ร่างใหม่ "ประกันสังคม" อัปสิทธิผู้ประกันตน ขณะที่ปี 66 เงิน 2.4 ล้านล้านบาท

ร่างใหม่ "ประกันสังคม" อัปสิทธิผู้ประกันตน  ขณะที่ปี 66 เงิน 2.4 ล้านล้านบาท

สปส.เปิดตัวเลขปี 2566 เงินกองทุนประกันสังคมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ลงทุนใน 12 หลักทรัพย์ ผลตอบแทนราว 8 แสนล้านบาท  ขณะที่ร่างพรบ.ใหม่ปมดราม่า พบไม่ใช่มีแค่เรื่องบอร์ด แต่มีการเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน

KEY

POINTS

  • ปี 2566 เงินกองทุนประกันสังคม จำนวนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน จำนวนราว 76,000 ล้านบาท เป็นเงินสมทบจากลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาลนำไปลงทุนสุทธิ 1.55 ล้านล้านบาท
  • สัดส่วนการนำเงินกองทุนไปลงุทน มี 12 หลักทรัพย์ของกองทุนประกันสังคม ผลตอบแทน 8 แสนล้านบาท  และ 9 หลักทรัพย์ของกองทุนเงินทดแทน
  • กางร่างกฎหมายประกันสังคมใหม่ ฉบับที่เจอปมดราม่าเรื่องแก้มาตั้งบอร์ดแทนเลือกตั้ง แต่พบว่ามีเรื่องการเพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนด้วย

ก่อนหน้านี้ไม่นานมีการออกมาระบุว่า กระทรวงแรงงานมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ โดยมีกำหนดให้บอร์ดประกันสังคมส่วนของผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตนมาจากการแต่งตั้ง แทนการเลือกตั้ง ทั้งที่เพิ่งมีการเลือกตั้งครั้งแรกไปไม่นาน

“กรุงเทพธุรกิจ”ตรวจสอบพบว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่มีการกล่าวถึง ผ่านความเห็นชอบของครม.ตั้งแต่ปี 2565  แต่มีการยุบสภา กฎหมายจึงตกไป ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างพิจารณา ที่อาจจะมีเสนอนำเข้าพิจารณาในครม.อีกรอบ

 และมีส่วนที่ระบุว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา ซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้คํานึงถึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตน หญิงและชาย คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส”

มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการแต่งตั้งบอดร์ดแทนการเลือกตั้งเกิดขึ้น  แต่ในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่นี้ ยังมีส่วนที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนด้วย

แจงที่มาบอร์ดประกันสังคม

ประเด็นเรื่องที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม  นายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าววว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทน ฝ่ายผู้ประกันตนต้องมาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อกำหนดให้วิธีการได้มาของคณะกรรมการประกันสังคมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีเจตนาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่มีเหตุสุดวิสัย เช่น กรณีที่มีโรคระบาด หรือเกิดภัยพิบัติอันอาจกระทบการเลือกตั้งฯ

ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดให้ออกเป็นประกาศกระทรวง ในการกำหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน โดยจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณา และให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม) ก่อนที่จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอ(ครม.)ให้ความเห็นชอบ

“ขอยืนยันว่า หลักการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนยังคงมีอยู่เช่นเดิม ขอให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่า สำนักงานประกันสังคมดำเนินงาน โดยผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ”นายพิพัฒน์กล่าว

เงินกองทุนประกันสังคม 2 ล้านล้านบาท

เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ในไตรมาส 4 ของปี  2566 สำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยข้อมูลกองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนสะสม 2,439,912 ล้านบาท เป็นเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาลนำไปลงทุน 1,551,479 ล้านบาท ผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 888,433 ล้านบาท  

สัดส่วนการลงทุนกองทุนประกันสังคม

แยกการลงทุนตามประเภทหลักทรัพย์ ปี 2566 เป็น 12 หลักทรัพย์ ได้แก่

1.เงินสดและพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น 1 %

2.ตราสารหนี้ไทย  60%

3.ตราสารหนี้ประเทศ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ 1.15 %

4.ตราสารหนี้ต่างประเทศทั่วโลก 10.70 %

5.ตราสารทุนไทย  9.65 %

6.ตราสารทุนต่างประเทศ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ 3%

7.ตราสารทุนต่างประเทศ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 9 %

8.อสังหาริมทรัพย์ไทย 1 %

9.อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 1.75 %

10.โครงสร้างพื้นฐานไทย  0.20 %

11.โครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ 0.55%

12.สินทรัพย์นอกตลาด 2 %

ภาพรวมสัดส่วนเงินลงทุน เป็นหลักทรัพย์ในประเทศ 72.41 % หลักทรัพย์ต่างประเทศ 27.59 % เป็นหลักทรัพย์เสี่ยง 25.63 % และหลักทรัพย์มั่นคงสูง 74.37 %

กองทุนเงินทดแทน 7.6หมื่นล้านบาท

กองทุนเงินทดแทน รองรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ สูญหายหรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน 

เงินสมทบสะสมจากนายจ้าง 48,874 ล้านบาท ผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 27,312 ล้านบาท

สัดส่วนเงินลุงทุนภาพรวม เป็นหลักทรัพย์ในประเทศ 76.50 % หลักทรัพย์ต่างประเทศ 23.50 % เป็นหลักทรัพย์เสี่ยง 18.11 % และหลักทรัพย์มั่นคงสูง 81.89 % แยกตามประเภทหลักทรัพย์เป็น

1.เงินสดและพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น 2.5%

2.ตราสารหนี้ไทย  65%

3.ตราสารหนี้ต่างประเทศ 15 %

4.ตราสารทุนไทย  6 %

5.ตราสารทุนต่างประเทศ 5%

6.อสังหาริมทรัพย์ไทย 3 %

7.อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 1.50 %

8.โครงสร้างพื้นฐานไทย  0.50 %

11.โครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ 1.50%

สิทธิผู้ประกันตนในร่างใหม่ประกันสังคม

หลักการในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ว่าด้วยกฎหมายประกันสังคมที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของผู้ประกันตนในการดำรงชีพ

ร่างใหม่ \"ประกันสังคม\" อัปสิทธิผู้ประกันตน  ขณะที่ปี 66 เงิน 2.4 ล้านล้านบาท

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น มีสาระสำคัญ อาทิ

ขยายอายุขั้นสูงผู้ประกันตน

1. การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-65 ปี

2.การให้ผู้ที่รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนต่อได้ โดยได้รับความคุ้มครองใน 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย

เงินสงเคราะห์คลอดบุตร

3.การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ โดยให้ผู้ประกันตนหญิงที่คลอดบุตรได้รับเงินสงเคราะห์กรณีคลอดบุตรเพิ่ม จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ให้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดได้เป็นระยะเวลา 98 วัน

  • ผู้ทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่ม จากเดิม 50% เป็น 70%
  • เพิ่มความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตรในช่วง 6 เดือน ที่ผู้ประกันตนออกจากงาน
  • ผู้ประกันตนที่อายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน

ผู้ประกันตนเลือกได้รับเงินบำนาญ-บำเหน็จ

4.การปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ มาตรการ 3 ขอ

  • ขอเลือก ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปี สามารถเลือกรับเป็นเงินบำนาญ หรือเงินบำเหน็จได้
  • ขอคืน กรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดเกิดพิบัติภัยอย่างร้ายแรงอันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้ประกันตนหรือผู้ซึ่งมีเงินสมทบกรณีชราภาพ สามารถขอรับเงินชราภาพบางส่วนได้
  • ขอกู้ ผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบกรณีชราภาพ สามารถนำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินที่มีความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมได้

นอกจากนี้ ยังให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญล่วงหน้าได้ไม่เกิน 60 เดือน
5.ผู้ประกันตนหรือผู้ซึ่งมีเงินสมทบกรณีชราภาพซึ่งจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 60 เดือนสามารถยื่นคําขอนําเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่มีความตกลงกับสํานักงานเพื่อใช้ในการดํารงชีพของผู้ประกันตนได้

เพิ่มอัตราเงินทดแทนขาดรายได้

7. แก้ไขเพิ่มเติมการกําหนดอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพจากร้อยละ50ของค่าจ้างเป็นร้อยละ70ของค่าจ้าง

8.เพิ่มเติมการกําหนดสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิขอรับเงินบํานาญชราภาพล่วงหน้าได้บางส่วน

9. แก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้าง ซึ่งไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบอันเป็นเท็จ  เป็นต้น