สรุปไทม์ไลน์ ปฏิบัติการช่วยเหลือ 'คนไทย' ออกจากสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'
เปิดไทม์ไลน์ปฏิบัติการช่วยเหลือ "คนไทย" ออกจากพื้นที่สงครามใน "อิสราเอล" ตามคำสั่ง นายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" ตั้งแต่เกิดเหตุในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อัปเดตสถานการณ์ที่นี่!
เหตุปะทะรุนแรงของ “กลุ่มฮามาส” ที่โจมตี “อิสราเอล” เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกและความสูญเสียอย่างมาก ด้านอิสราเอลก็ตอบโต้กลับอย่างดุเดือด พร้อมประกาศภาวะ “สงคราม” ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเหตุความไม่สงบครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อยาวนาน สร้างผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังมีรายงานพบคนไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับกุมตัวไปหลายราย
ด้านรัฐบาลไทยไม่นิ่งนอนใจ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เร่งสั่งการให้ช่วยเหลือและอพยพคนไทย ที่อยู่ในประเทศอิสราเอลออกมาโดยด่วน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างประสานงานกันและดำเนินการอย่างเต็มกำลัง เกิดเป็นปฏิบัติการพิเศษเพื่ออพยพคนไทยออกจากสงครามในอิสราเอล ให้บินข้ามประเทศกลับบ้านอย่างปลอดภัย “กรุงเทพธุรกิจ” สรุปไทม์ไลน์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยตั้งแต่ต้นจนถึงล่าสุด มาให้ทราบกันดังนี้
7 ต.ค. 2566:
เกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ โจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี โดยระดมยิงจรวดมากกว่า 5,000 ลูก จากฉนวนกาซาถล่มอิสราเอล รวมถึงส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปโจมตีทางภาคพื้นด้วย มีแรงงานคนไทยได้รับผลกระทบจากสงครามดังกล่าว มีทั้งผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับกุมไปเป็นตัวประกัน
8 ต.ค. 2566:
ทางการไทยรับทราบเหตุดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวประณามการโจมตีอิสราเอลที่ไร้มนุษยธรรม ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล พร้อมสั่งการให้ “กองทัพอากาศ” เตรียมอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลทันที
ทั้งนี้ได้ประสานให้สถานทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ช่วยดูแลคนไทยอย่างเร่งด่วนและเต็มที่ สำหรับคนไทยในอิสราเอล สามารถติดต่อเบอร์ Hotline สถานทูตฯ เทลอาวีฟ ได้ที่ +972 54 6368150 ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน กองทัพอากาศ ได้เตรียมพร้อมเครื่องบินโดยสารพิสัยไกล Airbus A340 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินลำเลียง C-130 อีก 5 ลำ เพื่ออพยพคนไทยออกจากอิสราเอล รอรัฐบาลสั่งการมาเท่านั้น ทั้งนี้ การเดินทางไปยังประเทศอิสราเอลจะต้องผ่านน่านฟ้าถึง 9 ประเทศ โดยใช้เวลาการเดินทาง 8 ชั่วโมงครึ่ง - 9 ชั่วโมง
9 ต.ค. 2566:
นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ เปิดแผนอพยพคนไทยจากอิสราเอล โดยได้เจรจาทางการทูตหลายประเทศ ระหว่างรอติดตามสถานการณ์ ประเทศอิสราเอลยังไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ แต่ก็ได้ประสานไปยังประเทศใกล้เคียงทั้ง จอร์แดนและบาเรนห์ไว้แล้ว
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟจะรายงานสถานการณ์เข้ามาเรื่อยๆ ขณะนี้เครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินช่วยเหลือต่างๆ ยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในกรุงเทลอาวีฟได้วางจุดประสานงานแต่ละจุดไว้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่กว้าง จุดที่เกิดเหตุก็ยากลำบากในการติดต่อ แต่ทุกฝ่ายก็พยายามทำกันอย่างเต็มที่
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่าจะเริ่มนำคนไทยทั้ง 15 คน เดินทางออกจากอิสราเอล ทั้งหมดจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 12 ต.ค.66 ขณะที่ รมช.การต่างประเทศ รายงานว่า คนไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันคน มีผู้เสียชีวิตคนไทยอย่างไม่เป็นทางการอยู่ที่ 18 ราย ส่วนการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันนั้นยังคงเจรจาต่อเนื่อง
10 ต.ค. 2566:
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน อัปเดตสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ล่าสุดตัวเลขคนไทยขอกลับบ้านล่าสุด 2,990 คน แรงงานไทยล็อตแรกกลับถึงไทย 12 ต.ค.66 นี้ ยืนยันภารกิจนำแรงงานไทยกลุ่มแรกจำนวน 15 คนกลับสู่ประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 2 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบินแรก LY081 จำนวน 5 คน, เที่ยวบินที่สอง LY083 จำนวน 10 คน
ส่วนล็อตต่อไปต้องรอทางรัฐบาลอิสราเอลตอบกลับว่า จะพร้อมรับเครื่องบินของทหารอากาศประเทศไทยเข้าไปรับแรงงานไทยได้เมื่อไหร่ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไว้แล้วว่า หากพร้อมเมื่อใดก็ให้เครื่องบิน (C130 จำนวน 5 ลำ และแอร์บัส A340 อีก 1 ลำ) เดินทางไปรับทันที
ทั้งนี้ อัปเดตตัวเลขแรงงานที่ได้รับผลกระทบล่าสุดพบว่า มีคนไทยบาดเจ็บจํานวน 9 คน, คนไทยถูกจับไปเป็นตัวประกันประมาณ 11-14 คน, ผู้เสียชีวิตประมาณ 20 ราย
11 ต.ค. 2566:
ดีเดย์ภารกิจอพยพ “คนไทยล็อตแรก” ออกจากอิสราเอล โดย พลอากาศเอกพันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ยืนยันปฏิบัติการณ์เข้ารับคนไทยในอิสราเอลไร้ขีดจำกัด แต่ติดขัดน่านฟ้าบางประเทศไม่อนุญาตบินผ่าน ต้องบินอ้อมเพิ่มระยะเวลา แต่ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งภารกิจนี้เมื่อบินไปรับแล้วจะบินกลับทันที โดยมีเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์การบินเดินทางไปด้วย
สำหรับคนไทยในอิสราเอลที่แจ้งความจำนงจะเดินทางกลับไทยจำนวน 3,000 กว่าคนนั้น หากใช้เฉพาะเครื่องบินของกองทัพอากาศอาจต้องใช้เวลานาน จึงต้องประสานขอความร่วมมือไปยังเครื่องบินพาณิชย์ด้วย เพื่อช่วยลำเลียงคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการระดมสรรพกำลังทรัพยากรทั้งหมดทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือคนไทยกลับบ้าน
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงคมนาคม เร่งเจรจากับการบินไทย สายการบินแอร์เอเชีย และสายการบินพาณิชย์อื่นๆ เป็นการด่วน เพื่อเร่งระดมจัดส่งเครื่องบินจำนวนมากที่สุดให้พอเพียงกับการไปรับคนไทยทั้ง 3,000 กว่าคนที่ต้องการเดินทางกลับสู่มาตุภูมิโดยเร็วที่สุด
12 ต.ค. 2566:
สถานการณ์ล่าสุด มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าคนไทยเสียชีวิตเพิ่มเป็น 21 ราย ทั้งนี้อิสราเอลจะให้การเยียวยาเหยื่อสงคราม ขณะที่ทางการไทยก็จะมอบเงินเยียวยาตามกฎหมายเช่นกัน อีกทั้งมีรายงานอัปเดตจำนวนคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันมีทั้งสิ้น 16 คน
กระทรวงการต่างประเทศใช้ความพยายามเต็มที่สื่อสารไปยังกลุ่มฮามาสเพื่อให้ปล่อยตัวประกัน แต่ปาเลสไตน์ไม่มีทูตประจำประเทศไทย จึงประสานทูตต่างชาติในไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ รวมถึงใช้กลไกอาเซียน และหน่วยงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ เพื่อประสานงานดังกล่าว
ด้านการบินไทย-นกแอร์ ตอบรับการประสานงานจากนายกฯ และกองทัพอากาศ พร้อมทำการบินนำคนไทยในอิสราเอลกลับบ้าน รอรับการประสานงานจุดบินและจำนวนผู้โดยสาร โดยขณะนี้การบินไทยและนกแอร์ มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ด้านกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำบัญชีทางการ overseamoph เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล ช่วยเหลือคนไทยผู้ประสบภัยทางสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวขอแสดงความเสียใจกับแรงงานไทยที่เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 21 คน ทางรัฐบาลทำงานต่อเนื่องเพื่อมองหาช่องทางอื่นในการอพยพ เช่น ช่องทางเรือ หรือทางรถยนต์ เพื่อผ่านออกไปยังประเทศจอร์แดน แต่ทั้งสองช่องทางยังมีความอันตรายสูง ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามดูแลคนไทยเต็มที่ในสภาวะที่ยากลำบากนี้
กระทรวงการต่างประเทศ ระบุเพิ่มเติมว่า วันนี้ (12 ต.ค.66) การอพยพคนไทยชุดแรกทั้ง 15 คน ออกจากอิสราเอล ได้เดินทางถึงไทยแล้ว เมื่อเวลา 11.16 น. โดยมีญาติของแรงงานไทยเข้ามารอรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความดีใจและโล่งใจที่ญาติของตนปลอดภัยกลับมา
อีกทั้งในวันที่ 18 ต.ค.66 ได้ประสานเครื่องบินพาณิชย์จำนวน 80 ที่นั่ง และเครื่องบินของกองทัพอากาศจะขออนุญาตทำการบินข้ามน่านฟ้าจากประเทศต่างๆ ในการนำคนไทยกลับประเทศ
อัปเดตล่าสุด... เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 12 ต.ค.66
นายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" เปิดเผยหลังประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่า รัฐบาลได้สั่งการขั้นสูงสุด ให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเครื่องบินเพื่ออพยพคนไทยชุดต่อไปกลับบ้าน ไม่ให้ปฏิบัติงานล่าช้า
ด้าน "กองทัพอากาศ" เตรียมเครื่องบินลำเลียง C-130 และ AirbusA-340 ลำถัดไปเพื่อออกปฏิบัติการ ขณะที่ "นกแอร์" มีเครื่องบินพร้อมช่วยเหลือ 2 ลำ ส่วน "แอร์เอเชีย" สนับสนุนช่วยเหลืออีก 2 ลำ ด้าน "การบินไทย" จะแจ้งเครื่องบินที่ว่างให้ทราบในวันที่ 13 ต.ค.66
ด้านพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ แจ้งว่าสถานทูตมีความพร้อมนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงได้วันละ 200 คน ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้วไทยสามารถอพยพคนออกมาด้วยเครื่องบินได้วันละ 1 ลำ แต่ก็อาจล่าช้า ซึ่งอีกหนทางหนึ่งคือ อาจพาคนไทยอพยพไปยังที่ปลอดภัยอื่นๆ เช่น ประเทศใกล้เคียงอิสราเอลอย่างอียิปต์
อ่านเพิ่ม : นายกฯสั่งการสูงสุด พร้อมอพยพคนไทยทุกช่องทาง ย้ำ 1 วัน อพยพได้มากสุด 200 คน