รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66

รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66

ตรวจสอบ อัปเดตความเคลื่อนไหว แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66 ความคืบหน้าจากกระทรวงการต่างประเทศ

กรณี แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส วันนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทย แรงงานไทยผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ สงคราม อิสราเอล-ฮามาส และหลบหนีมาจากพื้นที่อันตราย จำนวน 19 คน

แรงงานไทยกลุ่มนี้เดินทางเที่ยวบินของสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY085 ออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟเวลา 04.30 น. ของวันที่ 13 ต.ค. และจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 17.15 น. ของวันเดียวกัน 

ขณะที่แรงงานไทยที่กลับถึงไทยแล้ว ได้เดินทางกลับถึงภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความดีใจของครอบครัว

เปิดใจ แรงงานไทยคนแรกชาวอุดรธานี กลับถึงบ้านแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุสู้รบระหว่างอิสราเอลและกองกำลังกลุ่มฮามาส มีผู้ได้รับการเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และเมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) แรงงานไทยชุดแรกจากอิสราเอล ที่ประสานขอความช่วยเหลือผ่านทางการไทย เดินทางกลับมาแล้วตามจำนวนที่แจ้งไว้ 15 คน และ 1 ใน 15 คน เป็นชาวอุดรธานี คือ นายไกรสร บัวผาย

ภูมิลำเนาอยู่บ้านหมู่ 2 ตำบลจอมศรี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี จากนั้นสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี ได้จัดรถตู้และเจ้าหน้าที่ พานางสาวปิยะพร สังข์ทอง ภรรยา นายไกรสร เดินทางไป กับ บุตรชาย อายุ 7 ปี เดินทางไปรับที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และกลับถึงอุดรธานีแล้ว เมื่อเวลา 01.44 น. (13 ต.ค. 66)  

 

บรรยากาศที่บ้านของนายไกรสรฯช่วงเช้าวันที่ 13 ตุลาคม 2566 มีญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ช่วยกันทำอาหารต้อนรับ ทั้งนี้เวลาประมาณ 11.00 น. นายอำเภอเพ็ญและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ ให้การช่วยเหลือและแจ้งสิทธิประโยชน์แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศเนื่องจากภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด เป็นการเบื้องต้น

นายไกรสร บัวผาย เล่าเหตุการณ์ให้ทีมข่าวฟังว่า ดีใจที่ได้กลับประเทศไทย เหตุวันนั้นวันที่ 7 ตุลาคม ช่วงเวลา 18.30 น. เกิดเหตุการณ์ยิงกันที่คิงบูธ และแคมป์คนงานหลายจุด มีทั้งระเบิดและการบุกเข้ามากราดยิง จากนั้นก็มีการประกาศแจ้งเตือนของทางรัฐบาลอิสราเอลให้เข้าที่หลบภัย ช่วงกลางคืนในวันเดียวกันเพื่อนที่อยู่อีกที่โทรมาบอกว่ามีคนถูกฆ่าตายจำนวนมาก

จากนั้นตนก็เข้าไปหลบที่บังเกอร์ และมีทหารอิสราเอลได้มาพาแรงงานทั้งหมดออกไปที่หลบศูนย์พักพิงรวมกับคนอิสราเอล แล้วทหารอิสราเอลก็ได้ปูพรมค้นหาผู้ก่อการร้ายกลุ่มฮามาสและทำการสังหาร และก็พาพวกแรงงานคนไทยกลับมาที่เดิม 

 ทั้งนี้ ตนไปทำงานที่อิสราเอลได้ 5 ปีแล้ว อีก 3 เดือนจะครบหมดสัญญาและตนก็ขอเดินทางกลับ ชีวิตที่อยู่ที่นั่นก็ตอนเกิดเหตุก็ลำบากมาก ทำอาหารเสร็จก็ต้องรีบมาหลบที่บังเกอร์ เพราะว่าซึ่งตอนอยู่ระหว่างสู้รบตนก็มีวิธีป้องกันตัว โดยหากเกิดอะไรขึ้นมีไซเรนดังขึ้นทุกคนต้องรีบวิ่งเข้าหลบที่บังเกอร์ทุกคน เหตุการณ์การที่เกิดขึ้น ส่วนตัวรู้สึกเสียใจ จุกอกมีความหวาดระแวง จึงเป็นเหตุให้ตนยื่นคำร้องขอเดินทางกลับ
 

อาหารมื้อแรก แกงอ่อมน้องวัว เปิดใจ 1 ปีถือว่าได้ทุน ส่วนกำไรคือ ชีวิตที่รอดมา

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมาน ไชยโก ผู้เป็นพ่อและนายกิตติพงษ์ ไชยโก แรงงานไทยชุดแรก จาก 15 คน ที่เดินทางกลับ โดยเมื่อคืนนี้ ได้ทางมาถึงที่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านดอนนาดี ต.บ้านขาม อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู เวลา 23:30 น.

เมื่อถึงบ้าน นางหนูพันธุ์ ไชยโก ผู้เป็นแม่เล่าว่า ได้ที่รอบรับอยู่ที่บ้าน รู้ว่าอาหารที่ชอบของลูกชายคือ อ่อมน้องวัว พอดี วัวของญาติพี่น้องคลอดลูกพอดี จึงได้น้องวัวมาแกงอ่อมไว้รอ รับลูกชาย เมื่อลูกชายมาถึงก็ได้กอดกันจนร้องไห้ และรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ได้เข้านอน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเวลาดึกแล้ว

รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66

สำหรับในช่วงเช้าของวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ทางด้านพ่อแม่ญาติพี่น้องภายในหมู่บ้านทยอยเดินทางมาร่วมให้กำลังใจโดยการผูกข้อมือเป็นการเรียกขวัญให้กับนายกิตติพงษ์ ไชยโก หรือโบ้ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่นท่ามกลางญาติพี่น้องที่เดินทางมาถามข่าวคราวแต่ละคนต่างบอกว่าบุญแล้วที่รอดชีวิตกลับมา โดยญาติพี่น้องที่เดินทางมาถึง ก็จะทำการผูกข้อมือเรียกขวัญถามข่าวคราวให้กำลังใจ ตลอดช่วงเช้า โดยมีญาติพี่น้องมาร่วมกันจัดเตรียมอาหารเช้าตอนรับญาติพี่น้องที่เดินทาง มาให้กำลังใจ ซึ่งมีอาหารพื้นบ้านอีสาน มี ลาบ ก้อย แกงหน่อไม้

นายกิตติพงษ์ ไชยโก ก็ได้เล่าถึงนาทีเหตุการณ์ นาทีชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงที่หลบภัยอยู่ในหลุมหลบภัย ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังอยู่ตลอดเวลา นอนจับมือกันกับเพื่อน 3 คน คิดว่าตัวเองไม่รอดแล้ว ส่วนที่คอ พระที่ห้อยคอตลอดเวลาคือหลวงปู่เจริญ วัดหนองวัวซอ จ.อุดรธานี กับตีนซิ่นของแม่ ในชุดกางเกงกีฬาขาสั้น เวลาจะเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งก็ต้องหมอบไปตลอด ซึ่งก็ยังดีอยู่

หลุมหลบภัยที่ตัวเองอยู่นั้นมีทหารอิสราเอล อยู่ด้านหน้า ส่วนเพื่อนคนงานไทยอีก 6 คน อยู่ห่างกันประมาณ 20 เมตร ซึ่งตรงนั้นอาจะไม่มีทหารอิสราเอล ทำให้พวกฮามาสเข้ามายิงเพื่อนคนจนเสียชีวิต 

นอกจากนั้น นายกิตติพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ชีวิตที่ผ่านมาไปขายแรงงานในต่างประเทศมาตลอด เพราะอยู่บ้านทำงานก็พอแค่ได้กิน ไม่ได้เงินก้อนเหมือนการไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ได้ปี 1 ปี 2 เดือน ด้วยทุนตนเอง แต่สิ่งที่ไปในครั้งนี้ทุนก็พอได้จาก 1 ปีที่ทำงาน

ส่วนกำไร คือ กำไรชีวิต ที่เอาชีวิตรอดมาได้ และดีใจมากที่ได้กลับมาบ้านที่เมืองไทย ตอนติดอยู่ในหลุมหลบภัยคิดว่าตัวเองไม่รอดแล้ว และคิดว่า คงจะไม่กลับไปแล้วที่อิสราเอล ส่วนเรื่องที่สัญญาทำไว้กับกรมจัดหางาน ที่ยังไม่ครบกำหนด 5 ปี นั้น ก็ทราบว่าทางรัฐบาลกำลังปรึกษากับทางหน่วยงานของ กรมจัดหางานให้อยู่  แต่ก่อนกลับมา นายจ้างที่ประเทศอิสราเอลก็บอกว่า หากสถานการณ์สงบจะติดต่อกลับมาให้ไปทำงานอีกอยู่

ทางด้าน นายสมาน ไชยโก ผู้เป็นพ่อก็บอกว่า รู้สึกดีใจสุดๆที่ลูกชายกลับมาด้วยความปลอดภัย พ่อแม่ก็ดีใจสุด คุณพระรักษา จนร้องไห้ดีใจที่ได้กอดลูกเมื่อเดินทางมาถึงสนามบิน เพราะว่ามันตื่นตัน หัวอกของพ่อแม่ ทุกคนก็จะรู้ว่าหัวอกของพ่อแม่รักลูกเป็นอย่างไร ญาติพี่น้องตุ้มหุ้มก็ดีใจ  ดีใจมากที่ลูกได้กลับมาบ้านถึงบ้านด้วยความปลอดภัย คุณพระรักษาคุ้มครองลูก พอลูกลงจากเครื่องบินก็ได้สวมกอดจนน้ำตาไหลและผูกข้อมือให้กับลูกเป็นการรับขวัญแล้วที่สนามบิน ซึ่งปกติตัวพ่อเองก็เป็นนักรบแรงงานอีกคนหนึ่งที่เกือบตลอดชีวิตก็ไปทำงานต่างประเทศมาตลอด ตั้งแต่ปี 2528 แต่สำหรับประเทศอิสาราเอลก็คงจะไม่ให้ไปอีกแล้ว แต่สำหรับประเทศใหม่ก็แล้วแต่เขา

ส่วนนางหนูพันธุ์ ไชยโก ผู้เป็นแม่ ได้กล่าวว่า เมื่อลูกมาถึงก็ได้วิ่งเข้ากอดด้วยความดีใจทั้งลูกและแม่ก็ร้องไห้ ดีใจไม่มีอะไรเท่าที่ได้เห็นหน้าลูก และรู้ว่าลูกชายชอบกินน้องวัว พอดีวัวของน้องสาวตกลูกก็เลยนำมาทำแกงอ่อมน้องวัวเตรียมไว้รอ

ส่วนเช้านี้ก็มีอาหารประเภทลาบ ก้อย แกงหน่อไม้ หลังจากนี้แล้ว ในวันพุธ ที่จะถึงนี้ ก็จะได้นำเครื่องไปแก้บนให้กับปู่หลุบศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน มีเหล้าไห ไก่ตัว ตามประเพณี วันนี้รู้สึกอบอุ่นใจที่เห็นญาติพี่น้องมาถามข่าวคราวไม่ได้ขาดระยะ
 

ถึงบ้านกลางดึก แรงงานไทยอิสราเอล แม่ตั้งตารอ

จากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล จนมีการดำเนินการส่งเครื่องบินไปรับตัวคนไทยกลับถึงประเทศไทยช่วงสายวานนี้

รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี นานวิชัย คำศรี อายุ 40 ปี เป็น 1 ในกว่า 700 คน ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางกลับมาถึงบ้านเกิดที่ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดมเมื่อช่วง 02.00 น. วันนี้

โดยมีนางสมัย พัดทอง อายุ 64 ปี มารดา พร้อมครอบครัวให้การต้อนรับพร้อมทั้งโผเข้ากอดกันด้วยความดีใจ และนำสายฝ้ายมาผูกข้อมือเพื่อรับขวัญลูกชายทันทีที่ลงจากรถตู้ของเจ้าหน้าที่แรงงานอุบล

ส่วนกำหนดการของของครอบครัวหลังจากที่กลับมา นางสมัยเปิดเผยว่า วันนี้จะให้ทางลูกชายพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนส่วนญาติและเพื่อนบ้านจะเตรียมสถานที่เพื่อจัดงานบายศรีผูกขวัญในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ 14 ต.ค. โดยจะมีนายอำเภอและส่วนราชการมาร่วมพิธี 

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ที่สมัครไปทำงานที่ประเทสอิสราเอล ผ่านกระทรวงแรงงานทั้งหมด 719 คน เป็นชาย 700 คน หญิง 19 คน มีรายงานผู้บาดเจ็บเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี 1 คน เสียชีวิต 1 คน และ ไม่ได้รับอันตราย 1 คน คือนายวิชัย คำศรี ที่เพิ่งเดินทางกลับมาถึงบ้านเกิดวันนี้
 

แชทข้ามประเทศ ยืนยันรอดชีวิตกับเพื่อนรวม 32 คน

จังหวัดนครพนม ยังคงมีแรงงานไทยในอิสราเอลจำนวนมาก ที่พยายามติดต่อผ่านแชทเฟซบุ๊ก ด้วยการวีดีโอคอลมาแจ้งข่าวทางญาติพี่น้องและครอบครัว นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัฐบาลอิสราเอล กับ กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ สงครามการต่อสู้ยืดเยื้อมาเวลา 1 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีท่าทีจะสงบลงแต่อย่างใด

รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66

จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานจังหวัดนครพนม พบยอดคนขายแรงงานชาวนครพนมในอิสราเอล รวมกว่า 2,100 คน และมีแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนในฉนวนกาซา ตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง รวมกว่า 330 คน ส่วนคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันขาดการติดต่อ มีเพิ่มเป็นจำนวน 5 คน รวมถึงมีบางคนที่ญาติ ไม่สามารถติดต่อได้ โดยไม่ทราบชะตากรรม ว่า เป็นตายร้ายดีอย่างใด 

ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอล ที่ประสบภัยสงคราม อยู่ในพื้นที่เสี่ยง พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านมายังญาติพี่น้อง รวมถึงคนรู้จัก เพื่อช่วยติดต่อเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สถานทูต ทั้งรัฐบาลไทย รวมถึงรัฐบาลอิสราเอล เข้าไปช่วยเหลือกรณีติดอยู่ในพื้นที่สีแดง ถือเป็นชายแดนที่มีการสู้รบของทหารกับกองกำลังติดอาวุธหนัก

 เฉกเช่น นายชลวิทย์ สุธา อายุ 30 ปี มีชื่อเล่นว่าโอเล่ แรงงานไทยชาวบ้านกอก หมู่ 5 ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ได้แชทวีดีโอคอลมายืนยันความปลอดภัย และสะท้อนความเป็นอยู่ของกลุ่มเพื่อนแรงงาน ที่ร่วมชะตากรรมด้วยกันรวม 32 คน โดยมีชาวนครพนมอยู่ 5 คน ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอล นำไปอยู่ในศูนย์อพยพพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรอคิวเดินทางกลับไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ นายชลวิทย์ สุธา หรือ โอเล่ ได้เปิดเผยผ่านแชทวีดีโอคอลเฟซบุ๊ก พร้อมส่งคลิปสภาพความเป็นอยู่ นาทีชีวิตหลบภัยสงคราม และเปิดใจผ่านสื่อ ว่า ตนไปทำงานที่ฟาร์มเกษตร รวม 4 ปี จากกำหนดสัญญารวม 5 ปี และเหลืออีก 1 ปี ก็จะครบสัญญาว่าจ้าง หวังโกยเงินจากหยาดเหงื่อเพื่อไปสร้างฐานะครอบครัวที่ไทย แต่เกิดภัยสงครามก่อน ต้องยอมทิ้งเงินเพื่อเอาชีวิตรอดกลับไปดูแลครอบครัว 

นายโอเล่เล่าว่าเท่าที่ทราบ เหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงที่สุดที่เกิดความขัดแย้งในประเทศอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เพราะช่วงที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุปะทะ แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งนี้ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ มีการโจมตี ทั้งทางอากาศ รวมถึงทางบก ที่สำคัญกลุ่มฮามาสหัวรุนแรง บุกจู่โจมเข้าทำร้ายกราดยิงแรงงานไทย ใครโชคดีรอดชีวิต โชคร้ายถูกฆ่าตาย โดยไม่ทันตั้งตัว และเป็นการก่อเหตุที่โหดเหี้ยม 

ตนว่าโชคดีที่ยังสามารถติดต่อญาติพี่น้อง รวมถึงได้ติดต่ออาจารย์ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยนครพนม ผ่านแชทเฟซบุ๊ก เพื่อช่วยเป็นธุระประสานงานทางสถานทูต ให้ทางการทหารอิสราเอล เข้าไปช่วยเหลืออพยพย้ายออกมาจากชายแดนพื้นที่สีแดง โดยระหว่างวีดีโอแชทตัวเองต้องหลบภัย ซ่อนตัวอยู่ในโรงงาน ถูกตัดน้ำตัดไฟ ขาดแคลนอาหาร มา 3-4 วัน ต้องคอยวิ่งหลบลูกปืน หลบระเบิดจ้าละหวั่น

 ซึ่งในกลุ่มเพื่อนแรงงานไทย มีอยู่ด้วยกันรวม 32 คน ล่าสุดมีทหารอิสราเอลฝ่ากระสุน ช่วยเหลือออกมาปลอดภัยทั้งหมด และได้คิวกลับไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นี้ นายโอเล่ากล่าวต่อว่าถึงเหลือสัญญาอีก 1 ปี หรือสงครามสงบลง ก็ไม่ขอทำงานต่อ ถึงเงินค่าแรงจะมากขนาดไหน ขอเลือกเอาชีวิตรอดกลับไปดูแลครอบครัว และไม่ขอกลับมาทำงานอีก ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดนี้ อยากกลับไทยให้เร็วที่สุด เพราะสงครามครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการรบระหว่างทหารเท่านั้น แต่เป็นการเข่นฆ่าแรงงานไทยแบบโหดเหี้ยม ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

ซึ่งนายโอเล่เล่าด้วยความตื่นเต้นเพิ่มเติมว่า หลังจากทหารอิสราเอลนำตัวคนงานไทยทั้ง 32 คนออกจากโรงงานได้ไม่ถึง 30 นาที ปรากฏว่ามีระเบิดถล่มโรงงานเสียหายยับเยิน ส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มก่อการร้าย จับพิกัดด้วยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางการอิสราเอล ตัดสัญญาณการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยจะปล่อยคลื่นออกมาเป็นพัก ๆ 

ด้านนายสนธยา คำจันทร์ อายุ 40 ปี อดีตเป็นพนักงานราชการ ทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนม ปัจจุบันเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครพนม เปิดเผยว่าช่วงเกิดเหตุ ตนได้ติดตามข่าวสาร เหตุสงครามในประเทศอิสราเอลตลอด และมีความเป็นห่วงหลังทราบข่าวลูกศิษย์ คือ นายโอเล่ ชาว อ.ปลาปาก จ.นครพนม ที่ไปทำงานฟาร์มเกษตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กขอความช่วยเหลือ ก่อนที่จะทักแชทไปสอบถามความเป็นอยู่ และลูกศิษย์ขอให้ช่วยประสานทางรัฐบาลไทย รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องสถานทูต และฝ่ายรัฐบาลอิสราเอล นำทหารเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมแจ้งพิกัดที่อยู่หลบภัย จึงได้แจ้งข้อมูลไปยังสถานทูต ประสานการช่วยเหลือ ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงทราบข่าว ลูกศิษย์ได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอล ดีใจมาก และขอให้ได้รับการช่วยเหลือกลับไทยโดยเร็ว ตนคิดว่าสำคัญที่สุดจะต้องเร่งช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอีกจำนวนมาก หากปล่อยไว้นานกลัวไม่ปลอดภัย 
 

เปิดภาพนาทีแม่ร่ำไห้ กอดลูกปลอดภัยจากสงครามอิสราเอล

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เวลา 03.00 น. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน บ้านเกิดของนายสมบูรณ์ แซ่ว่าง อายุ 33 ปี แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศอิสราเอล หนึ่งในแรงงานไทยชุดแรกที่กลับมาโดยการช่วยเหลือจากภาครัฐของประเทศไทย

รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66

ที่หน้าบ้าน นางทิพประภา แซ่ว่าง อายุ 68 ปี มารดาของนายสมบูรณ์ ได้ตื่นมาแต่งตัวรอ หลังเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดน่าน โทรศัพท์แจ้งว่าเดินทางมาถึงอำเภอปัวแล้ว

แม่ทิพประภา เผยว่านอนไม่หลับมา 5 วันแล้ว วันนี้ได้นอนหลับเป็นวันแรกหลังลูกชายถึงสนามบินแล้วโทรมาบอก หลังแต่งตัวเสร็จก็นำเก้าอี้มานั่งรออยู่บริเวณหน้าบ้าน ผุดลุกผุดนั่งเดินไปชะเง้อมองถนนหน้าบ้าน

จนเวลา 03.40 น. รถตู้ของสำนักงานจัดหางานจังหวัดน่าน ที่ออกเดินทางไปรับนายสมบูรณ์จากกรมการจัดหางานขับเข้ามาในซอย แม่ทิพประภาได้กึ่งเดินกึ่งวิ่งออกไปรับลูกที่กำลังลงจากรถ พร้อมเข้าสวมกอดกันร้องไหเป็นน้ำตาแห่งความปิติ จากนั้นได้พากันเข้าไปในบ้าน โดยแม่ทิพประภาได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดและทุกท่านที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือ นำลูกชายกลับมาจากประเทศอิสราเอล

"ขอบคุณประเทศอิสราเอลและประเทศไทย ทำดีที่สุดเลยได้ช่วยให้ลูกชายของแม่กลับมา แม่ดีใจมาก แม่อยากพูดอะไรหลายๆ อย่างมันอยู่ในใจ มันเยอะจนพูดไม่ออก" แม่ทิพประภา 

ด้านนายสมบูรณ์ แซ่ว่าง เล่าเปิดใจกับผู้สื่อข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนได้ไปทำงานที่จุดดังกล่าว ตนเองได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ประมาณ 7 เดือน ซึ่งเมื่อไปถึงนายจ้างก็ส่งไปทำงานดูแลระบบน้ำที่แคมป์คนงานที่จะอยู่ห่างจากฉนวนกาซ่า ประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร อยู่ติดกับค่ายทหารประมาณ 10 เมตร

โดยเหตุการณ์ที่ตนเองรอดชีวิตกลับมาได้ เป็นความโชคดีที่แคมป์คนงานของตนเอง อยู่ในพื้นที่กันดาร ไม่มีไฟและมีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนน้อย ประกอบกับอยู่ติดกับค่ายทหาร ซึ่งตนเองไปอยู่รวมกับคนไทยทั้งหมด 11 คน แต่รอดชีวิตกลับออกมาแค่ 5 คน ก่อนเกิดเหตุประมาณ 5 วัน นายจ้างได้เข้ามาแจ้งว่าอาจจะมีการโจมตีกันอีกระหว่างกลุ่มฮามาสกับประเทศอิสราเอล ตนก็คิดว่าคงเป็นการโจมกันเหมือนปกติทุกครั้งคือกลุ่มฮามาสยิงจรวดมาและประเทศอิสราเอลก็ใช้ไอออนโดรนสกัดเหมือนทุกครั้ง แต่เหตุการณ์ในวันนั้น หลังจากมียิงจรวดทีเดียวหลายร้อยนัดจนทำให้ไอออนโดนนไม่สามารถสกัดได้ทัน จู่ๆไฟก็ดับสัญญาณโทรศัพท์ก็ถูกตัดสัญญาณ จากนั้นก็มีทั้งเสียงปืนเสีงระเบิดดังขึ้นทุกทิศทุกทาง มีการโจมตีทั้งจากทางอากาศและภาคพื้น

นายจ้างจึงแจ้งให้ทุกคนให้เข้าไปหลบในห้องนิรภัย ตนเองกับคนงานอีก 4 คน เข้าไปหลบอยู่ในห้องติดกัน ซึ่งตนเองอยู่ในห้องกับคนไทยอีกหนึ่งคน อีก3คนแยกไปอยู่อีกห้อง ส่วนคนไทยอีก 6 คนที่เสียชีวิตหลบไปอยู่ห้องนิรภัยที่หลังห้องของตนเอง ข้างกอไผ่ซึ่งเหตุการณ์ในคืนนั้น เท่าที่ได้ยิน ในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มตามเวลาในประเทศอิสราเอล ได้ยินเสียงปืนจากกลุ่มฮามาส ได้ยิงถล่มมาที่ห้องนิรภัยที่คนไทยซ่อนตัวอยู่ กระทั่งผ่านไปประมาณ 30 นาที ก็ได้ยินเสียงเท้าของกลุ่มฮามาส เข้ามาใกล้ห้องนิรภัย ซึ่งเท่าที่ได้ยิน พวกเขาพยายามที่จะดึงหน้าต่างที่อยู่ด้านหลัง

เนื่องจากหลังได้ยินเสียงประตูเปิด ตนเองได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีกชุด พอเสียงปืนเงียบ กลุ่มฮามาส ก็ได้เดินกลับมาพยายามเปิดประตูห้องตนเองอีกครั้ง ซึ่งจังหวะนั้นในใจคิดว่ายังไงก็จะไม่เปิดประตูออกไป กระทั่งตนเองได้ยินเสียงรถถังเข้ามาใกล้แคมป์คนงาน แล้วก็ได้ยินเสียงปืนถล่มเข้ามาหน้าประตูห้อง ซึ่งตนเองเข้าใจว่า ทหารของอิสราเอล ยิงใส่กลุ่มฮามาส เพื่อสกัดไว้ไม่ให้กลุ่มฮามาส พังประตูเข้ามาจับตนเอง

จากนั้นเมื่อสิ้นเสียงปืน และเวลาล่วงเลยไปถึงตี 1 ตนเองก็ได้ยินเสียงเท้าเข้ามาที่หน้าห้องอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็มีคนมาเคาะประตูห้อง แต่ไม่ยิงเข้ามา ตนเองจึงเอียงหูไปฟังว่าใครมาเคาะประตู ซึ่งปรากฎว่า เสียงที่คุยกันอยู่หน้าประตู เป็นภาษาอิสราเอล ตนเองจึงตัดสินใจเป็นประตูออกไป ทำให้ทหารอิสราเอล ช่วยออกมาได้ ซึ่งก่อนที่ตนเองจะเดินไปขึ้นรถถังของทหารอิสราเอล ทางทหารได้บอกให้ไปเรียกคนไทยมาขึ้นรถ แต่ปรากฎว่าเมื่อตนเองเดินไปเรียก มีคนไทยห้องข้างๆรอดชีวิตอยู่ในห้องแค่ 2 คน ส่วนอีก 6 คน ถูกยิงเสียงชีวิตอยู่ในห้องนิรภัย ทั้งนี้ประตูนิรภัยเป็นประตูที่ไม่สามารถล็อกจากด้านในได้ จากนั้นทางครอบครัวได้ขอเวลาเป็นการส่วนตัวเพื่อพักผ่อน จากนั้นแม่ทิพประภาได้พาลูกชายไปนอนพักอยู่ห้องเดิม

โดยในวันนี้ แม่ทิพประภาจะทำต้มข่าไก่ของโปรดของลูกชายให้ลูกชายกินเป็นอาหารมื้อแรก และเวลาประมาณ 13.00 น. จะมีพิธีสู่ขวัญโดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเข้าร่วมงานอีด้วย สำหรับวันนี้จะมีแรงงานไทยชุดที่ 2 เดือนทางกลับมาอีก 12 คน โดย 2 คนเป็นชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดน่าน เป็น 2 พี่น้องกัน โดยคนพี่ได้รับบาดเจ็บที่ขา โดยเครื่องบินจะมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

กาฬสินธุ์ - แรงงานไทยในอิสราเอลวิดีโอคอลระทึก ขีปนาวุธยิงข้ามหัวแต่ขอทำงานต่อ เสียดายเงินเดือนแสน

 

วันนี้ (13 ต.ค.66) ที่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 2 บ้านแก ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายบุญเคน ภูครองหิน ผู้ใหญ่บ้านบ้านแก หมู่ที่ 2 ได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับครอบครัวของนายอาทร ดวงจันดี อายุ 33 ปี ที่ไปขายแรงงานในเมือง ASHDOD ตอนใต้ของประเทศอิสราเอล ใกล้ฉนวนกาซา โดยเป็นการเยี่ยมให้กำลังใจและสอบถามความต้องการตามนโยบายกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่

 

ทั้งนี้ได้มีการพบปะพุดคุยกับนางสาวทัศนีย์ ภูครองแถว อายุ 30 ปี ภรรยานายอาทร พร้อมญาติ ซึ่งกำลังวิดีโอคอลกันอยู่พอดี ในระหว่างที่วิดีโอคอลพูดคุยกันนั้น นายอาทรกำลังเตรียมตัวไปทำงาน โดยบอกว่าตอนนี้พักอาศัยอยู่ในหลุมหลบภัย หลังจากตนและเพื่อนแรงงานไทยจำนวน 200 ชีวิตอพยพมาพักอยู่ โดยทหารอิสราเอลพาอพยพมาจากแนวชายแดนฉนวนกาซาเมื่อคืนวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดที่มีความปลอดภัยสูง 

นายอาทร กล่าวว่า ตนเพิ่งมาทำงานที่อิสราเอลเมื่อเดือน มิ.ย.66 เพิ่งได้แค่ 4 เดือน โดยมาเป็นช่างประกอบท่อ เงินเดือนประมาณ 1 แสนบาท เหลือสุทธิประมาณ 8 หมื่นบาท สัญญาจ้างปีต่อปี หากจะให้เดินทางกลับช่วงนี้คงไม่ได้ เพราะเพิ่งมาทำงาน หนี้สินที่กู้เพื่อเดินทางมาทำงานยังเหลือเป็นแสน เพื่ออนาคตจึงขอเลือกที่จะทำงานต่อ แม้อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย หากกลับบ้านคงตกงานและต้องแบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก อีกอย่างทำงานที่นี่รายได้ดีกว่าทำงานในเมืองไทยหลายเท่าตัว หากกลับไปก็เสียดายเงินเดือน โดยเฉพาะสาเหตุที่อยากจะอยู่ต่อคือมั่นใจว่ามีความปลอดภัย เพราะอยู่ห่างไกลจากจุดสู้รบประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงแม้จะมีขีปนาวุธลอยข้ามหัวทั้งวันทั้งคืนก็ตาม

ขณะที่ นางสาวทัศนีย์ ภรรยานายอาทร กล่าวว่า ตนและญาติทุกคนรู้สึกเป็นห่วงนายอาทรมาก เพราะกลัวจะได้รับอันตราย ก็ได้แต่หาเวลาว่างวิดีโอคอลพูดคุยกันเป็นประจำ เพื่อให้กำลังใจกันและกัน ใจจริงอยากให้สามีกลับมา แต่ในเมื่อเขาตัดสินใจที่จะทำงานต่อ เพราะมั่นใจในความปลอดภัยก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของสามี อย่างไรก็ตามก็ยังอดที่จะรู้สึกสะเทือนใจไม่ได้ที่ทราบว่าแรงงานไทยคนอื่นขอเดินทางกลับบ้าน แต่สามีของตนกลับยังอยากจะทำงานที่อิสราเอลต่อ ตนก็ทำได้แค่วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย ทั้งนี้ทราบว่ากลุ่มแรงงานไทยที่ทำงานอยู่กับสามีจำนวน 200 คนนั้น ขอเดินทางกลับเพียง 12 คน

 

รวมทุกประเด็น แรงงานไทย ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 13 ต.ค. 66