แนะรัฐเร่งลงทุนในทุนมนุษย์ให้ตรงจุด หนุนแรงงานทักษะสูง
4 สถาบันวิชาการ กสศ. TDRI – PIER - WORLD BANK แนะรัฐเร่งลงทุนในทุนมนุษย์ให้ตรงจุด ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา หนุนแรงงานทักษะสูง ปลดล็อคไทยออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ เพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 และผลงานวิจัยการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ในประชากร 3 ช่วงวัยสำคัญของประเทศ ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองของนักวิชาการจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับทิศทางนโยบายของประเทศไทย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ในวันนี้ต้องเปลี่ยนไป ในบริบท และเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย หรือ เด็กเยาวชนให้หลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า นอกจากนี้อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เราจะเหลือเด็กเยาวชนให้ลงทุนได้น้อยลงทุก ๆ ปี ทุก ๆ วัน
“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะทยอยครบกำหนดในอีก 5-7 ปี หากไม่เร่งลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ลงทุนมนุษย์ ประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง
ทั้งนี้ การลงทุนในทุนมนุษย์คือกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน 40% เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ
จากการประเมินขององค์การ UNESCO พบว่าหากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถึง 3%
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และจะอยู่ยากมากขึ้น ทั้งเรื่องเทคโนโลยีใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมหากเราไม่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การพัฒนาทุนมนุษย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางอยู่บนชุดข้อมูลที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นและแก้ไขปัญหาภาพรวมและเชิงระบบได้ ส่วนในระดับหน่วยย่อยนั้นอาจจะมีความยากกว่า เพราะจำเป็นต้องลงไปแก้ไขเป็นรายกรณีไป
ผลักดันฝ่ายการเมืองให้นำทรัพยากรมาใช้ในทางที่ถูกต้อง
เป้าหมายในการพัฒนาทุนมนุษย์ต้องตั้งคำถามก่อนว่า เราอยากเห็นคนไทยมีทักษะแบบไหน เช่น อยากเห็นคนตกหล่นน้อยลง ช่วงวัยเด็กเล็กจะมีชุดทักษะแบบหนึ่ง วัยเยาวชนไปถึงวัยผู้ใหญ่จะมีชุดทักษะอีกแบบหนึ่ง การประมวลข้อมูลจะช่วยให้เห็นว่าควรมีการพัฒนาทักษะต่อไปอย่างไร และจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีตัวอย่างและรูปแบบการดำเนินการในหลายกรณีที่เกิดผลเป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ภาครัฐจะต้องเข้ามาร่วมส่งเสริมผลักดันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีตอนนี้คือประเทศไทยเริ่มมีต้นแบบหลาย ๆ ตัวอย่าง เช่น รายงานความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษาที่ กสศ. กับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ไปทำงานพื้นที่มา ประเด็นสำคัญก็คือแล้วเราจะเอาข้อค้นพบต่าง ๆ มา Scale up ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศยังไง อันนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด
"ต้องช่วยกันผลักดันฝ่ายการเมืองให้นำทรัพยากรของรัฐมาใช้ในทางที่ถูกต้อง ยึดโยงทั้งข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลเชิงปฏิบัติจากในพื้นที่ โดยเห็นด้วยว่า ทางรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ ปิดช่องว่างความเหลื่อมทางการศึกษา หากรัฐบาลนำงบประมาณหลักมาแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น"
ทั้งนี้ ควรนำเอาโครงการหรือต้นแบบที่ดี ซึ่งเรามีอยู่แล้วเป็นจำนวนมากมาสานต่อ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย โดยไม่จำเป็นต้องออกนโยบายใหม่เสมอไป
แรงงานไทยทักษะสูง ได้ค่าแรงตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น
ดร.นฎา วะสี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มองนโยบายการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องลงทุนตั้งแต่ยังเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะก่อนอายุ 18 ปี เสมือนการสร้างคน 1 รุ่นขึ้นมาให้มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ดร.นฎา ชี้ว่าจากตัวเลขในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ผู้หญิงได้รับการศึกษามากกว่าแต่ก่อน เข้ามาทำงานในตลาดแรงงานสูงขึ้น แต่ภาพรวมที่ยังน่ากังวลอยู่ก็คือเรามีอุปสงค์หรือต้องการคนทักษะสูง แรงงานในตลาดงานมีทักษะมากขึ้น ทว่าแรงงานที่มีทักษะสูงกลับได้ค่าแรงตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าเราจะสร้างงานอย่างไรให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
“เราควรจะเห็นค่าจ้างสูงขึ้น ที่ผ่านมาโอกาสที่จะมีงานที่ดีและรายได้สูงมีไม่ค่อยเยอะ ปัจจุบันงานที่มีรายได้สูงเช่นแพทย์ วิศวกร มีอยู่ประมาณ 13% คนจบปริญญาตรีมีอยู่ประมาณ 22% ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา งานทักษะสูงอาจจะมี 54% ฉะนั้นภาพที่เราเห็นตลอด 30 ปี กลับกลายเป็นว่าคนจบปริญญาตรีจำนวนเพิ่มขึ้นย้ายไปทำงานระดับกลาง ๆ แล้วก็รายได้ไม่สูงนัก คนจบมัธยมก็ไปทำงานใช้ทักษะที่ต่ำลง ”
ดร.นฎา ทิ้งท้ายว่า การสร้างทุนมนุษย์จะต้องมองให้ไกลมากกว่าการศึกษา เพราะยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เช่นแรงจูงใจของทุกฝ่าย เพื่อให้การสร้างทุนมนุษย์ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในทุกด้าน
กำหนดนโยบายใหม่ พัฒนาทุนมนุษย์วัยแรงงาน
นายโคจิ มิยาโมโต (Mr.Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก (World Bank) ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเครื่องมือวัดผล เพื่อให้เกิดความสะดวกและแม่นยำในการแบบออกนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทุนมนุษย์ประชากรวัยแรงงาน
มิยาโมโตเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า คุณเชื่อไหม หากตนบอกว่า วัยแรงงานชาวไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านฉลากและเข้าใจข้อมูลข้างขวดยานี้ได้ แม้ข้อมูลนี้อาจฟังดูน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่หากไร้การประเมินหรือไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจน คนส่วนใหญ่ก็อาจได้รับชุดข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และหากจะนำเสนอออกมาเป็นนโยบาย ก็อาจทำให้คลาดเคลื่อนและสิ้นเปลืองงบประมาณได้
ทั้งนี้ กระบวนการทำงานจะมีขั้นตอนสำคัญเริ่มจาก 1) กำหนดนโยบาย 2) การดำเนินนโยบาย 3) ติดตามและประเมินผล และ 4) กำหนดวาระ จากนั้นจึงค่อยย้อนกลับไปสู่ขั้นตอนการกำหนดนโยบายใหม่ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้นักการศึกษาได้ประโยชน์เพื่อใช้ในการออกแบบกิจกรรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมร่วมไปด้วย
มิยาโมโตเสนอด้วยว่า ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ สั่งสม เสมือนการปั้นหิมะแล้วปล่อยให้กลิ้งลงจากเนินเขา ซึ่งก็จะค่อยๆ สะสมหิมะขึ้นมาเป็นก้อนใหญ่ ฉะนั้นโปรแกรม PISA ที่ได้ทำการประเมินผลเยาวชนอายุ 15 ปี จึงหมายความว่าเป็นการประเมินผลทักษะที่สะสมมาตลอด 15 ปี แต่ในความเป็นจริง เราจำเป็นต้องเก็บผลการประเมินต่อเนื่องไปอีกหลังจากพ้นอายุ 15 ปีไปแล้ว
ธนาคารโลกได้จัดทำร่วมกับ กสศ. จนเป็นที่มาของโครงการวิจัยมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน (Fundamental School Quality Levels: FSQL) และโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT) ได้มีการสำรวจทักษะประชากรวัยแรงงานในระดับครัวเรือน
โดยใช้ตัวอย่างการศึกษามากถึง 7,312 ครัวเรือน ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และภาคใต้ ภายในกรอบระยะเวลาช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อวัดผล 4 มิติหลัก ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะทางสังคม และทักษะด้านอารมณ์ นอกจากนั้นยังมีการประเมินจากภูมิหลังของแต่ละบุคคลและครอบครัวกลุ่มตัวอย่างอีกด้วย
ผลลัพธ์ของการประเมินในโครงการดังกล่าวจะเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นการประเมินผลทักษะของประชากรแรงงานไทยอย่างครอบคลุมมากที่สุดครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นการประเมินผลเพื่อหาอุดช่องว่างทางทักษะครั้งแรกในกลุ่มประชากรรายได้ปานกลาง-สูง