16 สภาองค์การนายจ้าง ค้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ
16 สภาองค์การนายจ้าง ค้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ กระทบกลุ่มธุรกิจ SMEs จี้รมว.แรงงานทำตามกรอบกฎหมาย ระบุปรับหลายรอบ ตามประเภทอุตสาหกรรมไม่เวิร์ค
KEY
POINTS
- 16 สภาองค์การนายจ้างยื่นหนังสือต่อรมว.แรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ไตรภาคี คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ
- เศรษฐกิจไทยไม่พร้อมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญขีดความสามารถในการแข่งขันด้อยลงเรื่อยๆ
- เข้าใจรมว.แรงงานทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่ควรดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ไม่ควรปรับค่าแรงรอบ 3 หวั่นธุรกิจSMEs ทุกอุตสาหกรรมจะไม่รอด
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2(เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) จ.เพชรบุรี วันนี้ (14 พ.ค.2567) มีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือนก.ย.-ต.ค.67 นี้ มีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือนก.ย.-ต.ค.67 นี้
วันนี้ (14 พ.ค.2567) ที่กระทรวงแรงงาน มี 16 สภาองค์การนายจ้าง ได้มายื่นหนังสือต่อรมว.แรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(ไตรภาคี) คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ โดยมี ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่าประเทศอยู่ในช่วงเปราะบาง มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญขีดความสามารถในการแข่งขันด้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ไม่พร้อมที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ต่างมุม!! "นายจ้าง ลูกจ้าง" หนุน-ค้าน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
ค้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รอบ3 ไม่จำเป็น
“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ จะกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs เพราะพวกเขาจะไม่มีความพร้อมในการปรับขึ้นค่าแรง ทุกอย่างต้องมีเวลาในการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจ อีกทั้งธุรกิจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าขนส่ง ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เราอยากให้รัฐบาลดูแลจุดนี้ และเราเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงานที่กำหนดไว้โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ทุกอุตสาหกรรมมีการดำเนินการปรับค่าแรงอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน อยากให้มีการสนับสนุน SMEs พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มากขึ้น” ดร.เนาวรัตน์ กล่าว
ดร.เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีต้นทุน มีกำไร รายได้ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ การปรับขึ้นค่าแรงต้องมองความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก และจริงๆ แล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ เป็นค่าแรงแรกเข้า ไม่ใช่ค่าแรงของพนักงานที่อยู่มานานๆ เพราะพนักงานที่อยู่มานานๆ เขามีค่าแรงที่มากกว่า 400 บาทอยู่แล้ว
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 ทั่วประเทศ เป็นการปรับค่าแรงแรกเข้าอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อมีการปรับคนที่พึ่งเข้ามา คนที่อยู่ก่อนแล้วก็ต้องปรับขึ้นด้วย ไม่ว่าจะทำงานรายวัน หรือรายเดือนต้องปรับหมด แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่สามารถทำได้ อีกทั้ง ปี 2567 นี้ ประเทศไทยปรับขึ้นค่าแรงมาแล้ว 2 รอบ และจะมาคิดปรับขึ้นอีก คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และไม่มีเหตุผลเพียงพอ
ไม่กล่าวโทษรมว.แรงงาน แต่ขอให้ทำตามกรอบกฎหมาย
ส่วนสูตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตามโซนจังหวัด สูตรเหล่านี้เป็นมานานแล้ว และเมื่อต้นปีมีการปรับสูตรใหม่เป็นตามประเภทกิจการ ประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งบางคลัสเตอร์อาจไม่เหมาะสม เพราะสูตรการปรับขึ้นค่าแรงไม่ใช่ว่าทำแล้วจะเหมาะสม 100% อาจจะเหมาะสมช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ต้องมีการกำหนดสูตรใหม่ให้เหมาะสม
"การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ กลุ่มธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่การขึ้นเป็นโซนจังหวัดสามารถนำข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ มาพิจารณาเก็บข้อมูลรายจังหวัด และให้แต่ละอุตสาหกรรมในจังหวัดนั้นๆ หารือ เพื่อเลือกตามประเภทอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา อย่าง การปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ตอนนี้ก็กำลังย่ำแย่ ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย ถ้าทำแบบนั้นต่อไป"
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามกฎหมายควรปรับขึ้นเพียงครั้งเดียว หากปรับขึ้นหลายๆ ครั้ง ผู้ประกอบการอาจไม่ไหว อาจต้องปิดกิจการ เพราะรายรับไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับรายจ่าย ผู้ประกอบการก็จะอยู่ไม่ได้ แรงงานก็จะตกงาน
ดร.เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า การออกมาคัดค้านของสภาองค์การนายจ้าง คงไม่ได้จะกล่าวโทษรมว.แรงงาน เพราะเข้าใจว่ารมว.แรงงานคงต้องทำตามนโยบายของรัฐบาง แต่อยากให้ทำตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น และคณะกรรมการค่าจ้าง ไตรภาคีที่แต่งตั้ง ควรจะนำข้อมูลจากทุกภาคส่วนมาพิจารณา เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ กลุ่มSMEs ทุกอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
4 ข้อเสนอคัดค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอในการคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ต่อประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ดังต่อไปนี้
- ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้หลักการตามกฏหมายโดยยึดแนวปฏิบัติจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในแต่ละจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
- ในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill เพื่อส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
- การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของในแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
- นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ให้แก่ภาคแรงงานในขั้นพื้นฐาน เช่น ในการจัดหา จัดซื้อ สินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกลงอีกด้วย
นอกจากนี้ สภาองค์การนายจ้าง จะมีการนำหนังสือ คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศเสนอต่อรัฐมนตีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย
สำหรับ 16 สภาองค์การนายจ้าง ประกอบด้วย
- สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
- สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
- สภาองค์การนายจ้างสภาอุตสาหกรรมเอ็สเอ็มอี แห่งประเทศไทย
- สภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค
- สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย
- สภาองค์การนายจ้างไทยสากล
- สภาองค์การนายจ้างการเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจ การค้าและบริการไทย
- สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย
- สภาองค์การนายจ้างไทย
- สภาองค์การนายจ้าง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมแห่งชาติ
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหการไทย
- สภาองค์การนายจ้าง เอส.เอ็ม.อี แห่งประเทศไทย
- สภาองค์การนายจ้างบริการไทย
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว-ภาค 8