'ปลัดแรงงาน' ชี้การว่างงานไทยลดลง
ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้การว่างงานไทยลดลง
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผย ภาพรวมเศรษฐกิจแรงงานไทยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ขณะนี้ มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,842,335 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา (ปี 2565 มีจำนวน 11,462,256 คน) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 11,788,218 คน )
ส่วนสถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคม ในเดือนกันยายน 2566 นั้น มีผู้ว่างงาน จำนวน 229,070 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ลดลง ร้อยละ -7.58 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 247,846 คน)
โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ มีจำนวน 74,067 คน ลดลงร้อยละ -8.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ -12.64 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 74,067 คน)
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.90 และอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนกันยายน 2566อยู่ที่ร้อยละ0.8%
ขณะที่ ตัวเลขผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง จากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 36,260 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลง ร้อยละ -0.29 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนอัตราการเลิกจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.30
ด้านสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ส่งผลถึงการจ้างงานในประเทศนั้น พบว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP Annual Growth Rate) ในไตรมาส 2ของปี2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของไทยเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งคาดว่า เป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เช่นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่านักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย
ขณะที่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว และตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง “ภารกิจของกระทรวงแรงงาน มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายและงานหลักสำคัญของกระทรวงแรงงาน
อย่างไรก็ดี ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้มีนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันดำเนินการในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถและให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเเรงงานทักษะสูงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังขาดแคลนอยู่มาก ในขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อการมีงานทำของไทยมากขึ้น ” นายไพโรจน์ กล่าว