เลี้ยงลูก! พ่อแม่ก็เป็นพิษได้ | วรากรณ์ สามโกเศศ
สังคมไทยดูจะสนใจเรื่องการเลี้ยงลูกกันมากขึ้น ตามกระแสเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นถึงแม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง แต่ความวุ่นวายของชีวิตอาจทำให้มองข้ามไปได้ ล่าสุด มีงานศึกษาทางจิตวิทยาที่ให้คำแนะนำพ่อแม่อย่างน่าสนใจ
James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2543 พบว่าอัตราผลตอบแทนของสังคมจากการลงทุนในเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ โดยอบรมเลี้ยงดูอย่างดีนั้นสูงถึงร้อยละ 13 และพบอีกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุด มาจากการลงทุนสำหรับช่วงอายุของเด็กก่อนเกิด และลดลงมาเป็นลำดับในช่วง 0-3 ขวบ (วัยแรกเกิด) และ 4-5 ขวบ (วัยก่อนโรงเรียน) ดังที่รู้จักกันดีในนามของ The Heckman Curve
รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายอย่างสอดคล้องกับการค้นพบดังกล่าว โดยได้จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดตั้งแต่ 2559 เป็นต้นมาแก่ครอบครัวรายได้น้อย (ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) ในปัจจุบันผู้มีบุตรได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท และเงินอุดหนุนบุตรจ่าย 600 บาท รวมเป็น 1,400 บาทต่อเดือน จนกว่าลูกจะมีอายุครบ 6 ปี (รับได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน)
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะได้รับเงินสำหรับเลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีแล้วก็ตาม แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะการอบรมเลี้ยงดูควบคู่ไปกับการมีอาหารเพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่ง พ่อแม่จำนวนมากสับสนไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรในโลกปัจจุบัน ข้อเขียนโดย Dr.Ronald E. Riggio ใน Psychology Today (October 7, 2023), "4 Ways Parents Can Harm Their Children” ให้แนวคิดที่น่าพิจารณา
พัฒนาการของเด็กในช่วงเวลา 0-5 ขวบ นับว่าสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเด็กที่มีสุขภาพจิตดี งานวิจัยอันยาวนานพบว่าการเลี้ยงดูลูกที่ผิดพลาด สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เด็กและสังคม มีการเลี้ยงลูกอยู่ 4 แบบที่พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด
1.เลี้ยงแบบลงโทษ (Punitive Parenting) พ่อแม่จะใช้อำนาจบังคับให้ลูกอยู่ในกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด พ่อแม่ใช้การควบคุมและครอบงำลูกอย่างมาก สิ่งที่เป็นพิษก็คือการลงโทษเด็กที่อยู่ใต้ระบบนี้มักมีพัฒนาการของอารมณ์ที่เป็นลบ เช่น โกรธ กลัว และรู้สึกผิด
การอยู่ภายใต้การคุกคามที่จะถูกลงโทษ และเกิดความเจ็บปวดทางกายและใจเช่นนี้ ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านจิตวิทยาอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นการลงโทษโดยแท้จริงแล้วไม่เป็นผลในการทำให้เด็กมีพฤติกรรมดังที่ต้องการเลย
เด็กจะเรียนรู้เอาตัวรอดด้วยการมีพฤติกรรมที่ไม่ดีตอบโต้ ซึ่งนำไปสู่การเกลียดชังและความโกรธแค้นขุ่นเคืองใจจากการถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม
งานวิจัยพบว่าเด็กที่เติบโตภายใต้การเลี้ยงดูในลักษณะนี้ เมื่อเป็นพ่อแม่เองก็มีทางโน้มที่จะปฏิบัติต่อลูกในลักษณะเดียวกัน
2.เลี้ยงแบบสอดส่องใกล้ชิดเกินไป (Helicopter Parenting) พ่อแม่ประเภทนี้ติดตามสอดส่องพฤติกรรมของลูกเสมือน “บินอยู่เหนือหัว” ตลอดเวลาคล้ายเฮลิคอปเตอร์
พ่อแม่มักเข้าแทรกแซงและตัดสินใจแทนลูกเสมอ โดยมีลักษณะปกป้องลูกเกินเหตุ (overprotective) และมีทางโน้มที่จะทำหน้าที่ดูแลลูกอย่างมากเกินไป (over-parent) ไม่ยอมให้ลูกตัดสินใจเองและกระทำการใดอย่างเป็นอิสระ
งานวิจัยพบว่าพ่อแม่เรือบินเหล่านี้ ทำลายศักยภาพความเป็นผู้นำของลูกและมีหลักฐานว่าอาจนำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ (self-esteem) น้อยลงในเด็ก และอาจไปกดทับการมีความคิดริเริ่ม เด็กต้องพึ่งพิงพ่อแม่ในการตัดสินใจอยู่เสมอ
3.เลี้ยงแบบ “อยู่ห่างๆ” (Hands-Off Parenting ) ทัศนคติของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูว่า “อะไรก็ได้ทั้งนั้น” ครอบคลุมตั้งแต่การทอดทิ้งไม่สนใจใยดี ไปจนถึงการตามใจลูกในสารพัดเรื่อง พ่อแม่พวกนี้ยอมให้ลูกเล่นวิดีโอเกมอย่างไม่จำกัด และใช้โทรทัศน์เป็นเพื่อนลูก พฤติกรรมของพ่อแม่ทำให้ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มี
เด็กเหล่านี้มีทางโน้มที่จะขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง อาจมีปัญหาในการสื่อสารกับผู้คน (เพราะมีเวลาที่มีคุณภาพหรือ quality time กับพ่อแม่น้อย)
เด็กที่พ่อแม่สปอยจากการที่ไม่เคยได้ยินวลี “ไม่ได้” จะมีความรู้สึกว่าตนเองมีสิทธิได้รับสิ่งที่ต้องการเสมอ เพราะการได้รับมิได้มาจากความเมตตา หากเป็นสิทธิของเขาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็จะเป็นคนที่ “เอาแต่ได้” (all take and no give)
4.เลี้ยงแบบไม่อยู่กับร่องกับรอย (Inconsistent Parenting) พ่อแม่ประเภทนี้บางครั้งก็พูดจาดีให้ความอบอุ่นและสนับสนุน แต่บางครั้งก็เย็นชา มีพฤติกรรมที่คาดเดาได้ยาก ไม่สม่ำเสมออย่างไม่อยู่กับร่องกับรอย เด็กภายใต้การเลี้ยงดูลักษณะนี้จะรู้สึกไม่มั่นคงและมีความกังวลเกินเหตุอยู่เสมอ เมื่อเติบโตขึ้นจะมีบุคลิกที่ทั้งอบอุ่นและเย็นชาในความสัมพันธ์ที่มีกับผู้อื่น
สำหรับตัวผู้เขียนเองที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก และสังเกตมายาวนานมีความรู้สึกว่า พ่อแม่ประเภทที่ 3 เป็นพิษอย่างมากสำหรับลูกในโลกปัจจุบัน
ที่เมื่อพ่อแม่มีฐานะดีขึ้น (สามารถหาความสุขส่วนตัวได้มากขึ้นและหลากหลายชนิดขึ้น) อุดมการณ์และความมุ่งมั่นในการเลี้ยงลูกน้อยลงหรือมากเกินไป จนขาดความพอดี ตลอดจนละเลยการสร้างวินัยและเอาใจใส่ลูกอย่างเหมาะสม
พ่อแม่ประเภทนี้มักคิดว่าการให้สิ่งของและความสะดวกสบายทุกสิ่งที่ลูกต้องการ คือการเลี้ยงดูที่ดีแล้ว โดยลืมนึกไปว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้คือ TLC (Tender Loving Care) หรือ “อ่อนโยนดูแลเลี้ยงดูอย่างรักใคร่” นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งและต้องมีควบคู่กันไป
บทความสรุปว่า วิธีเลี้ยงลูกที่แนะนำคือ “Authoritative Parenting” ซึ่งหมายถึงสนับสนุนให้ลูกเป็นอิสระภายใต้กรอบอย่างมีวินัย โดยสนับสนุนเสมอและไม่มีการลงโทษ เมื่อเติบโตขึ้นพ่อแม่ก็ให้ลูกมีความเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้นทีละน้อย
การเลี้ยงดูแบบนี้จะนำไปสู่ความสามารถในการควบคุมตนเอง มีความรู้สึกเชื่อมั่น ไว้วางใจตนเองและมีทักษะสังคม
คุณภาพของคนในครอบครัวและสังคมนั้น สำคัญอย่างยิ่งปัญหาของคนเพียงคนเดียวสามารถสร้างความเสียหายและความปวดใจได้อย่างมหาศาล.