คุณสมบัติ หน้าที่บอร์ดประกันสังคม นายจ้าง-ผู้ประกันตน รู้ไว้ก่อนเลือกตั้ง
คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่บอร์ดประกันสังคม นายจ้าง-ผู้ประกันตน ม.33 , ม.39 และ ม.40 ในระบบประกันสังคม รู้ไว้ก่อนเลือกตั้งประกันสังคม 2566 ที่มีกำหนดขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566
เช็กคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่บอร์ดประกันสังคม ผู้สมัครเลือกตั้งประกันสังคม 2566 ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรถึงจะลงสมัครได้ และเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคมจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้างในการเข้าไปทำงานเป็นตัวแทนหรือผู้แทนกลุ่มนายจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 , ม.39 และ ม.40 ในระบบประกันสังคม
ประกันสังคม เปิดรับสมัครเลือกตั้งเข้าบอร์ดประกันสังคม ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ ที่ตั้งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ต่อไป
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 – 16.00 น.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือ
- ผู้ประกันตนมาตรา 33
- ผู้ประกันตนมาตรา 39
- ผู้ประกันตนมาตรา 40
- นายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม
ผู้ประกันตน 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนได้ 7 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างได้ 7 คน เช่นกัน ทั้งนี้ ต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566
อ่านข่าว : อย่าลืม! ลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 2566 คืออะไร ทำไมต้องเลือก
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และไม่ใช่เรื่องไกลตัว จะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตามพระราชบัญญัติ
2. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ
3. วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
4. วางระเบียบเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
5. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม
6. ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการ/สำนักงานประกันสังคม
7. ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมาย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมาย
สำนักงานประกันสังคม ได้เปิดรับสมัครให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 25 – 31 ตุลาคม 2566 ณ ที่ตั้งสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด
สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ดังนี้
1.จะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง
2.ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
3.ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
4.ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
5.ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
6.ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
7.ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
8.ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถานประกอบกิจการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่
9.ไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
10.ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในวันและเวลาราชการ