5 นาทีต่อวัน! "Self-reflection"สะท้อนตัวตน คุยกับตัวเอง ทักษะที่ควรฝึก
หลายครั้งที่มนุษย์เงินเดือน วัยทำงานอย่างเราๆ ต้องทำสิ่งเดิมซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ด้วยความเคยชิน แต่เมื่อมองถึงผลที่จะตามมา หลายคนคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ใช้ชีวิต คิดแบบเดิมๆ
KEY
POINTS
- Self-reflection ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะการนั่งคุยกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพูดออกมา หรือเขียนลงในกระดาษ อย่ามองว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะนั่นมีประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมาก
- ฝึกฝนSelf-reflection ได้ง่ายๆ โดยใช้เวลาเพียงวันละ 5 นาที เริ่มสะท้อนตัวเอง ทบทวนตัวเองว่าในหนึ่งวันเราเจออะไรบ้าง รู้สึก หรือใช้อารมณ์แบบไหนบ้าง ลองวิเคราะห์ตัวเอง แล้วพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
- การพูดกับตัวเอง ควรพูดด้วยน้ำเสียงนุ่นนวล เมื่อมีน้ำเสียงเหนื่อยหน่าย ตัดพ้อ หรือเกรี้ยวกราดเกิดขึ้น พยายามเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ แล้วลองคิดในเชิงบวกแทน
ทักษะจุดเปลี่ยนของชีวิต “Self-reflection” หรือทักษะการสะท้อนตัวเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ทุกคนควรมี ต้องฝึก แต่กลับถูกมองข้ามไป เนื่องจากขณะนี้ เทคโนโลยีมีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง และผู้คนใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีเป็นหลัก จนทำให้ทุกอย่างรอบตัวรวดเร็วไปหมด ทั้งการใช้ชีวิต การสื่อสาร หรือการเสพข่าว และบางครั้งหลายคนก็อาจไปโฟกัสกับคนทั้งคนและสิ่งรอบข้างมากเกินไป หลงลืมกลับมาใส่ใจตัวเอง
โดยข้อมูลจาก Phychology-spot และ Bigthink เปิดเผยผลวิจัยระบุว่า การพูดหรือรำพึงรำพันคนเดียวไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แถมยังเป็นเรื่องดีกับตัวผู้พูดอีกด้วย หากสิ่งที่เรากำลังพูดกับตัวเองเป็นเรื่องที่ดี หรือเรื่องที่ควรพูด และบางครั้งก็ยังทำให้ผู้พูดฉลาดขึ้นอีกด้วย เพราะพฤติกรรมนี้จะช่วยให้เข้าใจความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น
“Self-reflection” กลายมาเป็นทักษะที่ทุกคนในยุคนี้ควรมีมากที่สุด เพื่อจะทำให้เข้าใจและทบทวนตัวเองได้มากขึ้น “กรุงเทพธุรกิจ” อยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ “Self-reflection” ทักษะนี้มีดี มีประโยชน์อย่างไร และจะทำอย่างไร ให้มีทักษะดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทักษะใหม่! ที่คนวัยทำงานต้องมี ไม่พลาดงานในอนาคต
เทรนด์การทำงานที่องค์กรและพนักงานต้องเตรียมตัวให้พร้อมในปี 2024
รู้จัก Self-reflection คืออะไร?
เวลามีปัญหา หรือความไม่สบายใจ หลายๆ คนมักถูกบอกให้ “คุยกับตัวเอง” หรือ “Self-Talk” การสื่อสารกับสมองของตัวเอง เพื่อทำให้สมองทำงานอย่างมีตรรกะเหตุผลมากขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจในการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้น การคุยกับตัวเองทำให้เรารู้ “จุดยืน” และความเป็นตัวตนของเรา
Self-reflection คือ ทักษะในการการสะท้อนตัวเองจากการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น หากมองง่าย ๆ มันก็เหมือนกับการที่เรามองตัวเองในกระจกแต่ลึกเข้าไปถึงความคิด ห้วงอารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งการทำ Self-reflection จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์พฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกของตัวเองในส่วนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วได้
เมื่อเราได้หยุดพักตัวเองมาทำ Self-reflection บ่อย ๆ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีเวลาได้หยุดพักและทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนว่าที่ผ่านทำไมเราเลือกถึงทำแบบนั้น เพราะอะไร ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาด เพื่อที่สามารถนำไปวางแผน พัฒนา ปรับปรุง แก้ไขกับการใช้ชีวิตในอนาคตหรือการทำงานในอนาคตต่อไปได้
ข้อดีของการทำ Self-reflection
1. ช่วยทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น
บ่อยครั้งการทำ Self-reflection ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นก็คือ การนั่งคุยกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพูดออกมา หรือเขียนลงในกระดาษ หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่แปลก แต่จริง ๆ แล้วมันมีประโยชน์มาก และเป็นการทำ Self-reflection ชั้นดีที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่งในวันนี้เราก็มีตัวอย่างคำถามมาให้คุณลองตอบตัวเองกันดู โดยจะแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทด้วยกัน คือ มุมมองในการทำงาน (Work View) และมุมมองการใช้ชีวิต (Life View)
มุมมองของการทำงาน (Work View)
- คุณคือใคร (ตำแหน่ง)?
- ตอนนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่?
- การทำงานนี้มีความหมายอะไรสำหรับคุณ ทำไมถึงต้องทำงานนี้?
- คุณชอบงานที่ทำอยู่ไหม แล้วทำไมถึงชอบ?
- ความหมายของงานที่ดีและคุ้มค่าที่จะทำคืออะไร?
- ตอนนี้พอใจกับเงิน ประสบการณ์ การเติบโต และความสำเร็จ มากน้อยแค่ไหน? ถ้ายังไม่พอใจ แล้วต้องทำอย่างไร เราถึงจะรู้สึกพอใจมากขึ้น?
มุมมองการใช้ชีวิต (Life View)
- อะไรคือเป้าหมายที่สูงสุดในชีวิต?
- ในชีวิตของคุณ คุณให้ความหมายกับอะไรมากที่สุด?
- ความสัมพันธ์ของคุณกับคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง?
- คุณชอบชีวิตของคุณไหม?
- คุณเชื่อในพลังของโชคชะตาหรือโชคลาภไหม?
หลังจากที่คุณได้ลองตอบคำถามข้างต้นไปแล้ว คุณอาจจะได้รู้จักตัวเองในมุมที่ไม่เคยรู้จักก็ได้ เพราะคนเรามักจะเปลี่ยนแปลงในทุกนาที ตัวเราในวันนี้ อาจเป็นคนละคนกับเราเมื่อปีที่แล้วก็ได้ ดังนั้นการตั้งคำถามกับตัวเองจะทำให้สามารถทบทวนตัวเองไปพร้อม ๆ กับเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน อารมณ์ และความรู้สึกของตัวเองได้ดีมากยิ่งขึ้น ยิ่งเรารู้จักตัวเองมากเท่าไร ก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
2. มีมุมมองและทัศนคติต่อตัวเองและสิ่งรอบข้างที่ดีขึ้น
มุมมองจากตัวเราในวันนี้เป็นมุมมองคนละเวอร์ชันกับปีที่ผ่าน ๆ มา
อีกหนึ่งวิธีที่เราสามารถฝึกทักษะ Self-reflection ได้ดีที่สุดก็คือ การสะท้อนตัวเองผ่านมุมมองและทัศนคติของตัวเองในแต่ละปีด้วยการจดบันทึก เพราะเราจะได้คิดวิเคราะห์และเข้าใจมุมมองหรือทัศนคติใหม่ ๆ จากตัวเราและสิ่งรอบข้างได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่าย ๆ ก็โซเชียลมีเดียนี่แหละที่เหมือนสมุดบันทึก ‘ความเป็นตัวเราในช่วงเวลานั้น ๆ’ ได้ที่ดีสุด เราอาจจะเห็นได้จากแจ้งเตือนของฟีเจอร์ Memories บน Facebook ที่ทำให้คุณได้เห็นตัวเองเมื่อ 7 ปีที่แล้วว่าโพสต์อะไรลงบนไทม์ไลน์ไปบ้าง
แล้วพอมาดูในวันนี้คุณก็อาจจะมีความรู้สึกว่า “ทำไมตอนนั้นถึงโพสต์อะไรแบบนั้นออกไป หรือมันเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบในตอนนั้น” คุณก็จะได้วิเคราะห์ความรู้สึกของตัวเองในวันที่ผ่านมา และหลายครั้งคุณก็จะรู้สึกว่ามุมมองและทัศนคติของคุณในตอนนั้นกับตอนนี้ อาจไม่เหมือนกันอีกแล้ว
3. เพิ่มทักษะการเรียนรู้และความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
โลกปัจจุบันมักจะบีบบังคับให้เราต้องใช้ชีวิตอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งก็ไม่มีเวลาได้หยุดคิดหรือไตร่ตรองอะไรเลย นั่นอาจทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจตัวเองได้อย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร
ซึ่งมีหลายงานวิจัยที่บอกว่าทักษะ Self-reflection ช่วยทำให้เราเกิดการเรียนรู้ในเชิงลึกมากขึ้น เพราะการทำ Self-reflection ก็เหมือนกับการได้พักเบรกตัวเองได้ไตร่ตรองความคิด มุมมอง และทัศนคติของตัวเอง ซึ่งเราก็จะสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น
เมื่อคุณสามารถเรียนรู้ เข้าใจ ตัวเองและคนรอบข้างได้ดีมากขึ้นแล้ว รับรองว่าถ้าเกิดว่ามีปัญหาหรือความท้าทายใหม่ ๆ ขึ้นในอนาคต คุณก็จะมีทักษะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
4.มีเวลาให้เราได้ตอบสนอง ไม่ใช่ตอบโต้
หลายครั้งที่เราอยากย้อนไปเอาช่วงเวลาบางช่วงกลับคืนมา เมื่อเราได้ใช้เวลากับการไตร่ตรองถึงสถานการณ์บางอย่าง เราจะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นโดยที่ผ่านการคิดมาแล้วได้มากกว่าเลือกที่จะตอบโต้โดยไม่ได้คิด ซึ่งการไตร่ตรองสิ่งที่ผ่านมาแล้ว จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองในสถานการณ์เดิมแต่ช่วงเวลาใหม่ได้ และเราก็อาจได้ผลลัพธ์ใหม่กลับมาด้วย
5. ทำให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงลึก
มีงานวิจัยมากมายที่บอกบทสรุปที่คล้ายกันว่า self-reflection ช่วยทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจอะไรในระดับที่ลึกขึ้นได้ เพราะเวลาที่คนเราให้เวลากับการไตร่ตรอง ได้ย่อยและผสมผสานสิ่งต่างๆ เราจะสร้างความเชื่อมโยงของสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น
6. ปรับปรุงเรื่องความมั่นใจ
เวลาที่เราได้ไตร่ตรอง เราจะเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังเป็นไปได้ดี รวมถึงเข้าใจว่าสิ่งไหนที่เราทำแล้ว แต่จริงๆ มันไม่เวิร์คได้ แล้วเมื่อเราผ่านไต่ตรองดีๆ มาแล้ว เราจะทำการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รวมถึงเปลี่ยนการกระทำของตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น และทุกครั้งที่เราได้พัฒนาตัวเอง มันจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเราได้ ด้วยความรู้ที่มากขึ้นและมุมมองที่หลากหลายขึ้น
7. ได้ท้าทายสมมติฐานของตัวเอง
เพราะสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นจริง อาจไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะเอาชนะความเชื่อที่มีข้อจำกัดของเราก็คือการถอยกลับมาและถกเถียงกับความเชื่อของตัวเองด้วยเหตุผล และ self-reflection จะเปิดโอกาสให้เราได้ท้าทายความเชื่อและสมมติฐานของตัวเองที่เคยใช้มาตลอดว่ามันถูกหรือผิด แล้วเราจะยังใช้มันอยู่อีกไหม
ฝึก Self-reflection ได้อย่างไรบ้าง?
สำหรับใครที่อยากลองเริ่มต้นฝึกทักษะ Self-reflection อาจจะลองใช้เวลาวันละ 5 นาที เพื่อทบทวนตัวเองว่าในแต่ละวันเราเจออะไรมาบ้าง มีความรู้สึก หรืออารมณ์แบบไหน หรือถ้าอาจจะลองทบทวนเป็นภาพใหญ่รายเดือนหรือรายปีก็ได้ เช่น ลองวิเคราะห์ตัวเองว่าตอนต้นปีเราเป็นแบบไหน แล้วปลายปีเราได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง หรือว่าจะ Self-reflection ในโอกาสสำคัญ เช่น วันเกิด ตอนเรียนจบ หรือย้ายที่ทำงานก็ได้เช่นกัน
การตั้งเป้าหมายในชีวิตสามารถทำได้ทุกวัน เห็นผลทุกเดือน วิเคราะห์ได้ทั้งปี ซึ่งมีดังต่อไปนี้
• การวางเป้าหมายรายปี, รายเดือน, รายสัปดาห์ และรายวัน
• การจดบันทึกรูปแบบอารมณ์ประจำวัน
• การติดตามพฤติกรรมที่ทำอย่างสม่ำเสมอ
• สรุปผล เพื่อประเมินตัวเองรายสัปดาห์และรายเดือน
• จดบันทึกสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับการพักผ่อนของคุณตลอดทั้งปี
• ช่องสำหรับ Quote เพื่อให้กำลังใจตัวเองในการลุกมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดทุกเดือน
การฝึก Self-Talk พูดคุยกับตัวเองบ่อยๆ
การฝึก Self-Talk เริ่มได้จาก... ให้ลองพูดกับตัวเอง ไม่ว่าจะพูดในใจ หรือพูดออกเสียงก็ได้ พูดด้วยน้ำเสียงนุ่นนวล เมื่อมีน้ำเสียงเหนื่อยหน่าย ตัดพ้อ หรือเกรี้ยวกราดเกิดขึ้น พยายามเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ แล้วลองคิดในเชิงบวก หรือกลาง ๆ แทน เช่น “งานนี้อาจฟังดูยาก แต่เราจะลองเต็มที่กับมัน”
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ การลองมองตัวเองเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ที่เราอยากจะปลอบประโลมและให้ความหวัง “เราทำดีที่สุดแล้ว เก่งขึ้นแล้วนะ...” การมองโลกด้วยเหตุและผล หรือด้วยความเป็นจริงมากขึ้น จะช่วยให้เสียงที่เราพูดกับตัวเองนั้นน่าฟังยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเราทำอะไรสำเร็จสักอย่าง ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน อย่าลืมชื่นชมตัวเองบ้าง นอกจากนี้ การล้อมรอบตัวเองไปด้วยคนที่ให้พลังบวกและสร้างความมั่นใจให้แก่เราได้ ก็ช่วยได้เช่นกัน
การพูดคุยกับตัวเองอย่างมีเหตุผลและอ่อนโยน สามารถช่วยสร้างแสงสว่างภายในใจ ทำให้มีแรงใจและไฟในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แล้ววันนี้คุณได้คุยกับตัวเองแล้วหรือยัง?
อ้างอิง: thegrowthmaster , creativetalk ,ธนาคารไทยพาณิชย์