เข้าใจและช่วยการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่น
ช่วงวัยรุ่น (อายุ 13-19 ปี หรือประมาณนั้น) เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่วัยรุ่นต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทั้งร่างกายและทางจิตใจอย่างมาก จนเขารับมือไม่ค่อยถูก
พวกเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ ทั้งจากการเรียนหรือการทำงาน จากความคาดหมายของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู แรงกดดันจากเพื่อน แรงกดดันจากกิจกรรมต่างๆ และแรงกดดันในเรื่องการแข่งขันเพื่อความสำเร็จในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งรุนแรงกว่าวัยรุ่นในสมัยก่อนมาก
วัยรุ่นต้องต่อสู้กับความขัดแย้งระหว่างการที่จะต้องพึ่งพาพ่อแม่ผู้ปกครองในทางเศรษฐกิจ และความต้องการที่จะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองที่แยกต่างหากจากพ่อแม่ วัยรุ่นอาจจะทดลองค่านิยมใหม่ ความคิดใหม่ ทรงผม เสื้อผ้าใหม่ และอะไรใหม่ๆ อีกหลายอย่าง
เพื่อแสวงหาความเป็นตัวตนของเขา ซึ่งเป็นธรรมชาติปกติของวัยรุ่นทุกยุคสมัย แต่พ่อแม่มักจะมองดูอย่างไม่ค่อยเห็นด้วยหรือไม่สบายใจ
ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ มีความพยายามที่จะหากำไรและเอาเปรียบวัยรุ่น ซึ่งเป็นตลาดสินค้าและบริการใหม่ที่สำคัญอยู่มาก
ไม่ว่าจะเป็น สินค้าและบริการธรรมดาที่อาจฟุ่มเฟือยหรือฟุ้งเฟ้อบ้าง หรือเป็นสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมประเพณีอันดีงาม ทำให้วัยรุ่นยุคใหม่ยิ่งมีโอกาสทำอะไรแปลกๆ หรือดูฟุ้งเฟ้อ เหลวไหลเพิ่มขึ้นกว่าวัยรุ่นยุคก่อน
๐ พ่อแม่จะช่วยเหลือลูกวัยรุ่นได้อย่างไร
การเป็นพ่อแม่ที่ดีสำหรับลูกวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับพ่อแม่สูง เป็นทั้งงานหนักและงานที่ต้องใช้ความฉลาด ความอดทน และความรัก ความหวังดีอย่างแท้จริง
สำหรับพ่อแม่หลายคน แค่ทำงานทางเศรษฐกิจเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวไม่ว่าจะทำได้ดีเพียงไร ไม่ได้ช่วยให้ลูกวัยรุ่นได้พัฒนาตัวเองได้อย่างดีเสมอไป ถ้าไม่มีการดูแลด้านความต้องการทางจิตใจอย่างดีเพียงพอด้วย
การเน้นแค่การสนองความต้องการทางเรื่องเศรษฐกิจและการเงินของลูกมากไป บางครั้งกลับเป็นโทษด้วย เพราะการที่ลูกได้เงินจากพ่อแม่อย่างง่ายๆ มาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้เขาไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน การประหยัดและการมีวินัยในตนเอง
สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องสื่อสารความรักที่มีต่อลูกให้เขาเข้าใจอย่างแท้จริง เด็กๆ จะตัดสินใจว่าเขารู้สึกถึงตัวเองอย่างไร (แง่บวกหรือแง่ลบ ภูมิใจ มั่นใจ หรือไม่ภูมิใจในตัวเอง) ส่วนใหญ่จะมาจากที่พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกๆ และการตีความของลูกๆ
การสื่อสารเป็นเรื่องของคน 2 ฝ่าย ซึ่งจะได้ผลดี หมายถึงต้องสื่อสารให้เข้าใจซึ่งกันและกันแบบตรงกัน พ่อแม่ที่คิดเองว่าตนรักลูก ทำงานหนักหาเงินมาให้ลูกใช้อย่างสบายไม่น้อยหน้าเพื่อนคนอื่น คือการแสดงออกซึ่งความรักลูก
ซึ่งลูกน่าจะตระหนัก แต่ลูกอาจจะไม่เข้าใจสิ่งนั้นแบบเดียวกับที่พ่อแม่เข้าใจ เช่น เขาอาจจะเข้าใจว่าการที่พ่อแม่มัวแต่ทำงานหรือทำกิจกรรมของตนเอง ไม่ค่อยมีเวลาให้เขา ไม่สนใจกิจกรรมปัญหาและพัฒนาการของเขามากเพียงพอ คือการที่พ่อแม่รักตัวเองมากกว่าที่จะรักพวกเขา
การสื่อสารเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องเอาใจใส่และทำอะไรมากกว่าการพูดว่าพ่อแม่รักลูก หรือการให้เงินลูกใช้อย่างไม่น้อยกว่าเพื่อนคนอื่น
เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะต้องสื่อสารเรื่องค่านิยมที่ดีงาม การคาดหมาย และขอบเขตให้ลูกได้รับรู้ เช่น ต้องตอกย้ำในเรื่องความซื่อตรง การรู้จักควบคุมตนเอง และการให้การนับถือคนอื่น ขณะเดียวกัน ก็ให้ลูกมีอิสรภาพที่เป็นส่วนของตัวเขา
แม้ว่าลูกวัยรุ่นจำเป็นต้องได้รับการช่วยประเมินและชี้แนะจากพ่อแม่ หากเป็นการชี้แนะในทางบวกและด้วยความรัก พวกเขาจะตอบรับได้กว่าการที่พ่อแม่จะประเมินเฉพาะในด้านลบ และการวิพากษ์วิจารณ์
พ่อแม่ไม่ควรมองเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาของลูกวัยรุ่นเท่านั้น ควรมองส่วนที่เป็นด้านบวกของพวกเขา เช่น ให้คำยกย่องพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วย ลูกวัยรุ่นถึงจะได้รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ และให้การสนับสนุนค่านิยมของครอบครัวเพิ่มขึ้น
๐ พ่อแม่จะสังเกตว่าเด็กวัยรุ่นมีปัญหาได้อย่างไร
วัยรุ่นโดยเฉพาะคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) หรือมีปัญหาขัดแย้งกับทางบ้าน มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมแบบทำลายล้างตนเองได้หลายเรื่อง เช่น การติดเหล้าหรือยา การมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่มีการป้องกัน โรคซึมเศร้า ความผิดปกติเรื่องการกิน
อาการที่เป็นสัญญาณว่าวัยรุ่นกำลังจะมีปัญหาที่พ่อแม่อาจสังเกตได้
1.พฤติกรรมแบบวุ่นวายหรือกระสับกระส่าย
2.น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก หรือลดลงมาก
3.ผลการเรียนตกต่ำลง
4.มีปัญหาการขาดสมาธิ ว่อกแว่ก
5.มีความรู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่อง
6.เบื่อหน่าย ไม่สนใจคนและสิ่งต่างๆ
7.ขาดแรงจูงใจที่จะทำอะไร
8.เหนื่อยอ่อน ขาดพลังงาน ขาดความสนใจในการทำกิจกรรม
9.การมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ
10.มีปัญหาในการนอนไม่ค่อยหลับ
หากพ่อแม่เห็นว่าลูกวัยรุ่นมีอาการที่ส่อเค้าว่าจะมีปัญหา ควรพูดคุยกับลูก ถามเขาว่ามีอะไรกวนใจเขาและตั้งใจรับฟังอย่างใจเย็น โดยไม่ด่วนตัดสินพิพากษา ไม่ตีโพยตีพายหรือแสดงอารมณ์มากไป เพื่อที่จะหาทางเข้าใจปัญหาและศึกษาหาทางแก้ไข
ถ้าพ่อแม่ไม่ค่อยมีความรู้ทางจิตวิทยาไม่ค่อยพร้อม ก็ควรไปขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยาหรือผู้มีความรู้มีประสบการณ์ในเรื่องทำนองนี้ (หรืออ่านหนังสือจิตวิทยามากขึ้น)
อย่าทิ้งปัญหาไว้ด้วยความหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป ปัญหามันจะหายไปเอง หากปัญหาเพิ่งเริ่มต้น จะหาทางแก้ไขได้ง่ายกว่าการปล่อยให้บานปลายใหญ่โตขึ้น การตระหนักถึงปัญหาและหาทางแก้ไข จะเป็นโอกาสอันดีที่พ่อแม่และลูกวัยรุ่นจะได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาร่วมกัน.