“ไขมันทรานส์”มากกว่าอ้วนเสี่ยงโรคหัวใจ ไทยกำจัดจาก“อุตสาหกรรมอาหาร”
“ไขมันทรานส์” มากกว่าโรคอ้วนเสี่ยงโรคหัวใจ สายกิน-นักปรุงอาหารต้องรู้ หลัง WHO รับรองไทย 1 ใน5 ประเทศแรกของโลก กำจัดออกจากอุตสาหกรรมอาหาร เติมลงไปเจอโทษปรับ-คุก
KEY
POINTS
- ไทย 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่ได้รับการรับรองว่า “กำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหาร” หลังจากมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อปี 2561
- กฎหมายไขมันทรานส์ ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายไขมันทรานส์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000- 20,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน -2 ปี
- อันตรายที่จะเกิดขึ้น หากบริโภคไขมันทรานส์ เพิ่มปริมาณไขมันเลว ลดไขมันดี เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ พร้อมลิสต์ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโอกาสใช้น้ำมันและไขมันทรานส์
ตั้งแต่ปี 2561 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายไขมันทรานส์ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข บอกว่า องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)รับรองง่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการกำจัดไขมันทรานส์ ออกจากอุตสาหกรรรมอาหาร โดยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรของโลกที่ได้รับการรับรองนี้ สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ ทั้งด้านการออกกฎหมายควบคุม รวมถึงมีการเฝ้าระวังเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง
5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เดนมาร์ก ลิทัวเนีย ซาอุดิอาระเบีย และโปแลนด์
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการประเมินการกำจัดไขมันทรานส์ องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินมาตรการกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายในการกำจัดไขมันทรานส์ของไทย และให้การยอมรับว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจัง
“การกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหาร เป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ และการดำเนินการที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าประเทศไทยได้ยอมรับจากสากลในการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหารอย่างเข้มงวด และต่อเนื่อง”นพ.ณรงค์กล่าว
รู้จักไขมันทรานส์
ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน พบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน
ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควายซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง เนย นม ชีส แต่พบได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย
ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenation) ลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เพื่อเปลี่ยนสภาพน้ำมันให้เป็นไขมันที่มีสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว ทำให้มีคุณสมบัติ หืนช้า มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น พบใน เนยเทียม (margarine) เนยขาว (shortening)
อันตรายจากไขมันทรานส์ตัวร้าย
องค์การเกษตร และอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณการบริโภคไขมันอิ่มตัว ไม่ควรเกิน 20 กรัมต่อวัน และปริมาณสูงสุดสำหรับไขมันทรานส์ ไม่ควรเกิน ประมาณ 2 กรัมต่อวัน
ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าไขมันทรานส์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดไขมันทรานส์ มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกรดไขมันชนิดทรานส์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลเสียของไขมันทรานส์
1. เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol)
2. ลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-Cholesterol)
3. เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)
4. เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
ไขมันทรานส์ ที่กฎหมายห้าม
“ห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ แต่มิได้ห้ามตรวจพบไขมันทรานส์ในอาหาร”
ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 388 พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา สาระสำคัญ
1. กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่าน กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
2. ไม่มีการผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออก
3.หากผู้ใดฝ่าฝืน จะมีโทษตาม มาตรา 50 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจ้าคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
ผลิตภัณฑ์อาหารที่อาจใช้ไขมันทรานส์
- เนยเทียม
- เนยขาว
- ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น พัฟ พาย เพสตรี เค้ก คุกกี้ เวเฟอร์ เป็นต้น
- อาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไอโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเนื้อสัมผัสที่ดี กรอบนอก นุ่มใน และมีสีเหลืองน่ารับประทาน เช่น โดนัททอด
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่ระบุว่ามี เนยเทียม เนยขาว ไขมันพืช เป็นส่วนประกอบ โดยแสดงไว้ที่ส่วนประกอบสำคัญบนฉลากอาหาร
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อ มกราคม 2562 ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไมใช้น้ำมันประเภทนี้แล้ว
แต่สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เพราะมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส แต่มีปริมาณน้อยมาก
ทั้งนี้ อย.มีการควบคุมตั้งแต่สถานที่ผลิต นำเข้าน้ำมันหรือไขมันที่ปราศจากไขมันทรานส์ และตรวจสอบวิเคราะห์อาหารที่อาจมีการใช้น้ำมันหรือไขมันทรานส์อย่างเข้มงวด ณ สถานที่จำหน่าย โดยอาหารที่เก็บตรวจเป็นอาหารกลุ่มเบเกอรี่ เนยเทียม และครีมเทียม เพื่อกำกับดูแลไม่ให้มีวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันทรานส์
อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)