ย้ำ!! ผู้ประกันตน ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย

ย้ำ!! ผู้ประกันตน ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย

สำนักงานประกันสังคม ย้ำผู้ประกันตนทำฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ไม่ต้องสำรองจ่าย มี.ค.67 สูงถึง 3.3 แสนครั้ง ประกันสังคมจ่ายแล้วกว่า 169 ล้านบาท  

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงยอดผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ใช้สิทธิประโยชน์ในกรณีทันตกรรม อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในวงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ล่าสุดเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนมาใช้บริการแล้วกว่า 330,813 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 169,431,024 บาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าผู้ประกันตนที่จะไปใช้สิทธิประโยชน์ในกรณีทันตกรรม อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"วันแรงงาน" ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วไทย คาดเดือนต.ค.ชัดเจน

สิทธิประกันสังคม 2567 เช็กสิทธิทำฟัน 'เบิกประกันสังคม' ครอบคลุมอะไรบ้าง?

ผู้ประกันตนใช้สิทธิทำฟัน สูงถึง 3.3 แสนครั้ง 

โดยตัวเลข ณ 31 มี.ค.67 มีสถานพยาบาลเอกชน/คลินิก 3,951 แห่ง และสถานพยาบาลรัฐ 10,654 แห่ง รวมให้บริการแก่ผู้ประกันตนทั้งสิ้นถึง 14,605 แห่ง และยังคงต่อยอดเพิ่มสถานพยาบาลในความตกลงให้บริการทันตกรรมแบบไม่ต้องสำรองจ่ายอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการให้สิทธิผู้ประกันตนที่ต้องเข้ารับบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็นในกรณีประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับช่องปาก ซึ่งเป็นการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อบริการผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษาสุขภาพช่องปากอีกด้วย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

ย้ำ!! ผู้ประกันตน ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย

เช็กสิทธิประกันสังคม ทำฟัน สำหรับผู้ประกันตน

สิทธิทำฟัน ทำฟันประกันสังคม คือ สิทธิที่ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และ 39 จะสามารถใช้สิทธิทางทันตกรรม

สำหรับบริการขูดหินปูน, อุดฟัน, ถอนฟัน และถอน/ผ่าฟันคุด ได้ฟรี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการรับบริการ ภายในวงเงิน 900 บาท/ปี 

อีกทั้งยังให้สิทธิผู้ประกันตนในการเบิกค่าฟันปลอม ภายในเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม โดยรายละเอียดของฟันปลอม จะแยกเป็น 2 กรณี

  • ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน

ฟันปลอมจำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่ากับที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท

ฟันปลอมจำนวน 5 ซี่ เบิกได้เท่ากับที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก

ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก บนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม

ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก บนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม

สิทธิสำหรับผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาบริการทางทันตกรรม ได้ดังต่อไปนี้ 

  • สิทธิขูดหินปูน

การขูดหินปูน เป็นการขจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่บริเวณฟัน และซอกฟันให้หลุดออก เพื่อสุขภาพฟัน และช่องปากที่แข็งแรง ช่วยป้องกันโรคเหงือกและฟันที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการสะสมของคราบหินปูนในปริมาณมาก ๆ

โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะแนะนำให้ ขูดหินปูน เพื่อทำความสะอาดคราบหินปูนสะสม ในทุกๆ 6 เดือน

  • สิทธิการอุดฟัน

การอุดฟัน ได้แก่ การบูรณะ หรือการซ่อมแซมเนื้อฟันที่มีรอยผุโดยทันตแพทย์ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน (Composite Resin) และ วัสดุอุดฟันสีเงิน อมัลกัม (Amalgam)

  • สิทธิถอนฟัน

การถอนฟันเป็นทันตกรรมทั่วไป สำหรับกรณีฟันที่ผุมาก เช่น ฟันที่ผุจนทะลุถึงโพรงประสาทรากฟัน หรือมีฟันที่ผุมากจนเหลือแต่ตอ และมีอาการปวดฟันมากร่วมด้วย

  • สิทธิ ถอนฟันคุด / ผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด เป็นการรักษาทางทันตกรรม เพื่อเอาฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นซี่สุดท้ายในขากรรไกร ที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาในช่องปากได้ออก โดยฟันซี่ดังกล่าว อาจฝังตัวอยู่ในกระดูกขากรรไกร หรืออยู่ในเหงือก

ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ปวดหรือบวมได้ และ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ฟันซี่นั้น ๆ ก็จำเป็นต้องได้รับการเอาออกโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง