‘เงินประกันสังคม’ หลังหักเงินจากลูกจ้างแล้ว ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ?
ตามกฎหมายแล้วลูกจ้างทุกคนต้องถูกหัก “เงินประกันสังคม” จากเงินเดือน ซึ่งในแต่ละเดือนจะถูกหักในอัตรา 5% (ยกเว้นช่วงโควิด-19 ที่ถูกปรับลดลง) ทั้งนี้บางคนสงสัยว่า เงินเหล่านั้นหลังโดนหักไปแล้ว “กองทุนประกันสังคม” เอาไปทำอะไรต่อ และ “ผู้ประกันตน” ได้รับสิทธิอะไรบ้าง ?
Key Points:
- ลูกจ้างทุกคนจะต้องถูกหักเงินสมทบ เพื่อนำเข้า “กองทุนประกันสังคม” โดยจะถูกหักในอัตรา 5% ของเงินเดือนในทุก ๆ เดือน รู้หรือไม่? เงินก้อนนี้ถูกนำไปบริหารจัดการและลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ
- เมื่อจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว ผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย, ค่าคลอดบุตร และ เงินบำนาญชราภาพ
- ปัจจุบัน “กองทุนประกันสังคม” มีการนำเงินประกันสังคมที่หักจากลูกจ้างไปลงทุน ซึ่งล่าสุดมีรายงานผลการดำเนินงาน ณ 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2,316,171 ล้านบาท
เคยสงสัยไหม? ทำไมพนักงานบริษัทหรือลูกจ้างในมาตรา 33 จะต้องถูกหักเงิน “ประกันสังคม” ในทุกๆ เดือน โดยจะถูกหักในอัตรา 5% ของเงินเดือน (ยกเว้นช่วงโควิด-19 ที่ถูกปรับลดลงเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง) ทั้งนี้ “เงินประกันสังคม” เงินที่ถูกหักเข้า “กองทุนประกันสังคม” นั้น ถูกนำไปทำอะไรต่อบ้าง? กรุงเทพธุรกิจ ชวนหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
“ประกันสังคม” เป็นการออมเงินภาคบังคับที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันในการใช้ชีวิต มีความมั่นคงให้ครอบครัว และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งเตรียมพร้อมใช้เพื่อการเกษียณ ทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของกลุ่มสมาชิกที่มีรายได้ เพื่อรับผิดชอบสำหรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
โดยหน่วยงาน “ประกันสังคม” นั้น ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2546 ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการประกันตนก็คือ “ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป”
- เงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” คืออะไร ?
ในส่วนของ “เงินประกันสังคม” นั้นก็คือ เงินที่ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” จะต้องนำส่งเข้า “กองทุนประกันสังคม” ในทุกๆ เดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 5 โดยฐานเงินเดือนที่จะนำมาคำนวณต่ำสุดคือเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (เงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท และไม่เกินเดือนละ 750 บาท)
ทั้งนี้ “รัฐบาล” จะออกเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง ส่วนหน้าที่ของนายจ้างนั้นก็คือ ต้องหักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างและส่งส่วนของนายจ้างในจำนวนเงินที่เท่ากับเงินสมทบของลูกจ้างทั้งหมดที่หักรวมกัน รวมถึงทำเอกสารตามแบบสปส.1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส.1-10 ส่วนที่ 2 หรือจัดทำข้อมูลลงสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- ส่งเงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” แล้ว “ผู้ประกันตน” ได้รับสิทธิพื้นฐานอะไรบ้าง ?
หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อลูกจ้างจ่ายเงินหรือถูกหักเงินเดือนเข้าสู่กองทุนประกันสังคมแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง? เรื่องนี้มีข้อมูลจาก กองทุนประกันสังคม ระบุไว้ดังนี้
1. บัตรประกันสังคม ที่แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ประกันตนคนไทยสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนได้ และ ผู้ประกันตนชาวต่างด้าวจะได้รับบัตรประกันสังคมเพื่อใช้สำหรับรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ
2. บัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ที่จะได้รับหลังจากลงทะเบียนและส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน เพื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากกรณีเจ็บป่วย ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกันตนขอเพิ่มเข้ามาเองเพื่อความสะดวกสบาย เช่น ห้องพักผู้ป่วยแบบพิเศษ
นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ และหมดสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในวันลาป่วยตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง และไม่เกิน 180 วันต่อปี ยกเว้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วัน
หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นจากการเจ็บป่วยทั่วไป และผู้ประกันตนสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนด ดังนี้
- ผู้ป่วยนอก เบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
- ผู้ป่วยใน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
ในกรณีที่ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นโดยไม่เสียเงินนั้น ใช้ได้เฉพาเมื่อประสบเหตุอันตราย หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีเหตุผลสมควรเท่านั้น
3. เมื่อมีความจำเป็นต้องรับหรือส่งตัวไปสถานพยาบาลอื่น ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลที่เลือกไว้ภายใน 72 ชั่วโมง สามารถเบิกค่ายานพาหนะได้ กล่าวคือ หากสถานพยาบาลอยู่ในจังหวัดเดียวกัน (ใช้พาหนะสถานพยาบาล) จะจ่ายให้ตามจริง ไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง และ 300 บาทต่อครั้ง สำหรับพาหนะรับจ้างหรือส่วนบุคคล แต่ถ้าข้ามเขตจังหวัด จะจ่ายให้เพิ่มจากภายในเขตจังหวัดเดียวกันอีก ตามระยะทางกิโลเมตรละ 6 บาท (ตามระยะทางกรมทางหลวง)
4. สิทธิในการทำทันตกรรม ดังนี้
- ถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินปูน ได้รับค่าบริการทางการแพทย์ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 600 บาทต่อปี
- ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอะคริลิก จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียม เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
5. สิทธิในการคลอดบุตร ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรคนละ 2 ครั้ง โดยมีสิทธิดังนี้
- ผู้ประกันตนหญิง คลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ แล้วนำสำเนาสูติบัตรของบุตร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท รวมถึงเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน
- ผู้ประกันตนชาย ที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรสหรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ และนำสำเนาสูติบัตรของบุตร สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) หรือหนังสือรับรองกรณีไม่มีทะเบียนสมรส (เฉพาะกรณีผู้ประกันตนใช้สิทธิแล้วไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา) มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับเฉพาะเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท
- เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินบำนาญชราภาพเพื่อผู้ประกันตน
สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมสบมาตลอดและถึงเวลาเกษียณอายุการทำงาน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ ดังนี้
1. หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้าง เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
2. กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ ตามข้อ 1 ขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ = ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วย 20%
3. สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- “เงินประกันสังคม” ที่หักจากลูกจ้าง ไปอยู่ที่ไหน ถูกใช้ทำอะไรบ้าง ?
หลังจากรู้สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจาก “เงินประกันสังคม” แล้ว อีกมุมหนึ่งรู้หรือไม่ว่า “กองทุนประกันสังคม” นำเงินเหล่านั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : ประมาณ 82% ของเงินกองทุน นำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
ส่วนที่ 2 : ประมาณ 18% ของเงินกองทุนที่เหลือ มีการลงทุนในหลักทรัพย์ อาทิ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ
ล่าสุด.. มีข้อมูลจาก นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ณ 31 พฤษภาคม 2566 ว่า กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2,316,171 ล้านบาท เงินลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูง จำนวน 1,742,169 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.22%
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนสะสมกองทุนประกันสังคม ได้จำนวน 23,191 ล้านบาท ในส่วนกองทุนเงินทดแทน ปัจจุบันมีเงินลงทุนสะสม 76,118 ล้านบาท เงินลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงจำนวน 61,886 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.30%
อีกทั้งในช่วงระหว่าง เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 กองทุนเงินทดแทนสร้างผลตอบแทนสะสมจากการลงทุนได้ จำนวน 851 ล้านบาท และหากรวมเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ทั้งสิ้น 24,042 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนอีกหนึ่งประเภทที่ควรรู้ นั่นคือ “กองทุนเงินทดแทน” เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 จัดขึ้นเพื่อจัดเก็บเงินสมทบจาก “นายจ้างฝ่ายเดียว” ตามประเภทความเสี่ยงของกิจการ เพื่อนำไปจ่ายทดแทนให้แก่ลูกจ้าง “กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย/สูญเสียสมรรถภาพ/ทุพพลภาพ/ตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน”
(แตกต่างจากกองทุนประกันสังคม ที่จะให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตน เมื่อประสบอันตราย/เจ็บป่วย/ทุพพลภาพ/ตาย *ซึ่งไม่เนื่องมาจากการทำงาน*)
ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนทันที ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานให้นายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานในกรณีต่างๆ ได้แก่ ไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรก, ทุพพลภาพ (ตลอดชีวิต), สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย (ไม่เกิน 10 ปี), ตาย/สูญหาย (10 ปี)
โดยลูกจ้างจะได้รับสิทธิต่างๆ ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา (ในสถานพยาบาลของรัฐ)
- ค่าทำศพ ได้รับค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท
- ค่าทดแทนรายเดือน เมื่อลูกจ้างมีการหยุดงาน สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย จะได้ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน
อ้างอิงข้อมูล : กองทุนประกันสังคม, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานประกันสังคม และ iTAX