ร้อยความคิดหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว | บวร ปภัสราทร

ร้อยความคิดหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว | บวร ปภัสราทร

กรอบการดำเนินการที่เป็นเลิศของทุกสำนักในวันนี้ ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทั้งบุคลากร และกระบวนการทำงาน ทำให้การงานต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย ที่แตกต่างกันทั้งช่วงอายุ พื้นฐานสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา และอีกสารพัดเรื่องที่เป็นความแตกต่าง

บ้านเมืองที่ยอมรับความหลากหลายมักประสบความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมืองให้เติบโตในแทบทุกด้าน ในทางตรงข้าม บ้านเมืองที่พยายามที่จะกีดกันไม่ให้เกิดความหลากหลาย จะคิด จะพูด จะกิน จะอยู่ ต้องการให้เป็นไปในทางเดียวกัน แทนที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว กลับพัฒนาไม่ค่อยจะขึ้น

ความหลากหลายเติมช่วยเต็มความคิดสร้างสรรค์ และขีดความสามารถให้กับองค์กร แต่ความหลากหลายก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการมีส่วนร่วมตัดสินใจของบุคลากร ยิ่งหลากหลายมากเท่าใด ความแตกต่างทางความคิดก็มากขึ้นเท่านั้น

เพียงแค่มีคนร่วมกันตัดสินใจเรื่องใดสักยี่สิบคน แล้วแต่ละคู่ในยี่สิบคนนี้เห็นต่างกันโดยสิ้นเชิงสักหนึ่งเรื่อง ก็มีเรื่องที่ต้องถกเถียงกันรวมแล้วเกือบสองร้อยเรื่อง ถ้ามีเป็นร้อยเป็นพันคน เรื่องที่ต้องหาข้อยุติจะกลายเป็นหมื่นเป็นแสนเรื่องได้เลยทีเดียว

มีงานวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการที่จะได้ฉันทามติจากความคิดที่หลากหลาย โดยเรียกการตัดสินใจในบริบทนี้ว่า Large-Scale Group Decision-Making (LSGDM) มีวัตถุประสงค์สำคัญคือหาหนทางที่ทำให้กลุ่มทำงานขนาดใหญ่เกินกว่า 20 คน สามารถใช้ความคิดเห็นของทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ

ผลที่ต้องการคือ องค์กรสามารถยกระดับการมีส่วนร่วมและคุณภาพของการตัดสินใจ ตั้งแต่ระดับกลยุทธ์จนถึงระดับการปฏิบัติงาน และเกิดความคล่องตัวในการปรับองค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว

เริ่มจากการตระหนักว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างที่มาจากผู้คนที่หลากหลายนั้น เกิดขึ้นได้จากการที่มีความชื่นชอบแตกต่างกัน ถ้าชอบเหมือนกัน ความต่างก็ไม่มาก แต่พอมีที่มาหลากหลายจึงเป็นธรรมดาที่จะชอบต่างกัน

 อีกอย่างหนึ่งคือระดับความแตกต่างทางความคิดจะแปรผกผันกับระดับความโปร่งใสในองค์กร ถ้าสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่กักข้อมูลหรือสาระสำคัญใดๆ ไว้เพียงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความแตกต่างทางความคิดจะลดลงไปเยอะมาก 

ถ้าที่ไหนคนมีที่มาคล้ายๆ กัน แต่ที่นั่นคนคิดต่างกันแบบสุดขั้ว ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนเลยว่า ที่นั่นมีความโปร่งใสไม่เพียงพอ หรืออาจจะเลยไปถึงระดับที่มีการบิดเบือนข้อมูล หรือปรุงแต่งสาระที่ไม่เป็นจริงอยู่เป็นประจำ

การเสาะหาความชื่นชอบที่คล้ายคลึงกัน และความโปร่งใสในการทำงานร่วมกัน จะช่วยลดความแตกต่างทางความคิดอย่างสุดขั้วลงไปได้ มากคนมากความคิด ต้องลดความ “มากความคิด” ลงไปบ้าง ไม่ใช่ด้วยการสั่งให้เลิกคิดต่าง แต่ด้วยการรับฟังความคิดที่แตกต่างแล้ว พยายามจัดคนที่คิดคล้ายๆ กันเป็นกลุ่มๆ 

หลักการง่ายๆ คือดูหัวโจกที่มักเป็นแกนนำทางความคิด แล้วดูว่าใครบ้างที่คิดเห็นใกล้เคียงกับหัวโจกแต่ละคน จากเดิมร้อยคนร้อยความคิด อาจจะเหลือแค่ร้อยคนสิบกลุ่มความคิด ซึ่งพอจะจัดการได้

ถ้าคนเป็นสิบเป็นร้อยจะทำเองก็พอได้ แต่ถ้าคนเป็นหมื่นเป็นแสน ต้องใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการจัดทำกลุ่ม ซึ่งหาคนที่พอรู้เอไอจริงๆ มาช่วยทำให้ได้แน่ๆ เว้นแต่ไปเจอคนที่พูดเอไอได้ แต่ทำเอไอไม่เป็น ซึ่งมีมากมายในบ้านเรา

เปิดใจให้กว้างแล้วสังเคราะห์ข้อเสนอความคิดที่น่าจะไปกันได้กับความคิดของแต่ละกลุ่ม แล้วลองไปถามแต่ละคนในกลุ่มดูว่าคิดอย่างนี้ใกล้เคียงกับที่เขาคิดไว้หรือไม่ ถ้ายังต่างกันมาก ก็ปรับข้อเสนอความคิดใหม่อีกรอบแล้วไปถามใหม่ ทำอีกหลายรอบจนกว่าแต่ละรอบ คำตอบขยับเข้าใกล้ข้อเสนอมากขึ้น 

ถ้ามีใครในกลุ่มที่ปรับข้อเสนอกี่รอบก็ไม่มีแววว่าจะขยับเข้าใกล้เลย ในขณะที่คนอื่นเห็นด้วยมากขึ้นกับข้อเสนอที่ปรับมาในแต่ละรอบ รอบต่อไปก็ไม่ต้องไปใส่ใจคนนั้น 

เดินหน้าจนได้ข้อเสนอความคิดที่กลุ่มแต่ละกลุ่มยอมรับได้ จากนั้นก็ทำแบบเดิมอีก แต่แทนที่จะเป็นแต่ละคน กลายเป็นแต่ละกลุ่มแทน สุดท้ายก็จะได้ฉันทามติรวมร้อยความคิดให้เป็นหนึ่งเดียว

จะให้คิดเหมือนกันทุกคนเป็นไปได้ยาก แต่ทำให้คิดต่างร้อยความคิดพันความคิดกลายเป็นหนึ่งเดียวได้ ถ้าผู้บริหารรับฟังและมีปัญญาเพียงพอ.

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]