สังเกตอย่างไร? ว่าลูกโตเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
สรีระร่างกายที่กำลังเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เพราะเด็กอาจไม่คุ้นชินกับรูปร่างของที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
KEY
POINTS
- การที่เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยมีหลายสาเหตุ มักจะเกิดกับเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และ 90-95 % ของเด็กหญิงที่เป็นสาวก่อนวัยเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ
- ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนวัย และความต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน อาจทำให้ลูกเราปรับตัวไม่ทัน จึงส่งผลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
- พ่อแม่ปกป้องลูกให้ไกลจากภาวะหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยได้ โดยพยายามควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ ให้ลูกรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ หากพบสัญญาณบ่งชี้โรค ควรพบกุมารแพทย์ทันที
หากสภาพร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงก่อนวัยอันควร เด็กจะยิ่งรู้สึกไม่ชิน และจะคิดว่าตนเองแปลกแยกจากเพื่อนรอบข้าง จนอาจทำให้สูญเสีย “ความสุขในวัยเด็ก” ไปได้
ภาวะที่มีการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนวัยอันควร ซึ่งหากผู้ปกครองสังเกตเห็นความผิดปกติของบุตรหลาน ก็จะสามารถแก้ไขความผิดปกตินั้นได้ทันท่วงที
ถ้ามีการเริ่มเข้าสู่วัยสาวที่อายุน้อยกว่า 8 ปีในเด็กหญิง และเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มที่อายุน้อยกว่า 9 ปีในเด็กชาย โดยทั่วไปเด็กหญิงจะเข้าสู่วัยสาวที่อายุ 8-13 ปีและเด็กชายจะเข้าสู่วัยหนุ่มที่อายุ 9-14 ปี ถือว่าอาจเป็นภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยที่ควรปรึกษาแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ภาวะนี้พบได้บ่อยแค่ไหนกัน?
พญ. พรนภา แซ่ตั้ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ กล่าวว่าภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย หรือภาวะที่เด็กโตเร็วกว่าปกติเกินอายุ พบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่จะพบในเด็กผู้หญิงมากกว่า 8–20 เท่า พ่อแม่จึงต้องหมั่นสังเกตภาวะการเติบโตของลูก เพราะอาจมีความผิดปกติใดๆ แฝงอยู่
โดยสาเหตุนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุชัดเจนว่า ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร แต่พบว่าส่วนใหญ่นั้นอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ได้เช่นกัน
- พันธุกรรม
พ่อแม่ที่มีประวัติเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เช่น พ่อเสียงแตกเร็ว หรือแม่มีประจำเดือนเร็ว ลูกก็มีโอกาสเป็นภาวะนี้สูง
- สิ่งแวดล้อม
เด็กที่มีน้ำหนักเกินจากการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วกว่าปกติได้
- พยาธิสภาพในสมอง
เกิดจากสมองและต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ เช่น เนื้องอก สมองขาดออกซิเจน การติดเชื้อในสมอง หรือเคยได้รับการฉายรังสี ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศเร็วกว่าวัยอันควร
สัญญาณบ่งชี้…ที่พ่อแม่ต้องสังเกต
อย่างที่บอกว่าความยากของภาวะนี้คือไม่ได้มีสาเหตุที่ชัดเจนโดยตรงว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็ยังพอมีสัญญาณเตือนบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ และเมื่อมีอาการเหล่านี้เมื่อไหร่ แนะนำให้รีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
เด็กผู้ชายมีอาการเหล่านี้ก่อนอายุ 9 ปี
- มีอัณฑะขนาดใหญ่ขึ้น
- เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ หรือมีกลิ่นตัวร่วมด้วย
- มีสิว หน้ามัน เสียงแตก
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ
เด็กหญิงมีอาการเหล่านี้ก่อนอายุ 8 ปี
- มีไตเต้านมขึ้น
- มีประจำเดือน ตกขาว
- เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้
- มีสิว หน้ามัน มีกลิ่นตัว
- สะโพกผาย
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ
วิธีสังเกตที่พ่อแม่ควรรู้ เมื่อลูกมีภาวะ
วิธีสังเกตเมื่อลูกมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ภาวะเป็นสาวก่อนวัยหมายถึง ภาวะที่เด็กหญิงเริ่มมีเต้านมก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปี โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กหญิงเริ่มเป็นสาว จะมีฮอร์โมนเพศเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย คือ
"ในเด็กหญิงจะเริ่มมีเต้านม มีความสูงเพิ่มเร็วขึ้น โดยสังเกตจากอัตราการเพิ่มความสูงจะมากกว่า 5-6 ซม. ต่อปี จนเมื่อเข้าสู่การเป็นสาวเต็มที่ ก็จะมีประจำเดือน และจะหยุดสูงหลังจากมีประจำเดือนสม่ำเสมอไปแล้วประมาณ 3 ปี ส่วนภาวะเป็นหนุ่มก่อนวัย ดูได้จากการมีหนวด เสียงแตกเร็วกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน"
การที่เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยมีหลายสาเหตุ มักจะเกิดกับเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และ 90-95 % ของเด็กหญิงที่เป็นสาวก่อนวัยเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนน้อยเกิดจากความผิดปกติในสมอง, มีการสร้างฮอร์โมนเพศจากตำแหน่งอื่นในร่างกาย หรือได้รับการกระตุ้นฮอร์โมนเพศจากภายนอก
โดยที่เด็กผู้ชายส่วนใหญ่เข้าวัยรุ่นเร็วมักจะมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น มีเนื้องอกเกิดขึ้น นอกจากฮอร์โมนทำงานเร็ว
แพทย์จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย?
ในเด็กที่รูปร่างผอม เมื่อมีการพัฒนาของเต้านมขึ้น เด็กจะรู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม แต่เด็กที่รูปร่างอวบ อาจจะไม่รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม นอกจากพบว่ามีเต้านม ผู้ปกครองอาจจะสังเกตเห็นว่าเด็กสูงเร็วขึ้น ผู้ปกครองควรพาเด็กพบแพทย์ เมื่อพบว่าเด็กหญิงมีเต้านมขึ้น หรือเริ่มสูงเร็ว ก่อนอายุ 8 ปี ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนวัย และความต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน อาจทำให้ลูกเราปรับตัวไม่ทัน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ ตามมาได้
- ด้านร่างกาย
การที่เด็กเข้าวัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการเชื่อมปิดกระดูกเร็ว ส่งผลให้ความสูงน้อยกว่าพันธุกรรม สำหรับเด็กผู้หญิงที่มีประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
- ด้านจิตใจ
แม้ว่าสรีระภายนอกของเด็กจะเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว แต่ภายในจิตใจก็ยังคงเป็นเด็ก ลูกเราจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนเพื่อน อาจโดนเพื่อนล้อ ส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจ มีพฤติกรรมแยกตัว หรือในเด็กผู้ชายบางรายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และแสดงออกเรื่องอารมณ์ทางเพศในทางที่ไม่ถูกต้อง
ตรวจวินิจฉัย…รู้ผลที่แม่นยำ
หากพ่อแม่สงสัยว่าลูกมีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยหรือไม่ ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที นอกจากแพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด และประเมินการเจริญเติบโตของเด็กแล้ว ยังสามารถตรวจวินิจฉัยด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น
- ตรวจอายุกระดูก
เอกซเรย์กระดูกข้อมือข้างที่ไม่ถนัด เพื่อตรวจดูอายุกระดูก ซึ่งมักพบว่ากระดูกมีอายุมากกว่าอายุจริงของเด็ก
- ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน
โดยทำการทดสอบฮอร์โมน GnRH Stimulation Test เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย เพื่อเฝ้าระวังหรือทำการรักษา
รักษาได้…พ่อแม่ก็คลายกังวล
เพราะสาเหตุการเกิดโรคของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีรักษาจึงย่อมแตกต่างกัน ฉะนั้นวิธีการรักษาจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
รักษาตามสาเหตุของการเกิดโรค โดยฉีดยาชะลอการเป็นหนุ่มสาว เพื่อให้เด็กสามารถเจริญเติบโตตามวัยที่เหมาะสม
พ่อและแม่สามารถปกป้องลูกให้ไกลจากภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยได้ นั่นคือ พยายามควบคุมน้ำหนักของลูกให้เป็นไปตามเกณฑ์ โดยให้ลูกรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย และหากพบสัญญาณบ่งชี้โรค อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพามาพบกุมารแพทย์ทันที
รับมือแบบรู้ทัน ลูกหนุ่มสาวก่อนวัย
- หากเด็กตกอยู่ในภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือ
- บอกให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อธิบายตามจริง ห้ามโกหกเด็ดขาด
- ตรวจสอบข้อมูลและให้ความรู้อย่างถูกต้อง
- ถ้าต้องเข้ารับการรักษาให้บอกถึงผลเสียหากไม่รีบรักษา
- หมั่นให้ความรู้เรื่องเพศตามความเหมาะสมเพื่อให้เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
อ้างอิง:โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลรามคำแหง