คกก.ไตรภาคี ยันการเมืองไม่แทรกแซง มอบคณะอนุฯจังหวัดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
มติคณะกรรมการไตรภาคี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มอบคณะอนุกรรมการจังหวัดแต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ละกิจการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ ยืนยันการเมืองไม่ได้แทรกแซง ไม่ได้เร่งรีบสนองนโยบายภาครัฐ
วันนี้ (14 พ.ค.2567) ที่กระทรวงแรงงาน เวลา 16.45 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานและประธาน คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 กล่าวภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลานานกว่า4 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ได้นำประเด็นข้อเสนอของจากทั้งฝั่งนายจ้าง และลูกจ้าง หลังจากที่มีการประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 มาพิจารณา
และคณะกรรมการไตรภาคีขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือของการเมือง ตามที่ฝั่งนายจ้างกังวล ดังนั้น ที่ประชุมไตรภาคี ได้มีมติในเรื่องของค่าจ้าง โดยให้คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดพิจารณา ว่าควรจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็นตัวเลขเท่าใด กิจการไหนจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้าง และเห็นด้วยหรือไม่ที่ต้องขึ้นภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 นี้ โดยให้เสนอมาภายในเดือน ก.ค.2567
“มติและการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาโดยไม่มีอำนาจใดมาแทรกแซง เป็นไปตามกรอบพิจารณาสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และราคาสินค้าในท้องตลาดนั้นๆ เพราะบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เราจะให้เกียรติทางคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัดเป็นคนนำเสนอว่าแต่ละจังหวัด ควรจะขึ้นค่าจ้างเท่าใด และกิจการใดบ้าง เพราะเราต้องเข้าใจว่า บางกิจการ อย่าง SMEs ค้าปลีก ค้าส่ง ชาวสวนชาวไร่ อาจะไม่พร้อมให้ขึ้นค่าแรง อยากให้จังหวัดเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง พิจารณา ความเห็น และนำเสนอมาคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ มาเคาะครั้งสุดท้าย เพื่อให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด” นายไพโรจน์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ400บาท" ขณะที่ยอด "หยุดกิจการ"ปี 67 มากกว่าปี 66
- 16 สภาองค์การนายจ้าง ค้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ
- ครม.สัญจรเพชรบุรี รับทราบขึ้นค่าแรง 400 /วัน ทั่วประเทศ เริ่มต.ค.นี้
ยืนยันการเมืองไม่ได้แทรกแซง
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการไตรภาคี พยายามทำให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงกับความต้องการของทั้งฝั่งลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งการยกเลิกสูตรเดิม และใช้สูตรค่าแรงลอยตัว ไม่กำหนดตัวเลขค่าแรงแก่คณะอนุกรรมการไตรภาคี เพื่อให้มีเสรีภาพ และอิสระในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งที่ประชุมฝ่ายลูกจ้างไม่ได้ต้องการปรับค่าแรงขึ้นเพียง 400 บาทเท่านั้น
บางกิจการต้องขึ้นค่าแรงมากกว่านั้น ตัวเลขค่าแรงในแต่ละพื้นที่จึงแล้วแต่ทางคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัดนำเสนอ แต่เมื่อมาเข้าสู่คณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ จะมีสูตรในการคำนวณเพื่อให้เหมาะสม หาจุดพอดีได้ทั้งฝ่ายนายจ้าง และ ลูกจ้าง
“ฝ่ายนายจ้างมีข้อเสนอว่า การนำเสนอข้อมูลของคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัด ควรกำหนดเวลาถึงปลายปี แต่ผมมองว่านานเกินไป 2 เดือนก็พอแล้ว ไม่ต้องเก็บข้อมูลถึง 6 เดือน และยืนยันไปแล้วว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอทางการเมือง แต่เป็นเหตุผลและช่วงเวลาที่ควรทำ เราไม่ได้รวบรัด ซึ่งเมื่อความคิดของนายจ้าง และลูกจ้างคนละมุม เราเป็นภาครัฐ ต้องรวบรวมและหาจุดที่เหมาะสม และการกำหนดเป็นการโหวตมติ” นายไพโรจน์ กล่าว
ส่วนที่มีข้อเสนอว่าค่อยปรับขึ้นค่าแรงในปี 2568 ได้หรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาคณะอนุกรรมการจังหวัดว่าเสนอมาอย่างไร และคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นวันไหนอย่างไร
โวย คกก.ไตรภาคี เร่งรัดปรับขึ้นค่าแรง
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้างกล่าวว่าบรรยากาศในการประชุมวันนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาตามวาระการประชุม และมีการเสนอให้พิจารณาค่าจ้างตามประเภทของอุตสาหกรรม โดยฝ่ายเลขาธิการ ได้เสนอให้มีการศึกษาวิจัยว่าภาคอุตสาหกรรมใด ควรปรับขึ้นค่าแรงอย่างไร ทำให้ไม่ได้ข้อสรุปในครั้งนี้ และคาดว่าจะมาสรุปใหม่อีกครั้งในเรื่องของรายอาชีพ ประเภทอุตสาหกรรม ในการประชุมครั้งถัดไป 19 มิ.ย.2567
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีการเสนอการลอยตัวของค่าจ้างเหมือนในอดีต และมีมติให้ทางคณะอนุกรรมการจังหวัด พิจารณาค่าจ้างเสนอกลับมาพิจารณาให้เร็วที่สุด ซึ่งพยายามจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. นี้ ก่อนจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง
“ในมุมมองของนายจ้าง มีข้อสังเกตว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเร่งรีบกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติการปฎิบัติหน้าที่นั้น จะมีมติโดยทั่วไป ให้ทางคณะอนุกรรมการจังหวัดพิจารณา และเสนอมาได้ภายในเดือนส.ค. เพราะจะต้อง มีการเก็บข้อมูลตลอดปลายปี 2566 จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2567 และต้องรอข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ที่จะออกมาในเดือนก.ย. และในเดือนก.ย.จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการวิชาการกลั่นกรอง ประมาณเดือนต.ค. ก่อนจะพิจารณาอีกครั้งในคณะอนุกรรมการชุดใหญ่เดือนพ.ย. และคาดว่าจะประกาศเดือนม.ค.2568” นายอรรถยุทธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถือว่ามีความเร่งรีบอย่างมากที่จะปฎิบัติให้เร็วขึ้น ทำให้ข้อมูลไม่เพียงพอ และในที่ประชุม ไม่ได้มีการพูดว่าจะปรับขึ้นค่าแรงเท่าใด ไม่ได้พูดถึงตัวเลข 400 หรือไม่ 400 แต่เป็นการพิจารณาดำเนินการให้คำนึงถึงกฎหมาย
“ที่ประชุมได้มีมติ 7 ต่อ 5 ยกเลิกสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ที่มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือนก.พ.2567 ที่ผ่านมา ตอนนี้จึงเป็นการใช้สูตรที่ไม่ได้เป็นสูตรใหม่ แต่เป็นสูตรที่นายจ้างรับไม่ได้ หมายถึงเป็นสูตรที่อิงไปตามปริมาณและอัตราซึ่งไม่มีเพดานกำหนด ทำให้นายจ้างรับไม่ได้กับสูตรดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม สูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการทดลองนำร่องเท่านั้น ส่วนจะใช้สูตรอะไรต่อไปนั้น คงต้องพิจารณาได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งหน้า วันที่ 19 มิ.ย.2567” นายอรรถยุทธ กล่าว