SWOT ตัวเอง กำหนดเส้นทางชีวิตสู่อนาคตที่ดีกว่า

SWOT ตัวเอง กำหนดเส้นทางชีวิตสู่อนาคตที่ดีกว่า

ขั้นตอนหนึ่งที่ต้องอาศัยบุคลากรช่วยกันคิด ช่วยกันมองให้กับองค์กร คือการวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย โอกาส และการคุกคามที่มีต่อองค์กร เพื่อให้รู้ว่าจากวันนี้ไปสู่วันหน้าจะเดินทางกันไปทางไหน จึงจะประสบความสำเร็จกับโอกาสที่ดีที่สุด

 โดยเสี่ยงต่อความล้มเหลวต่ำที่สุด และทำได้โดยไม่ยากเย็นเกินไป จากการที่เลือกทำในสิ่งที่เก่งอยู่แล้ว 

กิจกรรมนี้รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า SWOT แม้ว่าการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กรนั้น ยังกระทำได้ด้วยอีกหลากหลายวิธี แต่ดูเหมือน SWOT จะกลายเป็นภาคบังคับของการกำหนดกลยุทธ์ในหลายวงการในบ้านเรา

ถ้าเชื่อว่า SWOT ช่วยให้องค์กรได้เส้นทางเดินสู่อนาคตที่ดี เราก็น่าจะมา SWOT ตัวเองกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ในวงการบริหารบุคคลมีการกล่าวถึง Personal SWOT กันมานานในชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป 

ทำ SWOT องค์กรแล้วได้ข้อมูลสาระที่เอาไปใช้กำหนดเส้นทางอนาคต หรือกลยุทธ์ให้องค์กรได้ การ SWOT ตนเองย่อมจะให้สาระที่เราใช้กำหนดเส้นทางชีวิตของเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้ 

SWOT องค์กรให้ได้ผลจริงจัง ใช้เวลาและใช้ความพยายาม SWOT ตนเองก็ใช้ทั้งเวลา และเรี่ยวแรงไม่น้อยไปกว่ากันเลย ดังนั้น ลองลดเวลาจากการใส่ใจจุดเด่น จุดด้อยของผู้คนที่ตีกันอยู่ไกลตัวเรา ลดความใส่ใจในโลกาภิวัตน์ดิจิทัลลงไปบ้าง แล้วย้อนมาใส่ใจกับเส้นทางอนาคตของตนเองอย่างจริงจังเพิ่มกันอีกสักนิด

เริ่มต้นจากการค้นหาจุดเด่นของตนเอง ซึ่งต้องระวังไม่ให้ไปทางสุดขั้วทั้งสองด้านไว้ให้ดี บางคนจะสุดไปทางโอ้อวดตนเอง จุดเด่นก็เลยกลายเป็นเด่นในความคิด แต่ไม่มีจริง ในขณะที่บางคนถ่อมตัวมากไปจนกระทั่ง แทบไม่ยอมรับว่าตนเองมีอะไรเป็นจุดเด่นอยู่บ้าง 

จุดเด่นที่สำคัญไล่ไปตั้งแต่ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ และเส้นสาย ความรู้ที่เรามีมากกว่าคนอื่น เรื่องที่เรารู้ดี แต่คนอื่นไม่ค่อยจะรู้กัน ทักษะการงานที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด เรื่องเดียวกันคนอื่นกว่าจะทำเสร็จอาจใช้เป็นวัน เราทำได้ภายในเวลาเป็นแค่ชั่วโมง 

เรามีอะไรที่เด่นกว่าคนอื่นบ้างในด้านคุณลักษณะ คุยกับผู้คนสารพัดแบบได้โดยไม่รู้สึกรำคาญอะไรอาจเป็นจุดเด่นที่หลายวงการต้องการที่สำคัญมากๆ ในบ้านเรา คือเส้นสายตรงไหนบ้างที่เรามี แต่คนอื่นไม่มี อย่าลืมดูด้วยว่าพรสวรรค์ที่มีติดตัวมานั้นมีอะไรบ้างหรือไม่ แต่เลือกเฉพาะที่ใช้ในการงานได้

“จุดอ่อน” ให้ดูคุณลักษณะของตนเองเป็นสำคัญ งานเดียวกันจะเปลี่ยนจากง่ายให้กลายเป็นยาก ส่วนหนึ่งมาจากคุณลักษณะของคนทำงาน ถ้ามีจุดอ่อนในเรื่องเบื่อง่าย งานประจำแทบทุกงานจะกลายเป็นงานยาก ถ้ามั่นใจในตนเองน้อยเกินไป งานที่ควรจะทำได้ จะกลายเป็นงานที่ทำไม่ได้

ส่วนเรื่องความรู้และทักษะ ดูเพียงว่าเรื่องใดที่เราคิดว่าควรเติมเต็มความรู้และทักษะเพื่อให้ทำการงานได้ผลมากขึ้น อย่าไปเอาเทคโนโลยีใหม่ที่มีในโลกนี้มาเป็นจุดอ่อน

เรื่องเส้นสายถ้ากังวลว่าเป็นจุดอ่อน ก็ต้องย้อนไปดูคุณลักษณะของตนเองด้วยว่า หัวแข็งไม่ยอมลงให้ใคร หรือตรงไปตรงมาในยามที่อยู่ในวงการที่ไม่รู้จักเส้นตรง บ้างหรือไม่ เส้นสายค่อนข้างขึ้นกับคุณลักษณะของคนมากกว่าความรู้และทักษะที่มีอยู่ในคนนั้น

“โอกาส” และการคุกคามสำหรับตัวเรา จะเป็นเรื่องที่มาจากเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ลองดูว่าในสรรพสิ่งรอบตัว ตั้งแต่โครงสร้างองค์กรที่ทำงานอยู่นั้น มองเห็นตรงไหนบ้างที่เราจะขยับขยายไป หรือกลับกันคือตรงไหนที่คุกคามกลายเป็นทางตันในการงานของเรา

ใครบ้างที่ช่วยให้โอกาสเติบโตในการงานให้เรา ใครบ้างที่ขวางทางก้าวหน้าที่เราต้องก้าวข้ามไป ไปจนกระทั่งถึงสภาพบ้านเมืองแบบนี้ รัฐบาลแบบนี้ เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ มีโอกาสใหม่ๆ มีอะไรใหม่ให้เราบ้าง 

ถ้าเรารู้ว่าคนไกลตัวมีโอกาสจะออกจากชั้นไหน ไปทำอะไรได้เมื่อไร แต่เราไม่รู้ว่ารอบตัวเรามีโอกาสใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง มองไม่ออกว่าในบรรดาสรรพสิ่งเหล่านั้นมีอะไรบ้างที่จะขวางทางเรา อาจเป็นการเตือนให้รู้ตัวว่า เราใส่ใจวงการที่เราจะทำมาหากินน้อยเกินไป.

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]