แรงงาน สั่งสอบ ปมลูกจ้างสาวลางาน ดูแม่ก่อนสิ้นใจไม่ได้-ซ้ำโดนไล่ให้ลาออก

แรงงาน สั่งสอบ ปมลูกจ้างสาวลางาน ดูแม่ก่อนสิ้นใจไม่ได้-ซ้ำโดนไล่ให้ลาออก

รมว.แรงงาน สั่งสอบข้อเท็จจริง กรณีลูกจ้างสาวขอลางานไปดูอาการแม่ป่วยหนัก ก่อนสิ้นใจ แต่หัวหน้าไม่ให้ลา ซ้ำโดนไล่ให้ลาออก พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างและนายจ้าง

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าว ลูกจ้างสาว รายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำภาพแชทคุยกับหัวหน้าที่ทำงาน กรณีขอ "ลางาน" เนื่องจากแม่ป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลางาน ว่า ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

แรงงาน สั่งสอบ ปมลูกจ้างสาวลางาน ดูแม่ก่อนสิ้นใจไม่ได้-ซ้ำโดนไล่ให้ลาออก

ในเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมี "สิทธิลา" เพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เนื่องจากการ "ลากิจ" ธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน 

อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งสอบข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกระทรวงแรงงานจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา (สสค.นครราชสีมา) ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย

หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน สามารถปรึกษา ร้องทุกข์ ร้องเรียน ได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546