'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ'แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แนะกระตุ้นเศรษฐกิจ คุมราคาสินค้า
'การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท' เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลเพื่อไทย จะปรับให้เพื่อดูแลพี่น้องแรงงานไทย ทว่าในส่วนของสภาองค์กรนายจ้าง-ผู้แทนลูกจ้าง กลับมองว่าจะซ้ำเติมปัญหาเดิม เชื่อแรงงานอยากได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการไม่ไหว
Keypoint:
- ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท รัฐบาลไหวแต่ผู้ประกอบการอาจไม่ไหว ส่งออกไทยชะลอตัว คนไทยว่างงานมากขึ้น ขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย หวั่นต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น ราคาสินค้าและบริการจะพุ่งสูง
- อีคอนไทย ชี้ชัดปีนี้ไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เผยผู้ประกอบการไทยกำลังวิกฤต ขาดทุน ควรกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดเม็ดเงินให้มีอำนาจในการซื้อ เกิดการผลิต และการจ้างงาน
- ควรเปลี่ยนคำนิยามจาก 'ค่าแรงงานขั้นต่ำ' เป็น 'ค่าจ้างแรกเข้า' พร้อมออกกฎหมายทุกบริษัทมีโครงสร้างค่าจ้าง ปรับค่าแรงขั้นต่ำรายปีตามผลงานประเมิน ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ และควบคุมราคาสินค้า
ตามที่ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศนโยบายด้านแรงงาน โดยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้เร็วที่สุด รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เช่น การท่องเที่ยวเพื่อดึงเงินเข้าภาคบริการ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ โดยได้ให้นโยบาย ‘นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน’ ให้ดำเนินเป็นวาระเร่งด่วนหลังแถลงนโนยาย
บริบทประเทศไทยภายใต้พลวัตเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดกับเกือบทุกประเทศ โดยการส่งออก 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม 2566) ที่ชะลอตัว โดยมีมูลค่าเชิงดอลลาร์สหรัฐหดตัวถึง 5.09% (ติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน) มีผลโดยตรงต่อภาวะการทำงานทั้งภาคการผลิตและบริการ สะท้อนจากอัตราการว่างงานเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 1.3% สูงสุดในรอบ 6 เดือน ทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานถึง 5.151 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่สมัครใจลาออกเพิ่มขึ้นถึง 1.9 เท่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขายฝันหรือจริง?ค่าแรงขั้นต่ำ 600 แนะเช็ก 4 ประเด็นก่อนปรับขึ้น
กระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องเร่งด่วน ยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรทำปีนี้
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวถึงนโยบายในการ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท’ ว่าการประกาศนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตอนนี้ยังคงเป็นเพียงนโยบาย แต่ยังไม่สามารถปฎิบัติได้ทันที เพราะต้องผ่านกลไกค่าจ้าง ซึ่งถ้ารัฐบาลชี้นำ ภาคเอกชน และลูกจ้างก็ต้องมองไปตามทิศทางดังกล่าว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400บาท ในปีนี้ ถ้ามองทางเศรษฐกิจ
อาทิ กทม.มีอัตราค่าแรงขั้นค่ำ เฉลี่ย 353 บาท ปรับเพิ่มเป็น 400 บาท เท่ากับ แรงงานหรือลูกจ้าง 1 คน จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นมา 47 บาท หากสถานประกอบการมีลูกจ้าง 1 คน ต้องเพิ่มค่าจ้าง 47 บาทคูณกับ 12 เดือน เป็นตัวเงินที่ต้องจ่ายต่อปี แต่ความจริงสถานประกอบการมีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนมากขึ้น จากที่ตอนนี้ขาดทุนอยู่แล้ว
"ในปีนี้ ผมยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่ควรจะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการหลายๆ บริษัทกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ขาดทุนมากกว่ากำไร ดังนั้น การจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ ต้องอยู่ที่ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการและบริษัทแต่ละแห่ง ซึ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้นทุนของประเทศ ต้องยอมรับว่าเมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนของสถานประกอบการมากขึ้น เรื่องของราคาสินค้าก็จะเพิ่มตามไปด้วย" ดร.ธนิต กล่าว
ดร.ธนิต กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำตอนนี้ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนมีรายได้ ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อย่าง การท่องเที่ยว โดยส่วนตัวคาดว่าการท่องเที่ยวมาปีนี้คงมีนักท่องเที่ยวไม่เกิน 28 ล้านคน เพราะเศรษฐกิจจีน ยุโรปขาดสภาพคล่อง ต้องใส่เม็ดเงินทำให้เกิดการผลิตสินค้า การจ้างงาน ต้องแก้สภาพคล่องให้คนมีอำนาจซื้อมากขึ้น
ปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณา 3 ส่วนหลัก
อย่างไรก็ตาม การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายส่วน คือ
1.ภาวะเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด
2.อัตราเงินเฟ้อ
3.ความสามารถการจ่ายของนายจ้าง
ซึ่งทุกจังหวัดมีคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่พิจารณาการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ค่าจ้างแต่ละจังหวัดปรับขึ้นแตกต่างกัน ยกเว้นปี 2555-2556 ที่รัฐบาลเพื่อไทยใช้นโยบายค่าแรงอัตราเดียวทั่วประเทศที่ 300 บาท
การปรับค่าจ้างไม่ใช่เฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แต่กระทบไปถึงธุรกิจในทุกรูปแบบ รวมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมที่ต้องใช้กรรมกรแบกหาม เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุน ภาคการประมง อุตสาหกรรมที่ใช้คนจำนวนมาก แต่มีราคาขายสินค้าที่ต่ำ เช่น อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องเสื้อผ้ารองเท้า อุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงและย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นกันแล้ว
นับตั้งแต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่อยู่ไม่ได้ ก่อนหน้านี้ไทยเป็นแชมป์ในการส่งออก เรื่องของเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า แต่เวลานี้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชา หรือประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การลงทุนในไทยลดลง
ปรับค่าแรงขึ้นเพียง 1% เอกชนไม่น่าไหว
นายชาลี ลอยสูง ผู้แทนลูกจ้างจากสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) Thai Labour Solidarity Confederation (TLSC) หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถ้าพูดตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่แรงงานอยากได้ แต่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจะปรับทีเดียวทุกสถานประกอบการจะมีปัญหา เพราะแต่ละสถานประกอบการ ผู้ประกอบการแต่ละแห่งมีความขาดทุน กำไรแตกต่างกัน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องเป็นไปตามความสามารถ ความอยู่รอด และมั่นคงของสถานประกอบการร่วมด้วย
"ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นให้เป็นวันละ 400 บาท และนโยบายที่รัฐบาลเพื่อไทยวางกรอบที่วันละ 600 บาท ภายในปี 2570 ถือเป็นการปรับขึ้นเกือบ 20% ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลพูดเอาไว้จึงต้องรีบปรับ ทั้งที่ภาพความเป็นจริงๆ ตอนนี้ ต่อให้ปรับค่าแรง 1% หรือ 5% ภาคเอกชน ผู้ประกอบการก็อาจไม่ไหว เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาอัตราเงินเฟ้อหรือมีวิกฤติอะไรบ้าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อไทยที่เคยสูงเกือบ 8% และสุดท้ายก็ไม่มีเงินพอใช้จ่ายกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น”นายชาลี กล่าว
ขณะนี้ การปรับตัวของราคาสินค้าสูงขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว เพราะต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และหากมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 400 บาทในปีนี้ เชื่อว่า ราคาสินค้าจะสูงขึ้นไปอีก และแรงงาน ประชาชนก็จะไม่มีกำลังพอในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ
ควบคุมราคาสินค้า ปรับกฎหมายเปลี่ยนเป็นค่าจ้างแรกเข้า
นายชาลี กล่าวต่อว่าก่อนที่จะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ อยากให้รัฐบาลควรควบคุมราคาสินค้าก่อน ถ้าควบคุมราคาสินค้าได้ ประชาชนสามารถจับจ่ายซื้อสอยได้ ก็ไม่ต้องใช้เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ และอยากให้รัฐบาลแก้กฎหมายเปลี่ยนคำนิยามจากค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า โดยออกกฎหมายให้ทุกบริษัทมีโครงสร้างค่าจ้าง และแต่ละบริษัทควรปรับค่าแรงขั้นต่ำรายปีตามผลงานประเมิน ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อและบวกด้วยการประเมินผลงานของแรงงาน
"ที่มีข้อเรียกร้องจากแรงงานให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น เกิดจากโรงงาน หรือสถานประกอบการประมาณ 3,000-4,000 แห่ง ไม่ปรับค่าแรงรายปีให้สอดคล้อง หรือไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพราะมองว่าก็ให้ตามค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประเทศแล้ว ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถอยู่รอดได้ ต่อให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้ทำให้สถานประกอบการสามารถเพิ่มค่าจ้างรายปีให้แก่แรงงานได้ ก็จะหมุนเป็นวัฎจักร เพราะอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ควรจะปรับให้ถูกหลักถูกที่ ไม่เช่นนั้นความพยายามของรัฐบาล จะทำให้ผู้ประกอบการต้องปลดแรงงาน เพราะไม่มีทุนพอจ่ายค่าแรง" นายชาลี กล่าว
เช็กอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2566
ปัจจุบัน อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2566 เฉลี่ย 337 บาทต่อวัน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดจะมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมือนและแตกต่างกัน ดังนั้น
- ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน อุดรธานีวันละ 328 บาท
- กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี วันละ 332 บาท
- กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้องเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุตรดิตถ์ วันละ 335 บาท
- กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร สมุทรสงคราม วันละ 338 บาท
- กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย อุบลราชธานี วันละ 340 บาท
- พระนครศรีอยุธยา วันละ 343 บาท
- ฉะเชิงเทรา วันละ 345 บาท
- กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร วันละ 353 บาท
- ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต วันละ 354 บาท