้รับคุณค่า ไม่ภูมิใจที่ทำงาน ล้วนเป็นสาเหตุภาวะหมดไฟ
- องค์กรต้องมีนโยบายไม่ต้องตอบงานนอกเวลาที่กำหนด มีความยืดหยุ่น สนับสนุนให้พักผ่อน สร้างบรรยากาศเสริมสุขภาพจิต สภาพแวดล้อมตอบโจทย์พนักงานต้องการหลากหลายและแตกต่าง
จากรายงานผลการศึกษาภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะหมดไฟ (Burnout)ในการทำงาน จากการศึกษาของ เอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) สำรวจธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) 1,363 แห่ง จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น
โดยมี SMEs ในประเทศไทย จำนวน 207 แห่ง ระหว่างปี 2564 – 2565 พบว่า SMEs ไทยกว่าร้อยละ 47 มีพนักงานลาออกมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ (The great resignation ซึ่งผลสำรวจของ The Adecco Group ในรายงานเรื่อง Resetting Normal: Defining the New Era of Work 2021 พบว่า พนักงานทั่วโลกมากกว่ากว่า 4 ใน 10 มีภาวะหมดไฟ
สอดคล้องกับการสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2562 ที่ทำการสำรวจวัยแรงงานในกรุงเทพฯ จำนวน 1,280 คน และพบว่า ร้อยละ 12 อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน และร้อยละ 57 มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ
โดยกลุ่มอาชีพที่มีภาวะหมดไฟมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่
1. พนักงานรัฐวิสาหกิจ 77%
2. พนักงานบริษัทเอกชน 73%
3. ข้าราชการ 58%
4. ธุรกิจส่วนตัว 48%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดวิธีรับมือ เจ้านายจอมสั่ง สั่งงานเก่ง คาดหวังสูง แต่ไม่ให้เวลาทำงาน
“Burn On” หมดไฟไม่รู้ตัว ทำงานได้ แต่ตายซาก ชีวิตไม่สนุก หาความสุขไม่ได้
เช็กตนเอง กำลังเข้าสู่ภาวะ Burnout หรือไม่?
ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการJobsDBThailand บริษัท จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โดยในช่วง 2-3 ปีมานี้ พนักงานในหลายคน หลายบริษัทกำลังเผชิญกับภาวะ Burnout หรือหมดไฟ ซึ่งเป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ เนื่องจากความเครียดจากงานที่มากเกินไปอย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งตัวเองและองค์กร ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย และได้รับการวางแผนรับมืออย่างทันท่วงที
‘Burnout’ คือ การอ่อนล้าทางอารมณ์ของพนักงาน และผู้บริหาร ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่มีความเครียดในปริมาณที่มากเกินไป หรือมีความเครียดสะสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการ ในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้แก่ ภาระงานที่หนัก เครื่องมือ การสนับสนุนในการทำงานที่ไม่เหมาะสม หัวหน้างานที่ขาดความรับผิดชอบไม่รับฟังความคิดเห็น และโครงสร้าง องค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น
ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละองค์กรจึงมีหน้าที่สำคัญในการรับมือกับภาวะBurnoutของพนักงาน ในการดูแลสภาพจิตใจของพนักงานในองค์กร เพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไว้ได้ในระยะยาว
เครียดระดับไหนถึงเสี่ยงภาวะหมดใจ- หมดไฟ
JobsDB by SEEK ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ SeekTALKSภายใต้หัวข้อ ‘รับมือกับภาวะBurnoutของพนักงาน’ โดย ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าภาวะBurnout หรือหมดไฟในการทำงานนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากความเครียด และหมดใจในการทำงาน ซึ่งความเครียด ภาวะหมดใจ และภาวะหมดไฟนั้นมีความแตกต่างกัน
โดยในส่วนของความเครียดนั้น สามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ
1.ความเครียดในระดับน้อยหรือปานกลาง ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวในการทำงาน ความเครียดแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้ทุกคนตื่นตัว หรือมีไฟในการทำงาน
2.ความเครียดในระดับที่มากขึ้น เกิดขึ้นนานในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อพนักงานมีความเครียดแบบนี้ ทุกคนต้องมองหาการสนับสนุน
3.ความเครียดในระดับที่มากเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งความเครียดในระดับนี้จะทำให้ทุกคนเข้าสู่ภาวะหมดไฟ
“ภาวะหมดไฟ เป็นความเครียดเรื้อรังที่เกิดจากการทำงานและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปัญหาการหลับนอน หายใจไม่สะดวก หมดแรง และทางพฤติกรรม อย่าง ตอบสนองต่ออารมณ์อย่างรวดเร็ว หงุดหงิดง่าย หรือที่เรียกว่าเหวี่ยงตลอดเวลา” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับใครที่กำลังมองหาว่าตัวเองกำลังเข้าสู่ภาวะหมดใจ หรือหมดไฟนั้น สามารถเช็กได้ดังนี้
ภาวะหมดใจ
- จะขาดความสนใจในงาน ในไอเดียใหม่ ๆ
- ไม่กระตือรือร้น ขาดการตอบสนองเชิงรุก
- เริ่มมีข้ออ้างต่างๆ
ภาวะหมดไฟ
- เหน็ดเหนื่อยทางอารมณ์
- หลีกเลี่ยงผู้คน/มีอารมณ์ลบๆต่อผู้อื่น
- ไม่เห็นประสิทธิภาพในงานของตนเอง
ดังนั้น หากใครที่บอกตัวเองหรือถามตัวเองด้วยประโยคเหล่านี้แสดงว่ากำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน
- ฉันรู้สึกเหนื่อยหน่ายจากการทำงาน
- ฉันรู้สึกหมดเรี่ยวแรงเมื่อถือเวลาทำงาน
- ฉันเลิกสนใจว่างานที่ฉันทำเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นในที่ทำงานหรือไม่
- ฉันไม่ใส่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง รอบๆ ตัวในที่ทำงาน
- ฉันรู้สึกสงสัยในศักยภาพในการทำงานของตัวเองเหมือนทำอะไรก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
- ฉันรู้สึกว่ารับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ ไม่ดีเลย แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย
จะรู้ได้อย่างไรว่า 'พนักงาน'กำลังเกิดภาวะหมดไฟ
การแบ่งกลุ่มพนักงาน คนวัยทำงานที่กำลังเกิดภาวะหมดไฟได้ 3 รูปแบบดังนี้
1.กลุ่มเหน็ดเหนื่อย จะเกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้รับงานจำนวนมาก งานยาก ซับซ้อน
2.กลุ่มถอนตัวออกจากงาน จะเกิดจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ที่แม้จะทำงานดีแต่ไม่เคยได้รับคำชมจากหัวหน้างาน หรือการถูกตำหนิ การใช้คำพูดที่ไม่ดีของหัวหน้างาน รวมถึงการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน
3.กลุ่มไม่เห็นประสิทธิภาพ รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีเหมือนไม่ก่อน ไม่เห็นคุณค่าในงานที่ตัวเองทำ
สาเหตุของความเครียดในการทำงาน
- การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หัวหน้างานจัดแบ่งงานไม่เท่ากัน
- บทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน พนักงานต้องรับทำงานที่ไม่ใช่งานของตัวเอง
- การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ
- หัวหน้าหรือองค์กรไม่เห็นคุณค่า
- ความคาดหวังในงานที่ไม่ตรงความจริง
- ความกดดันด้านเวลาที่ไม่จำเป็น
HR -หัวหน้างาน ไม่ต้องรอให้พนักงานเกิดภาวะหมดไฟ
ความต้องการในงาน ควรเป็นความต้องการที่พนักงานรู้สึก 'ท้าทาย' ได้เรียนรู้ พัฒนาตนเอง และเติบโตต่อไปได้ อย่างได้รับการสนับสนุนอยู่บ่อยๆ รวมถึงต้องพยายามหาแนวทางป้องกันไม่ให้พนักงานเผชิญกับภาวะหมดไฟ หรือ รักษาอาการเมื่อพนักงานเข้าสู่ภาวะหมดไฟแล้ว โดยต้องเน้นช่วยเหลือพนักงาน
ช่วยเหลือพนักงานที่เผชิญภาวะหมดไฟ
ผ่านการจัดอบรม ซึ่งหลายๆ บริษัท มีการจัดอบรม โดยนำนักจิตวิทย มาจัดการความเครียด สามารถำให้พนักงานรู้ว่าตความเครียดคืออะไร และจะใช้เทคนิตอะไรบ้าง แต่เมื่อเผชิญความเครียดจริงๆ อาจจะไม่ได้สามารถทำให้พนักงานจัดการความเครียดได้ ดังนั้น ควรมีโปรแกรมการลดภาวะหมดไฟอย่างต่อเนื่อง สำหรับโปรแกรมที่ใช้ลดภาวะหมดไฟ ได้แก่
- โปรแกรม CBT บำบัดผ่านการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรม โดยนักจิตบำบัด ต้องทำต่อเนื่อง 2 เดือน ให้พนักงานลองไปฝึกได้ใช้จนกลายเป็นนิสับ
- โปรแกรมการฝึกสติ อาจจะใช้เวลา 3 เดือนเป็นต้นไป
- โปรแกรมการรับมือกับความเครียด จะต้องมีการเช็กอัพว่าสามารถนำไปใช้ได้บ้าง เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมไปเรื่อยๆ
- โปรแกรมการออกกำลังกาย ใช้ให้การบัตรกำนัล หรือทำกิจกรรมเล่นแบต เล่นฟุตบอลหลังเลิกงาน อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทำจนชินเป็นนิสัย
- โปรแกรมซาบซึ้ง เช่น ในทุกกิจกรรมที่พบเจอ ใช้เวลา 5 นาที แลกเปลี่ยนว่ามีเรื่องดีๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือการขอบคุณคนในทีมทุกๆ ครั้งที่มีกิจกรรม
- โปรแกรม EAP (Employee assistance program) มาช่วยเหลือพนักงาน โดยให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาครอบคลุมทุกปัญหา เช่น เรื่องส่วนตัว สุขภาพ รูปแบบ in-house หรือภายใน
ความท้าทายที่ทำให้พนักงานเผชิญภาวะหมดไฟ
สิ่งที่พนักงานกำลังเผชิญ และเป็นความท้าทายในการจัดการความเครียดให้แก่พนักงานที่หัวหน้างาน HR และผู้บริหารต้องรู้ คือ
"พนักงานจะรู้สึกว่า หยุดพักจากงานได้ไม่เต็มที่ เพราะจะกังวลว่าต้องตอบงานในเวลาส่วนตัว และมาทำงานทั้งที่ไม่สบาย ฉะนั้น สิ่งที่หัวหน้า HR ผู้บริหารต้องมีให้แก่พนักงาน คือ work life balance เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ work life balance มากกว่าเงินเดือน และสวัสดิการ"
สิ่งที่จะช่วยให้พนักงานคงอยู่และดึงดูดพนักงานใหม่ คือ
1.นโยบายไม่ต้องตอบงานนอกเวลาที่กำหนด
- มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าหลังเวลางาน พนักงานไม่จำเป็นต้องตอบเรื่องงาน และไม่มีผลต่อการประเมิน
- แต่นโยบายนี้ บางบริษัทอาจจะไม่ชอบ ต้องลองนำมาใช้ในช่วงวัน และมีการเปิดช่องว่างให้มีความยืดหยุ่น
2.คำนึงถึงความยืดหยุ่นในการทำงาน
- ด้านเวลา เลือกเวลาเข้าออกได้เอง
- ด้านสถานที่ สามารถทำงานที่ไหนก็ได้
3.สนับสนุนให้พนักงานได้พักผ่อน
- สร้างนวัตกรรมในการใช้วันลา ‘อย่างสบายใจ’
- ออกแบบเวลาพักเบรก
- หัวหน้าสามารถเป็นตัวอย่างของการหยุดพัก
- ให้สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพกายและจิต
4.สร้างบรรยากาศในที่ทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพจิต
- โดยการสร้างพื้นที่ที่ทำงานสำหรับทุกคนให้สามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น นโยบาย DE&I เช่น วันที่สามารถพาลูกมาที่ทำงานได้
5.สร้างความเคารพ และมีส่วนร่วม
- พื้นที่ทำงานที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ สามารถแสดงความเห็น โดยไม่โดนลงโทษ
- ส่งเสริมให้คนทำงานมีความสุข สุขภาพจิตที่ดีในการทำงาน
- องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถเรียนรู้ ลองผิดลองถูกได้ โดยไม่ถูกตำหนิ ต้องมีการทำความเข้าใจกับหัวหน้า
- อย่าลืมฉลองความสำเร็จให้แก่พนักงาน ไม่ว่าจะเล็กน้อยขนาดใด หากแนวทางให้พนักงานเกิด Sense of ownership
6.พนักงานมีความต้องการและจำเป็นหลากหลาย
- ออกแบบการทำงาน การสื่อสาร สวัสดิการ การอบรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือตัวตนของพนักงาน
- ความหลากหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ HR ต้องคำนึง และจะหวังความชัดเจนแก่ทุกคนคงไม่ได้
- ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บจากพนักงาน สำรวจความรู้จัก ความต้องการเป็นประจำ
เมื่อเจอผู้บริหาร Toxic สื่อสารไม่ดีต้องทำอย่างไร?
ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าวต่อว่าสิ่งแรกที่ทำคือ จัดการอารมณ์ตนเอง และอย่าไปเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยอะไรแก้ไขได้ ก็พยายามแก้ไข และส่วนไหนที่แก้ไม่ได้ต้องหันมาดูแลจิตใจ และจัดการอารมณ์ลบๆ เช่น เขียนไดอารี่ พูดคุยกับเพื่อน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เป็นต้น
"ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมความสุข โดยเพื่อนร่วมงาน ควรมีคำพูดดีๆ กำลังใจแก่เพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง HR ต้องรู้จักเสนอนโยบายดีๆในการสร้างความสุขในการทำงาน หัวหน้างาน ควรสนับสนุนและเข้าใจพนักงาน ไม่ใช้ผลักภาระงานให้แก่พนักงาน หรือตำหนิพนักงานในที่สาธารณะ หน้าเพื่อนร่วมงาน และผู้บริหาร ควรขับเคลื่อนธุรกิจโดยคำนึงถึงพนักงานเป็นหัวใจหลักขององค์กร"ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าวทิ้งท้าย