แรงงานปี 67 เปราะบางสูง AI แทนแรงงานสายผลิตซ้ำ แนะปั้นคนเชี่ยวทักษะ AI
สถานการณ์แรงงานไทยปี 67 เปราะบางสูง ฟื้นตัวช้า เหตุต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และหนี้ครัวเรือนสูง ระบุเด็กจบป.ตรีหางานทำยากขึ้น นักวิชาการชี้ AI จะแทนที่สายผลิตซ้ำ แนะภาครัฐต้องทำการ Upskill -Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ เร่งผลิตแรงงานทักษะด้าน AI
Keypoint:
- การจ้างงานเพิ่มยังคงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ปัญญาประดิษฐ์ AI จะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานพนักงานที่เป็นสายผลิตซ้ำๆ ที่มีมูลค่าต่ำ ส่วนงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ยังไม่สามารถนำ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่อนาคตจะแทนได้มากขึ้น
- ใครที่ไม่มีทักษะด้านดิจิตอล AI ทักษะ Soft Skills ทั้งทักษะในการสื่อสาร การคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น เจรจาต่อรอง อาจจะหางานทำได้ยาก
โครงสร้างประชากรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใน 10 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 433,030 คน ขณะที่มีจำนวนคนตายถึง 472,546 คน ทำให้ประชากรไทย ณ เดือนตุลาคม ปี 2566 ลดลง 37,516 คน จาก 66.09 ล้านคนในปี 2565
ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานหรือผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 58.96 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.53 ล้านคน (68.74%) และเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.43 ล้านคน (31.26%) โดยผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.53 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 40.09 ล้านคน (98.91%)และผู้ว่างงาน 0.40 ล้านคน (0.99%)
ทั้งนี้ สัดส่วนการจ้างงานใน 3 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่
- ภาคบริการ 46.87%
- ภาคเกษตรกรรม 31.54 % แ
- ภาคอุตสาหกรรม 21.52%
อีกทั้ง มีการคาดการณ์ว่า ไม่ถึง 30 ปี สัดส่วนแรงงานของไทย ที่มีอายุในช่วง 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียงราว 50% ในปี 2593
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผลกระทบของ ปัญญาประดิษฐ์ AI & Automation ต่อแรงงาน
7 ล้านตำแหน่งงานถูกแทนที่ด้วยAI จี้นายจ้าง-ภาครัฐเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน
ตลาดแรงงานไทยปี 2567 เปราะบาง
ถึงภาวะว่างงานจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่มฟื้นตัว แต่ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันแม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ที่อาจส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่าทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยการจ้างงานเพิ่มยังคงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
“การจ้างงานภาพรวมจะสัมพันธ์กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งปี 2567 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้นจากปี 2566 ที่คาดว่าจะโตเพียง 2-2.5% แต่มีความเปราะบางสูงทำให้การฟื้นตัวยังช้า เพราะต้องเผชิญทั้งปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกโตต่ำและภายในที่หนี้ครัวเรือนสูง” นายธนิต กล่าว
ทั้งนี้ ถึงปี 2567 จะฟื้นตัวแต่ก็คงจะไม่ได้มากนักทำให้ตลาดแรงงานของไทยภาพรวมทรงตัวและการจ้างงานเพิ่มก็จะเป็นไปตามแต่ละสาขาธุรกิจและการขยายการลงทุนของเอกชน อีกทั้ง หากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6 ล้านคนเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 64% สะท้อนให้เห็นว่าการผลิตสินค้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากภาคการผลิตของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคส่งออกซึ่งต้องอาศัยการเติบโตจากเศรษฐกิจโลก
เด็กจบใหม่ป.ตรีหางานทำได้ยาก
ประเทศไทยต้องการกำลังแรงงานที่มากขึ้น ทำให้มีการขยายอายุการทำงานไปถึง 65 ปี แทนการเร่งอัตราการเกิดของประชากร เนื่องจากประชากรเกิดใหม่จะต้องรออย่างน้อย 18-25 ปี จึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาตลาดแรงงานที่กำลังจะต้องเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม Gen Z ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า Gen อื่น เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในขณะที่ Gen Baby Boom อยู่ในอายุเกษียณในปี 2566 เป็นปีสุดท้าย ในปี2567 จะมีคนที่อยู่ในวัยหลังเกษียณ 20.59% กำลังแรงงานจะหายไปจากระบบราว 9.1 แสนคน ส่วน แรงงานที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานจะมีเพียง 7.9 แสนคน
นายธนิต กล่าวต่อไปว่าเด็กจบใหม่หากจบการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ฯลฯ ประเภทนี้ยังหางานได้ไม่ยาก แต่จบปริญญาตรีทั่วไปยอมรับว่ายังคงลำบาก โดยจะพบว่าในช่วงต้นปีปกติหลังรับโบนัสจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานสูงแต่ปีนี้มีน้อยมากแสดงให้เห็นว่างานหายากขึ้น
“อัตราการจ้างงานใหม่ขยายตัวแบบเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดย ภาพรวมตลาดแรงงานไทยยังเผชิญ อยู่ 2 ด้าน คือ 1. การขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวสูงและมีทักษะ 2. การตกงานของแรงงานที่จบใหม่ที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้าง”นายธนิต กล่าว
ในปี 2567 นี้ แรงงานจะได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถึงจะไม่ได้ 400 บาท/วัน เพราะนายจ้างจ่ายไม่ไหว โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะได้รับผลกระทบมากไม่ว่าจะขึ้นเท่าใดก็ตาม
AI แทนสายผลิตซ้ำ ต้อง Upskill- Reskill
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ. 2024 จะก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดด้วยการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ด้วยการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดย AI ซึ่งการแข่งขันกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆของบริษัทไฮเทคจะพลิกผัน หรือ Disrupt ธุรกิจอุตสาหกรรมเดิมพลิกโฉมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าการพัฒนาของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะ AI จะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่าง หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ AI และจะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานพนักงานที่เป็นสายผลิตซ้ำๆ ที่มีมูลค่าต่ำ ฉะนั้น การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น
“ภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษา คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าเดิม และจะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงานและควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพ”รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
อุดมศึกษาปรับโฉม เร่งผลิตแรงงานเก่งAI
ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่าปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่ AI (ปัญญาประดิษฐ์) กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการต่างต้องการแรงงานที่มีทักษะดิจิทัล ทักษะด้าน AI ทำงานได้จริง ดังนั้น สถาบันการศึกษา แหล่งผลิตกำลังคน บุคลากรของประเทศต้องปรับตัว พัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะด้าน AI วิเคราะห์ข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอย่างเชี่ยวชาญในการทำงานได้
“ตอนนี้หากใครที่ไม่มีทักษะด้านดิจิตอล AI และทักษะ Soft Skills ทั้งทักษะในการสื่อสาร การคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น เจรจาต่อรอง อาจจะหางานทำได้ยาก เพราะเกือบทุกองค์กรต้องการคนที่มีทักษะด้านดิจิตอล พร้อมทำงานทันที เนื่องจากดิจิตอล หรือเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนองค์กร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาจึงต้องติดอาวุธในเรื่องเหล่านี้ให้แก่เด็กนักศึกษา” ดร.ชัชชัย กล่าว
ดร.ชัชชัย กล่าวต่อว่าในมุมมองของนักวิชาการ และนักวิจัยได้มีการศึกษาเรื่องของ AI พบว่าทิศทางของโลกมีการนำเรื่องของเทคโนโลยี และ AI มาใช้ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในด้านแรงงานและการใช้ AI ภายในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่าง ๆ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานและสถานะของแรงงานในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อจำกัดพัฒนาแรงงานเชี่ยวชาญAI
ดร.ชัชชัย กล่าวต่อไปว่าข้อจำกัดของการพัฒนาคนด้านAI จะมี 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1.บุคลากรที่มีความรู้เรื่องAI และดิจิตอลมีจำนวนจำกัด เนื่องจาก AI มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีนักวิจัย หรือคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ ในประเทศไม่มาก การผลิตกำลังคนที่มีทักษะด้านนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ทั้งที่การผลิตกำลังคนทุกคณะต้องมีการเติมเต็มทักษะด้าน AI และดิจิทัลให้แก่นักศึกษา ให้พวกเขามีความรู้ เข้าใจ ใช้งานได้ และรู้จักการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
2.การลงทุนด้าน AI ขณะนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษามีพยายามที่จะลงทุนด้านAI รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนภาคการศึกษาเอง การลงทุนปรับการเรียนการสอนให้เป็นดิจิตอล หรือมีการนำAI มาใช้ทั้งหมด เป็นการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอ ปัจจุบันจะเป็นการเรียนการสอนในแต่ละคณะ หรือมีการจัดตั้งศูนย์วิจัย AI แต่จะให้ทุกคณะ
AI มาแทนคนไม่ได้ 100%
“ผมมีความเชื่อ ว่าAIมาแทนคนไม่ได้ 100% แต่แรงงานต้องมีทักษะ AI เพราะรูปแบบการทำงานในปัจจุบันค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการทำงานร่วมระหว่างคนกับAI ฉะนั้น แรงงานจะไม่ว่างงาน อยู่รอดในสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดต้องมีทักษะด้านนี้ คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่มีทักษะ AI พวกเขาจะเสียโอกาส ยิ่งในภาคธุรกิจ การแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีจะสูงนั้น นักการตลาด นักบริหารธุรกิจหากได้ทำงานร่วมกับ AI ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่าของงาน จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น” ดร.ชัชชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม วิธีที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับการแข่งขัน และความยั่งยืน ประกอบไปด้วย 1.นำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาใช้ 2. ลงทุนในเทคโนโลยี 3. ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 4. มุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล 5. พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากร 6. ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญนำมาปรับใช้กับองค์กรของเราได้อย่างเป็นรูปธรรม
ร่วมมือเอกชน พัฒนาทักษะเทคโนโลยี
ศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้
ภารกิจที่ มธ. ทำมาโดยตลอดวางอยู่บนการทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 4 เรื่องการสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ SkillLane สถาบันเศรษฐกิจดิจิทัล
ล่าสุดกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในการจัดทำโครงการ Thammasat-IBM SkillsBuild เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเปิดโอกาสให้ นศ. เพิ่มความรู้ ทักษะจำเป็นด้านเทคโนโลยี ผ่านหลักสูตรออนไลน์ 4 กลุ่มวิชาหลัก Data Science – AI – Security - Cloud’ เพื่อเพิ่มช่องทางในการ Upskill-Reskill ให้กับทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป
อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัดและไร้พรมแดนให้กับนักศึกษาผ่านหลักสูตรออนไลน์ เป็นการพัฒนาระบบการเรียนการสอนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้การผลิตนักศึกษา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศมีประสิทธิภาพตอบโจทย์การทำงานในอนาคตภายใต้การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า