รู้จัก-เข้าใจ-สื่อสาร-ทำงานกับ "เด็กGenZ" อย่างไร?ให้เวิร์ค
ตั้งแต่ปี 2020 เป็นยุคของคนGenZ ในการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดแรงงานของไทยกว่า 20% ซึ่งการทำงานที่มีช่องว่างระหว่างวัยค่อนข้างกว้าง ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาเนื่องจากรูปแบบการทำงานที่ไม่ตรงกัน
KEY
POINTS
- เด็กGenZ มีความสามารถในการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว อัพเดทเรื่องราวในสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ชอบทำงานแบบ Multitasking มีความมั่นใจในตัวเองสูง
- องค์กรต้องทำความเข้าใจ สื่อสารกับเด็กGenZ โดยให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็น สร้าง shortcut ให้กับระบบต่าง ๆ ในองค์กร ลดงานเอกสาร พิจารณาผลงานจากฝีมือจริง ๆ ไม่ใช่ตามระบบอาวุโส
- คนGenZต้องลดความมั่นใจ ลดเวลาเล่น สร้างสัมพันธ์ลดช่องว่างระหว่างวัย เพิ่มความเย็น สร้างความอดทน และไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว
หลากหลายหน่วยงานแสดงผลสำรวจออกมาในแนวเดียวกัน ว่าการทำงานกับเด็กGenZ ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมบางรายงานเทรนด์การจ้างงาน Mercer ออกมาใหม่ บอกว่านายจ้างในโลกตะวันตก (ข้อมูลคือ Europe+NA) ไม่อยากจ้างเด็ก Gen Z มาทำงาน แต่เลือกจะจ้าง Gen Y ให้ไป Re-skill แทน เหตุเพราะ Gen Z ขาด working ethics และมี attitude กับการทำงาน ในขณะที่ value ในส่วน skill set น้อยกว่าคนรุ่นก่อน’
ก่อนที่จะพูดถึงการทำงาน หรือการใช้ชีวิตร่วมกับคนGen Z ควรทำความรู้จักกับคนGen Z กันก่อน ว่าทำไมเด็กGenZ ถึงแตกต่างจากคนGen อื่นๆ
GenZ คือ นิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่เกิดหลังจากปี ค.ศ. 1995 หรือปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เด็ก ๆ กลุ่ม Gen Z นี้จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้เร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โลกการทำงานของ ‘Gen Z’ ทำไม?องค์กรขอบาย เป็นตัวปัญหา...จริงหรือ!!
หัวหน้าส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานกับ ‘Gen Z’ ไล่ออกบางส่วนตั้งแต่สัปดาห์แรก
พฤติกรรมของชาว Gen Z
คนกลุ่ม GenZ เป็นประชากรกลุ่มอายุน้อยที่สุดในปัจจุบัน โดยในเจเนอเรชั่นนี้จะเป็นช่วงที่มีประชากรเกิดใหม่น้อยลง เนื่องจากเป็นเมืองเพิ่มขึ้นทำให้มีภาระด้านการดำเนินชีวิต การทำงาน ที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ ทำให้ค่านิยมการมีลูกน้อยลง
การอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้เด็กGenZ มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีการอัพเดทเรื่องราวในสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ชอบทำงานแบบ Multitasking คนกลุ่มนี้มีความมั่นใจในตัวเองสูง แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างทางความคิด มีแนวโน้มเป็นมนุษย์หลายงาน
- ชาว Gen Z ติดโลกออนไลน์ จึงรับข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาว Gen Z ชอบตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว
- ชาว Gen Z ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเว็บ สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก
- ชาว Gen Z เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะปรับทัศนคติได้ดี
- ชาว Gen Z มีความกล้าแสดงออก ชอบโชว์ มีความมั่นใจสูง
- ชาว Gen Z มีแนวโน้มเป็นมนุษย์หลายงาน ความอดทนต่ำ ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน
เข้าใจคนรุ่นใหม่เด็กGenZ
ทำความเข้าใจ Generation Z หรือ Gen Z คนรุ่นใหม่ที่เป็นคนยุคดิจิทัลโดยกำเนิดชอบเป็น “นักแสวงหาโอกาส ที่ใช้ความสามารถของตัวเอง และ ต้องการพื้นที่แสดงศักยภาพ” Gen Z มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง ชอบพึ่งพาตัวเอง มั่นคงด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาใคร!!
ด้วยจำนวนประชากร Gen Z ที่มีน้อยกว่ารุ่นพี่ Gen Y แต่เนื่องจากเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยและบางส่วนก็เติบโตเข้าสู่ช่วงเริ่มวัยทำงานหรือเป็น “First Jobber” ทำให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือในทุกๆ มิติ ในทุกประเทศ
ยิ่งทิศทางอนาคตโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยี AI แบบเต็มตัว ทักษะสำคัญของคนที่เป็น “Digital Native” ชาวดิจิทัลที่เกิดและเติบโตอยู่กับทุกอย่างที่เป็นดิจิทัลมาโดยตลอด ทำให้ Gen Z เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาขับเคลื่อนทุกภาคส่วน เด็กGenZ มีความชินต่อสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร รู้จักการแสวงหาข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีการที่เร็วและง่าย อย่างเช่นการใช้ ChatGPT Looka SlidesAI คน Gen Z ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ (Early Adopters) ทำให้ยิ่งหนุนนำส่งเสริมทักษะของเขาให้ดีขึ้นมากมาย
ขณะที่ด้านความสามารถ ในด้านความต้องการการยอมรับ ประชากรกลุ่ม Gen Z ก็ต้องการ “แสวงหาโอกาสในการแสดงความสามารถและศักยภาพอยู่เสมอ” จนในหลาย ๆ องค์กร ผู้ที่อาวุโสกว่ามักจะปรามาสว่า Gen Z เพิ่งเริ่มงาน แต่ก็เปลี่ยนงานบ่อย ไม่อด ไม่ทน ไม่รู้จักการแสวงหาความมั่นคงให้ตนเอง ฯลฯ ซึ่งจุดนี้คนที่อยู่ต่าง Generation กันก็จำเป็นต้องเปิดใจรับฟังกันและกัน เข้าใจกันมากขึ้น
อ.นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) คำว่ามั่นคงไม่ใช่องค์กรเป็นคนพูด ช่วงโควิดระบาดองค์กรใหญ่ ๆ เองก็ปิดกิจการมากมาย หรือเร็วๆนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลายเจ้าก็ปลดพนักงานหลัก 10,000 คน คือถ้าในวันนี้เราเข้าไปในอินเตอร์เน็ตก็จะพบว่ามีทั้งข่าวรับสมัครงาน กับ ข่าวปลดพนักงาน เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จำนวนไม่ต่างกันเลย แล้วสรุปแล้วตกลงยังไงกันแน่ หรือเป็นเพราะสิ่งที่องค์กรต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่เขามี อันนี้เราต้องช่วยกันคิด
เด็กGenZ แตกต่างกับคนGenอื่น
- เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล มาพร้อมกับเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต
- ใจร้อน เพราะเติบโตมากับเทคโนโลยี ไม่ค่อยเคยชินกับการรอคอย
- Self center มองความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ หรือในอีกมุมคือค่อนข้างจะโฟกัสในเรื่องความแตกต่างของปัจเจกบุคคล (individual) มากกว่าคนยุคก่อน
- ใช้ชีวิตอยู่ใน social network เอะอะก็โพสต์ เอะอะก็โพสต์ ทุกย่างก้าว ทุกสเต็ปการใช้ชีวิต จะชอบระบายลงไปบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค
- กล้าแสดงออก และกล้าตั้งคำถาม แม้กับผู้ที่อาวุโสกว่า
องค์กรจะรับมือกับคนGen Zอย่างไรดี?
- ให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็น เนื่องด้วยคน Gen Z เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง และมักจะไม่ยอมรับอะไรง่าย ๆ จึงควรให้โอกาสในการให้พวกเขาได้ปล่อย “ของ” กันอย่างเต็มที่ แล้วเมื่อนั้นพวกเขาถึงจะรู้เป็นส่วนหนึ่ง และสนุกกับการทำงาน
- สร้าง shortcut ให้กับระบบต่าง ๆ ในองค์กร เนื่องจากคน Gen Z ส่วนใหญ่มักใจร้อน ไม่ชอบงานระบบ อะไรที่เป็นขั้นตอนเยิ้นเย้อหรือทำให้ชีวิตยาก องค์กรควรพิจารณาออกแบบระบบให้ง่ายขึ้น เช่นระบบการเบิกจ่าย ระบบการเบิกใช้อุปกรณ์สำนักงาน
- ลดงานเอกสาร ชาว Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี จึงไม่นิยมชมชอบการทำงานเอกสาร เพราะพวกเขามองว่ามันเสียเวลา ดังนั้นจะดีมากถ้าองค์กรออกแบบ applications ภายในองค์กร ให้เป็นการทำงานได้บนระบบออนไลน์ ทำได้แม้อยู่นอกออฟฟิศ ชาว Gen Z จะปลาบปลื้มมากเป็นพิเศษ
- พิจารณาผลงานจากฝีมือจริง ๆ ไม่ใช่ตามระบบอาวุโส เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็น sensitive มากสำหรับคน Gen Z เพราะคนกลุ่มนี้ จะยึดมั่น ถือมั่นในความคิด และฝีมือ และมักไม่ยอมรับในระบบอาวุโส เรื่องนี้องค์กรต้องมีเกณฑ์การพิจารณาการเลื่อนเงินเดือน และเลื่อนตำแหน่งให้เหมาะสม และประกาศออกมาอย่างโปร่งใสให้พนักงานทราบด้วย คน Gen Z มักคิดว่าถ้าองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับผลงานของตน เขาก็พร้อมจะจากไปอย่างไร้เยื่อใย
- จัดการสื่อสารอย่างเป็นระบบผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ก็ในเมื่อคน Gen Z เป็นกลุ่มคนที่ addicted อยู่กับ Social network องค์กรก็ควรปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยด้วย เช่นสร้าง fanpage, group chat ต่างๆเพื่อให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น และเป็นกันเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นองค์กรต้องระวังการรับมือกับความคิดเห็นด้านลบด้วย เช่น อย่าลบคอมเม้นท์ที่ไม่ดีจากพนักงาน แต่ให้พยายามหาข้อชี้แจงที่มีเหตุผลไปตอบ เป็นต้น ด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้ได้ใจคน Gen Z ในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
จริง ๆ แล้วเรื่องของเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับองค์กรไม่น้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่ชาว Gen Z ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะการเสพย์ติดเทคโนโลยีมากไปก็เหมือนคนเป็นโรค พอขาดเทคโนโลยีก็ถึงขั้นลงแดง อึดอัด ทำอะไรไม่ได้ แถมมีโอกาสที่จะขาดทักษะการเข้าสังคม โลกส่วนตัวสูงมาก จนถึงขั้นขาดความอดทน ฉะนั้นองค์กรต่าง ๆ ควรมีนโยบายให้ชาว Gen Z มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วย ก็จะมีประโยชน์ไม่น้อย
เด็กGen Z เข้าองค์กรต้องทำอย่างไร
เมื่อ Gen Z ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานจะมีปัจจัยหลายอย่างที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเข้าทำงาน ทั้งความชื่นชอบในสายงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าขององค์กร ฯลฯ และเมื่อตัดสินใจก้าวเข้าสู่องค์กรเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับคน Gen Z คือ การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับบุคคลและวัฒนธรรมขององค์กร
1.ลดความมั่นใจ
เนื่องจาก Gen Z เป็นคนที่มีความมั่นใจค่อนข้างสูง ทั้งด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายโปรแกรม หรือมีจุดเด่นด้านหน้าตาและการทำกิจกรรมที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นจุดสนใจ แม้เราจะมีดีแต่ก็ไม่ควรนำเสนอตัวเองมากจนเกินไป ทุกอย่างควรแสดงออกแต่พอดี และเนื่องจากในองค์กรมีคนอยู่มากมาย ต่างคนต่างถิ่น ต่างที่มา ส่งผลให้ทุกคนมีความคิดเห็นที่ต่างกัน จึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของที่ทำงานเป็นหลัก เพื่อการวางตัวที่ถูกต้อง
2.ลดเวลาเล่น
คนที่เกิดในยุคของ Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้คนยุคนี้ส่วนใหญ่จะติดโซเชียลมีเดีย และบางครั้งก็ไม่ค่อยมีสมาธิต่องานที่ทำ เพราะสมาธิผูกติดอยู่กับโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้งานที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่หวัง และยังทำให้เสียเวลาที่จะต้องมานั่งแก้ไขงาน หรืออาจจะทำให้งานเสร็จไม่ทันเวลาที่กำหนด ถึงแม้ว่าการเล่นโซเชียลเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราได้รู้ทันข่าวสาร และเหตุการณ์ต่างๆ แต่หากเข้าสู่โหมดของการทำงานจะต้องมีสมาธิจดจ่อกับงานเพื่อให้งานที่ทำออกมามีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบกับองค์กร
3.สร้างสัมพันธ์ลดช่องว่างระหว่างวัย
การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในองค์กรส่งผลให้หลายสิ่งหลายอย่างพัฒนาดีขึ้นได้ ดังนั้นการพูดคุยและสื่อสารที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ การจะทำให้สิ่งที่เราแสดงออกชัดเจน และมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา เพราะทั้งภาษาพูด และภาษากายจะทำให้เกิดความเข้าใจกันและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น แม้ว่าจะเป็นการทำงานกับคนต่าง Generation กัน หากมีการพูดคุยก็จะทำให้ทุกอย่างเข้าใจกันได้มากขึ้น
4.เพิ่มความเย็น สร้างความอดทน
เนื่องจากคน Gen Z เป็นคนใจร้อน ทำอะไรได้รวดเร็วแต่บางครั้งกลับมีความอดทนต่ำ คน Generation นี้จะมองว่าหากสามารถทำงานอยู่ที่ใดได้ถึง 2 ปี ก็เป็นอายุงานที่นานมาก ทำให้อัตราการเปลี่ยนงานเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการความก้าวหน้าที่รวดเร็ว ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนงานจะเป็นการได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง แต่ก็ยังถือเป็นการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ ผู้คนใหม่ วัฒนธรรมในองค์กรใหม่ หากจะต้องนับหนึ่งทุกๆ 2 ปีความมั่นคงทางอาชีพอาจจะเลือนราง จึงต้องอาศัยความอดทนที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จหรือที่เรียกว่า “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม”
5.ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว
Gen Z เติบโตมาพร้อมความสะดวกสบาย ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างในโลกยุคใหม่ ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน แต่เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน และยังไม่มีประสบการณ์ จึงต้องได้รับความรู้การทำงานจากคนที่มีประสบการณ์ จึงต้องปรับตัวให้เหมือนน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว โดยที่น้ำเป็นตัวแทนของความรู้ใหม่ๆ และสามารถเติมลงไปได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านการทำงาน
6 สิ่งต้องรู้เมื่อบุกตลาด Gen Z
1.กว่าครึ่งของชาว Gen Z นิยมซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ กว่า 4 ใน 5 ของชาว Gen Z ใช้สังคมออนไลน์เป็นประจำ ชอบหาข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าในอินเทอร์เน็ต และนิยมซื้อสินค้าผ่าน E-commerce เนื่องจากลักษณะของ Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z นิยมค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการที่ต้องการด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งนิยมซื้อสินค้าผ่าน E-commerce มากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ
ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรมีการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านทางเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีข้อมูลของสินค้าอย่างละเอียด เช่น ภาพแสดงตัวอย่างของสินค้า ขนาดสี ราคา และที่สำคัญควรพัฒนาช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และขั้นตอนการชำระเงินที่สะดวก ง่าย และรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาว Gen Z
2.ชาว Gen Z ไม่ใช่พวก Brand loyal แต่จะให้ความสำคัญกับตัวสินค้าเป็นอย่าง ๆ ไป ชาว Gen Z ไม่ติด Brand name แต่นิยมใช้สินค้าที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ท่ามกลางวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบและต้องแข่งขันกับเวลา ทำให้ชาว Gen Z มีความสามารถในการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) สินค้าแบบ Multifunction จึงเป็นที่นิยมในชาว Gen Z เช่น เฟอร์นิเจอร์แบบอเนกประสงค์หรือเครื่องสำอางอเนกประสงค์ ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรจำเป็นต้องปรับรูปแบบสินค้าให้สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น เพื่อให้ดึงดูดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z
3.ผู้บริโภคชาว Gen Z มีปริมาณประชากรลดน้อยลง แต่ก็มีอำนาจซื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเข้าใจและสร้างพฤติกรรมการบริโภคจากชาว Gen Z อาจสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่ากลุ่มลูกค้า Generation อื่น ๆ ได้เป็นอย่างมาก ผู้บริโภคชาว Gen Z ต้องการสินค้าเฉพาะเจาะจงที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ชาว Gen Z มีทัศนคติเป็นผู้ที่ชื่นชอบการใช้จ่าย เพื่อสร้างความสุขความพอใจกับตนเอง ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจควรจะมีความคิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนใครเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคชาว Gen Z เห็นความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และเลือกใช้สินค้าด้วยความเต็มใจ
4.ชาว Gen Z ชอบช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ชาว Gen Z นิยมการสื่อสารด้วยข้อความที่สั้นและเข้าใจง่าย ด้วยรูปแบบการติดต่อสื่อสารในยุคนี้ที่นิยมติดต่อสื่อสารด้วยข้อความสั้น ๆ ผ่าน Application ต่าง ๆ เช่น Line, Facebook, WhatsApp, หรือ บริการ Banking Online ก็เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่คนรุ่นนี้นิยม ชาว Gen Z ชอบการประชาสัมพันธ์ที่เป็นข้อความสั้น ๆ หรือรูปภาพแบบ Infographic ที่ดูสวยงามเข้าใจง่าย ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบของการประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองด้วยข้อความที่สั้นและกระชับ หรือเป็นรูปภาพแบบ Infographic
5.จะไม่ค่อยเชื่อในวิธีการตลาด หรือโฆษณาแบบเดิม ๆ การเชิญให้ชาว Gen Z มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ พร้อมกับที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสร้างตัวตนด้วยการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ผ่าน Social media ต่าง ๆ เป็นการตลาดแบบใหม่ที่ฉีกการตลาดแบบเดิมซึ่งจะทำให้ชาว Gen Z รู้สึกผูกพันและมีความจงรักภักดีกับแบรนด์ของคุณ และยังช่วยส่งเสริมการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ให้กับชาว Gen Z อีกด้วย
6.ชาว Gen Z คุณภาพของสินค้าต้องมาก่อน ชาว Gen Z ค่อนข้างจะใส่ใจในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากโลกของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของสินค้าต่าง ๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหาข้อมูลสินค้าตามห้างหรือร้านค้า เพียงแค่คลิกด้วยปลายนิ้วก็มีข้อมูลสินค้าต่าง ๆ ให้เลือกอย่างมากมายแล้ว ดังนั้นชาว Gen Z จึงคัดเลือกสินค้าที่พวกเขาค้นหาข้อมูลอย่างมากก่อนที่จะเลือกซื้อ หากสินค้าของเรามีคุณภาพโดดเด่น ก็จะช่วยให้การตัดสินใจในการซื้อสินค้าของชาว Gen Z มาเลือกสินค้าเราได้ง่ายขึ้น
จากข้อมูลความหมายของกลุ่มคน Gen Z, พฤติกรรมของชาว Gen Z และ 6 สิ่งต้องรู้เมื่อบุกตลาด Gen Z ที่ผมได้นำเสนอมานั้น ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาและใช้การตลาดที่เจาะใจกลุ่มผู้บริโภคชาว Gen Z ช่วยให้สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง: Jobsdb , techsauce ,Plearn เพลิน By Krungsri Guru