ส่งเงินมาหลายปี!! 'กองทุนประกันสังคม' บริหาร..เสี่ยงล้มละลายจริงหรือ?
แม้ขณะนี้จะมีข่าวคราวความอยู่รอด ความมั่นคง และความมีเสถียรภาพของ ‘กองทุนประกันสังคม’ สั่นคลอน!! เพราะนอกจากถูกประเมินความเสี่ยงทางการคลังลดลงแล้ว ยังถูกตั้งข้อสงสัยถึงการเลือกหุ้น การจัดสรรพอร์ตการลงทุน และคุณสมบัติของผู้บริหารกองทุนที่เข้ามาดูแลกองทุน
Keypoint:
- กองทุนประกันสังคมมีความเสถียรภาพมากน้อยขนาดไหน? หลังจากเงินรวมลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี
- สปส.ยืนยันกองทุนประกันสังคม ไม่ล้มละลาย มีความเสถียรภาพสูง ระบุผลตอบแทนการลงทุนกองทุนประกันสังคมมีรายได้รวมอยู่ที่ 231,284 ล้านบาท
- อีก 4 ปี (ในปี 2570) สถานะกองทุนประกันสังคม คาดว่าจะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท
หลังจากที่เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินความเสี่ยงทางการคลังของ 'กองทุนประกันสังคม' ณ สิ้นปี 2565 พบว่ามีเงินรวม 2.361 ล้านล้านบาท ลดลง 17,000-18,000 ล้านบาท และลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี แล้ว ส่งผลให้หลายๆ คนที่มีข้อสงสัยถึงการบริหารจัดการ 'กองทุนประกันสังคม' อยู่แล้วยิ่งมีคำถามมากขึ้น
จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในวาระการพิจารณารับทราบรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สส. จากหลายพรรคการเมืองอภิปรายตั้งข้อสงสัยถึงการปล่อยให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนในการบริการจัดการ 'กองทุนประกันสังคม' จนทำให้เกิดการค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท และนายจ้างหักเงินลูกจ้างแต่ไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน
รวมถึงตั้งข้อสงสัยถึงการเลือกหุ้น การจัดสรรพอร์ต การลงทุน และคุณสมบัติของผู้บริหารกองทุนที่เข้ามาดูแลกองทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แรงงานโดนแน่! ‘กองทุนประกันสังคม’เสี่ยงล้มละลายใน30ปี 'หักเงินสมทบเพิ่ม'
‘เงินประกันสังคม’ หลังหักเงินจากลูกจ้างแล้ว ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ?
'ประกันสังคม' เตรียมจ่าย 10.2 ล้าน ดูแลผู้ประกันตน บาดเจ็บ-ตาย ช่วงสงกรานต์
รัฐจัดงบรับสังคมสูงวัย เพิ่มสิทธิประกันสังคม จ้างงานผู้สูงอายุ
- สปส.บริหารจัดการกองทุนประกันสังคมอย่างไร?
‘กองทุนประกันสังคม’ เป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตรทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันใน ‘กองทุนประกันสังคม’ จะเป็นเสมือน ‘กองทุนเงินทดแทน (เนื่องจากการทำงาน)’ ที่จะจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่คำนึงถึงวันเวลาและสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นหลัก
ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม หรือสปส. ได้บริหารจัดการในกองทุน 2 รูปแบบ คือ
- บริหารจัดการเอง ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท
- บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ประมาณ 4 พันล้านบาท
โดยการบริการจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ พบว่า การลงทุนเติบโต 2.16% มีกำไรตั้งแต่ปี 2563-2564 ประมาณ 3.36% เฉลี่ยแล้วประมาณ 1.66% ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนในกองทุนอื่น ๆ หากมีการลงทุนในระยะยาวต่อไปอาจจะมีผลต่อการลงทุนเพราะกองทุนประกันสังคม ถือว่าเป็นผู้ลุงทุนรายใหญ่ของประเทศ
ด้านสัดส่วนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ปัจจุบันนี้มีการลงทุนในกองทุนความเสี่ยงต่ำ 60% และกองทุนความเสี่ยงสูง 40%
เสี่ยง VS คุ้มค่าส่งเงินให้กองทุนประกันสังคมนำไปลงทุน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการนำเงินไปลงทุน และผลตอบแทนที่ได้นั้น พบว่า เงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
- กระจายลงทุนในประเทศจำนวน 1,825,926 ล้านบาท คิดเป็น 81.71%
- กระจายลงทุนต่างประเทศ จำนวน 408,607 ล้านบาท คิดเป็น 18.29%
โดยเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,710,009 ล้านบาท คิดเป็น 76.53% ประกอบด้วย
1.พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน มูลค่า1,428,284 ล้านบาท คิดเป็น 63.92%
2.หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือมูลค่า167,180 ล้านบาท คิดเป็น 7.48%
3.หุ้นกู้เอกชนหรือ securitized debt ที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือ 67,475 ล้านบาท คิดเป็น 3.02%
4.เงินฝากมูลค่า 47,070 ล้านบาท คิดเป็น 2.11%
ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 524,524 ล้านบาท คิดเป็น 23.47% รายละเอียดการลงทุนดังนี้
1.ตราสารทุนไทยหรือหุ้นไทย มูลค่า 258,907 ล้านบาท คิดเป็น 11.59%
2.หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ มูลค่า 173,935 ล้านบาท คิดเป็น 7.78%
3.หน่วยลงทุนอสังหา,กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, ทองคำ มูลค่ารวม 82,178 ล้านบาท คิดเป็น 3.67%
4.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่ กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน มูลค่า 9,504 ล้านบาท คิดเป็น 0.43%
ในรอบ 6 เดือนแรกปี2565 (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น 42,434 ล้านบาท คิดเป็น 1.90% ของมูลค่าเงินกองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้จำนวน 17,194 ล้านบาท และเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน จำนวน 25,240 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคม ‘นายศุภณัฐ มีนชัยนนท์ สส.พรรคก้าวไกล’ ได้เปิดเผยว่า มีการลงทุนจำนวนมาก แต่ที่น่าจับตามองคือการลงทุนในหุ้นเอกชนด้านพลังงานและน้ำมัน ซึ่งมีการลงทุนจำนวนมาก 260 ล้านหุ้น จำนวนเงิน 7,600 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่น ๆ ไม่ได้อยู่ใน SET 50 หุ้นที่สามารถทำกำไรได้ และไม่ได้เป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นมากหนัก
นอกจากนี้ ยังพบว่า กองทุนประกันสังคมมอบหมายให้ 7 บริษัทหลักทรัพย์ดูแลกองทุนจำนวน 10 กองทุน โดยแบ่งเป็น กองทุนตราสารหนี้ 5 กองทุน กองทุนตราสารทุน 5 กองทุน กองทุนละ 12,000 บาท
หนี้สูญของ ‘กองทุนประกันสังคม’
- ในปี 2563 มีหนี้สูญ 37 ล้านบาท และหนี้สงสัยว่าจะสูญ 450 ล้านบาท
- ในปี 2564 มีหนี้สูญ 80 ล้านบาท และหนี้สงสัยว่าจะสูญ 281 ล้านบาท
- มีแนวโน้มว่าหนี้สูญเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ขณะที่ ด้านสถานะการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมีอยู่ประมาณ 1.49 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ค่าประโยชน์ตอบแทน 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังพบว่าการจ่ายค่าประโยชน์ตอบแทนมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนี้
- กรณีชราภาพ จ่ายค่าประโยชน์ตอบแทน 1.30 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 22%
- กรณีสงเคราะห์บุตร 2.40 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 27%.
สำนักงานประกันสังคม หักอยู่เดือนละ 5% สูงสุด 750 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากหากเทียบกับค่าแรงของแรงงานไทยในปัจจุบัน แต่หากสปส. สร้างความเชื่อมันว่าจะบริหารเงินอย่างโปร่งใสและตรวจสอบ ผู้ประกันตนก็ยินดีจะให้หักเพิ่มตามที่มีประกาศออกมาว่าจะปรับอัตราใหม่ในประมาณต้นปี 2567
- สปส.ยันกองทุนประกันสังคม มีความเสถียรภาพ
เอกสารรายงานการเงินกองทุนประกันสังคม นับว่ากองทุนที่ใหญ่ที่สุดของพี่น้องคนทำงาน มีเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ส่วนสมทบของรัฐบาลยังคงติดหนี้กองทุนรวม 7 หมื่นล้าน และกระทรวงแรงงานขณะนี้ได้นำเงินประกันสังคมออกมาใช้เกินแสนล้านบาทไปแล้ว
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงรายงานสถานะการลงทุนของกองทุนประกันสังคมว่า จากข้อมูลผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มีเงินลงทุนสะสมของกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท ในปี 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,345,347ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.24 % โดยเมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2565
"ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม มีการบริหารสภาพคล่องโดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาว มีการมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุน ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและสถานะของกองทุนมีเม็ดเงินที่เพียงพอสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี"นายบุญสงค์ กล่าว
ส่วนมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพกองทุนประกันสังคมในระยะยาวนั้น สำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและข้อระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สามารถรองรับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ
"สำนักงานประกันสังคม ขอให้พี่น้องผู้ประกันตนทุกท่านมั่นใจได้ว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีเสถียรภาพ มั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ในระยะยาวให้กับผู้ประกันตนทุกกรณีอย่างแน่นอน"นายบุญสงค์ กล่าว
- ไขข้อสงสัยการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า การนำเงินไปลงทุนการลุงทุนมีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการลงทุน มีนักลุงทนระดับประเทศ ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั่วโลก ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนต้องผ่านคณะกรรมการการลงทุนก่อนเมื่อผ่านแล้วจึงมีการนำเงินไปลงทุน ที่ผ่านมากองทุนประกันสังคม และได้มีการนำเงินลงใน SET 100 ของตลาดหลักทรัพย์ มีขาดทุนบางส่วน ได้กำไร โดยปี 2564 ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 62,000 ล้านบาท
ปี 2563-2565 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เพราะเป็นช่วงโควิด มีการนำเงินไปเยียวยาผู้ประกันตนจำนวนแสนล้านบาท และช่วยนายจ้างและผู้ประกันตน โดยลดเงินสมทบจาก 5% เหลือแค่ 1-3% ทำให้รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย
"กรณีที่มีการอภิปรายว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคม เสี่ยงล้มละลายนั้น เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ ขอให้ความมั่นใจว่าตนจะไม่บริหารให้ล้มละลายเด็ดขาด การดำเนินการต่าง ๆ ไม่มีการเอื้อต่อนักการเมือง นักการเมืองล้วงลูกไม่ได้ ส่วนที่ตั้งงบแสดงสถานะหนี้สูญเพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้าน ชี้แจงว่ามาจากหนี้ค้างจ่าย 2 ทาง คือ รัฐบาลค้างจ่าย และนายจ้างปิดกิจการหรือสูญหาย สะสมมาตั้งแต่ปี 2533 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย"นายบุญสงค์ กล่าว
อัปเดต! เงินสมทบประกันสังคม ปี 2566
อย่างที่ทราบกันดีว่า อัตราเงินสมทบประกันสังคม 2566 ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้มีการปรับเป็น5% ตามปกติแล้ว หลังสิ้นสุดการปรับอัตราประกันสังคมเหลือ 3% สำหรับนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2565 ทำให้ลูกจ้างปี 2566 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมเพื่อคำนวณภาษีปี 2566 ได้สูงสุด 9,000 บาท ตามเดิม
ดังนั้น ในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 นี้ จะต้องจ่ายในอัตรา 5% ของค่าจ้าง
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ม.33)
สำหรับอัตราเงินสมทบของประกันสังคมมาตรา 33 ที่ผู้ประกันตนต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน จะคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างลูกจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
- ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
เมื่อรวมเงินสมทบประกันสังคมที่จ่ายทั้งหมดตลอด 12 เดือน ผู้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบรวมทั้งหมด 9,000 บาท
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ม.39)
ผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือบุคคลที่เคยทำงานและเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาก่อน และจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
- ส่งเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39 เป็นจำนวน 432 บาทต่อเดือน
- เมื่อรวมจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 นำส่งประกันสังคมตลอดปี เป็นวงเงินทั้งสิ้น 5,184 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ในทันที
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 (ม.40)
ผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือบุคคลทั่วไปหรือผู้พิการทางร่างกายที่รับรู้สิทธิ ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย หรือเป็นผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 หรือ 6 หรือ 7 ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือไม่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือ ม.40 สามารถเลือกจ่ายเงินสมทบประกันสังคมได้ 3 รูปแบบ ดังนี้
- รูปแบบที่ 1 จ่ายเงินสมทบในอัตรา 70 บาทต่อเดือน
- รูปแบบที่ 2 จ่ายเงินสมทบในอัตรา 100 บาทต่อเดือน
- รูปแบบที่ 3 จ่ายเงินสมทบในอัตรา 300 บาทต่อเดือน
ปี 2570 คาดกองทุนประกันสังคมมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมยืนยันว่ามีเสถียรภาพ และคาดปี 2570 มีเงินลงทุนสะสมมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)เผยถึงรายงานสถานการณ์ลงทุนของกองทุนประกันสังคม
จากข้อมูลผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคม พบว่า
- ปี2565 เงินลงทุนสะสมของกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565)
- ปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2566) มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,345,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24 % เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2565
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีการบริหารสภาพคล่องโดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้น 'การถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาว' รวมถึงการมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและสถานะของกองทุนมีเม็ดเงินที่เพียงพอ สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี