How to ปรับตัวสู่การทำงานแบบ "Agile" แนวคิดฉบับองค์กรคนรุ่นใหม่
โลกทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีเข้ามาเป็นกำลังเสริมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้รูปแบบการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงานในยุคนั้น ๆ
KEY
POINTS
- บริษัทมากมายทั่วโลกพยายามปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการปรับตัวนั้นได้รวมถึงการปรับรูปแบบการทำงานภายในองค์กร
- Agile หรือ อไจล์ คือ กระบวนการทำงานที่ลดขั้นตอนการทำงานแบบบัญชาการเป็นขั้นๆ เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม กระจายงานอย่างทั่วถึง
- การทำงานแบบ Agile ให้สำเร็จ ต้องวางแผนการทำงานเป็นทีมเล็กๆ แบ่งช่วงเวลาการทำงาน ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ และมีความโปร่งใส
โลกทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีเข้ามาเป็นกำลังเสริมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้รูปแบบการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงานในยุคนั้น ๆ
ขณะนี้จึงมีชุดแนวคิด วิธีการทำงานเกิดขึ้นตลอดเวลา แนวคิดการทำงานแบบ Agile คือ หนึ่งในแนวคิดการทำงานที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะตอบโจทย์การเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ รวมถึงผลลัพธ์คือการเพิ่มประสิทธิภาพของงาน แล้ว Agile คือ แนวคิด หรือหลักการทำงานรูปแบบใด เหมาะกับคนรุ่นใหม่อย่างไร แล้วพนักงาน องค์กรต้องปรับตัวอย่างไร? “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมมาให้แล้ว
ว่ากันว่า จุดเริ่มต้น Agile นั้นเกิดจากทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องการกระบวนการทำงานที่รวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และมันก็ถูกปรับใช้อย่างแพร่หลายในวงการสตาร์ทอัพ และสุดท้ายก็กระจายไปทั่วโลกในฐานะหนึ่งในกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด
Agile มักถูกพูดถึงพร้อมๆ กับกรอบการทำงาน (Framework) อย่าง Scrum ที่เป็นการลดตำแหน่งภายในทีมลง ให้ความสำคัญว่าทุกคนคือ “คนทำงาน” มากขึ้น เน้นการส่งงานเร็ว และบ่อย โดยมีตำแหน่งที่เรียกว่า Product Owner คอยดูแลภาพรวมเป็นหลัก ว่าจะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ควรปรับปรุงจุดไหนบ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้
ต่างวัยไร้ปัญหา!! "วิธีการทำงานเป็นทีม" หลากเจน หลายสไตล์ ก็blendกันได้
Agile คืออะไร? แล้วต้องปรับอย่างไร?
Agile หรือ อไจล์ คือ กระบวนการทำงานที่ลดขั้นตอนการทำงานแบบบัญชาการเป็นขั้นๆ และขั้นตอนการใช้เอกสารอนุมัติลง เน้นการทำงานร่วมกันในแนวราบระหว่างทีม กระจายงานอย่างทั่วถึงมากขึ้น ทำให้สามารถทำงานต่างๆ ได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ต้องรอการอนุมัติการสั่งการจากคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า
ภายใต้รูปแบบการทำงานนี้ยังมีการแบ่งแผนงานเป็นระยะสั้นๆ หลายๆ แผน มากกว่าแผนงานระยะยาวเพียงแผนเดียวซึ่งปรับเปลี่ยนได้ยาก ซึ่งตอบโจทย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน
แนวคิดการทำงานแบบ Agile จะเป็นการทำงานที่รวดเร็วว่องไว เน้นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าขั้นตอน ด้วยการนำพนักงานจากส่วนงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกันแบบทีมเล็ก ๆ แล้วทำการ Sprint off ออกมา (Cross-functional Team) โดยไม่สนว่าใครอยู่แผนกไหน อยู่ส่วนไหนก็ร่วมทีมกันได้หมด เน้นการรับผิดชอบเฉพาะโครงการเล็ก ๆ หรืองานที่กำหนดเป้าหมายระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อให้จบงานได้ไวขึ้น ทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้องค์กรรับรู้ข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
ทุกวันนี้แนวคิดการทำงานแบบ Agile เป็นที่นิยมอยากมาในบริษัทด้านเทคโนโลยีหรือบริษัท Startup ที่เน้นการทำงานแบบคล่องตัวสูง หรือมีโปรเจกต์ย่อย ๆ เข้ามาเยอะ ไม่ต้องเน้นการตรวจสอบหลายขั้นตอน เน้นผลลัพธ์ที่ไวและมีประสิทธิภาพ (จริง ๆ แล้ว Agile เป็นชุดความคิดที่ใช้สร้างวัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกันมากกว่ารูปแบบการทำงาน)
กระบวนการทำงานแนวคิด Agile Methodology
"Agile" เป็นชุดความคิด เป็นกรอบแนวทางการทำงานแบบภาพกว้าง บริหารงานโดยเน้นบุคคลผ่านกระบวนการที่ดี หรือเน้นการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ปรับไปตามความต้องการของลูกค้า
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น JobsDB ได้อธิบาย Agile Methodology ว่า การใช้ Agile ที่ประยุกต์กับรูปแบบการทำงานอื่น ๆ เริ่มด้วย
- Scrum หนึ่งในรูปแบบการทำงานที่ช่วยให้ชุดความคิดการทำงานแบบ Agile มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเน้นชี้เป้าไปที่ปัญหาเป็นสำคัญ หาสาเหตุของความผิดพลาด เพื่อตอบรับการทำงานเป็นทีมที่มีความยืดหยุ่น ทั้งยังตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- Lean คอนเซ็ปต์คือ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ทั้งเรื่องของคนหรือตำแหน่งทับซ้อนกัน อาจจะทำการแบ่งเป็นทีมเล็กเพื่อทำงาน เพื่อให้ขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ลดลง รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เพื่อให้คนทำงานจัดการงานได้อย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังถือว่าช่วยลดงบประมาณบริษัทอีกด้วย
- Kanban มุ่งเน้นเป้าปลายทางของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยมองที่วิธีการเป็นหลัก อาจแบ่งคนออกเป็นทีมย่อย เพื่อความรวดเร็วในการตัดสินใจ ทั้งยังใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้คนทำงานสะดวกขึ้น เข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ว่างานดำเนินไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว
ประยุกต์ใช้ Agile กับการทำงาน
จากชุดความคิดแบบ Agile ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานไม่มากก็น้อย เพราะ
Stakeholder: สามารถนำมาอธิบายการทำงานให้ชัดเจนตั้งแต่แรก โดยบอกถึงประโยชน์ของชุดความคิดแบบ Agile แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งคนที่ทำงานด้วย คนในทีม ระหว่างทีม ลูกค้า ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบเน้นประสิทธิภาพ
Start with one project: เมื่อได้รับโปรเจกต์เล็ก ๆ มา ลองเริ่มต้นการทำงานแบบ Agile โดยเลือกมาสักโปรเจกต์ก่อนก็ได้ เพื่อดูผลตอบรับว่าดีหรือไม่ เข้ากับคนในองค์กรหรือเปล่า ก่อนจะค่อย ๆ ปรับหาวิธีการทำงานที่เหมาะสมและตอบโจทย์ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพต่อไป
Focus on empowering and motivating your team: การปลุกพลังและสร้างแรงจูงใจให้คนในทีมเป็นสิ่งสำคัญในทุก ๆ โปรเจกต์ หากคนในทีมไม่มีส่วนร่วมและขาดแรงจูงใจ วิธีการทำงานแบบ Agile คงไม่ประสบความสำเร็จ
Choose a framework and stick with it: Agile เป็ฯกรอบแนวคิดภาพใหญ่ในการทำงาน ซึ่งมีรูปแบบการทำงานย่อย ๆ ที่สามารถเลือกไปใช้ได้ เช่น Scrum, Lean, Kanban ฯลฯ เมื่อเลือกรูปแบบได้แล้ว ก็ให้ปฏิบัติตามวิธีการนั้น ๆ จนเสร็จสิ้น
Revise and adjust: ทุกครั้งที่งานจบลง การแก้ไขและปรับปรุงคือสิ่งที่ต้องทำทุกครั้ง อะไรที่ดีก็หาวิธีทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม อะไรที่ต้องปรับปรุงก็เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นในครั้งหน้า เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพขึ้น
เช็กข้อดี- ข้อเสียการทำงานแบบ Agile
สำหรับข้อดีข้อเสียการทำงานแบบ Agile นั้น เป็นสิ่งที่องค์กรต้องรู้ เพราะจะทำให้ได้คำตอบว่าการทำงานแบบ Agile จะตอบโจทย์คนในองค์กร หรือมีเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้มากน้อยอย่างไร
ข้อดีของ Agile
- ยืดหยุ่นและรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
เมื่อวิธีการไม่ใช่เสาหลักของชุดความคิดแบบ Agile รูปแบบการทำงานจึงปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ตามแต่คนทำงานและเงื่อนไขของโปรเจกต์
- เน้นการทำงานเป็นทีมอย่างสร้างสรรค์
ทีมที่ว่าคือปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นทีมที่สังกัดจริง ๆ การทำงานแบบ Agile สามารถตั้งทีมแบบข้ามแผนกกันได้ หากจบโปรเจกต์ได้รวดเร็วและเป็นประโยชน์กับงานมากที่สุด ซึ่งถ้าจัดการได้ดี อาจช่วยลดภาระผู้บริหารลงได้
- พนักงานแสดงศักยภาพได้มากขึ้น
การได้ทำงานกับคนหลากหลายแผนก นอกจากจะได้ฝึกการปรับตัวและการสื่อสารแล้ว ศักยภาพต่าง ๆ ที่มียังถูกนำมาใช้ได้มากกว่าที่คิด ความสามารถหรือทักษะบางอย่างอาจเป็นประโยชน์ต่อทีม เป็นช่วงเวลาที่จะแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่
ข้อเสียของ Agile
- ไม่เหมาะกับโปรเจกต์ที่มีความเข้มงวด
ด้วยการทำงานที่เน้นความรวดเร็วและว่องไว ผสานกับความยืดหยุ่น บางโปรเจกต์การทำงานแบบ Agile อาจจะไม่ตอบโจทย์ เผลอ ๆ อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้งานเสียหาย อย่างงานราชการ หรืองานที่มีขั้นตอนเฉพาะเจาะจง
- พนักงานอาจไม่ให้ความร่วมมือ
ความเปลี่ยนแปลงหรือความยืดหยุ่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พนักงานหลายคนรับมือได้ดี แต่สำหรับคนอาจจะยึดถือแบบเดิม เมื่อมาเจอการทำงานแบบ Agile สลับทีมไปมา อาจจะทำให้เครียดกว่าเดิมได้
- โครงสร้างองค์กรที่ไม่ยืดหยุ่น
องค์กรที่มีโครงสร้างเป็นลำดับขั้นชัดเจน อาจไม่เหมาะกับการทำงานแบบ Agile นัก เพราะการปรับเปลี่ยนทีมไปมา อาจจะวุ่นวายกว่าเดิม หากเป็นบริษัทเล็ก ๆ แบบ Startup หรือเอเจนซี การทำงานแบบ Agile อาจจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพได้มากกว่า
Agile รูปแบบการทำงานที่หลายองค์กร “ทำไม่สำเร็จ”
การทำงานแบบ Agile นี้ องค์กรต่างๆไม่ได้นำไปใช้เพียงแค่ในทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ใช้ไปถึงการปรับรูปแบบแนวคิดการทำงานของพนักงานทุกแผนกขององค์กรเลยทีเดียว ฟังดูเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหม? ที่หลายองค์กรต่างปรับตัวเข้าสู่การทำงานในรูปแบบน Agile นี้?
แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผลสำรวจจากองค์กรต่างๆตัวโลกที่นำรูปแบบการทำงานแบบ Agile ไปใช้ กลับแสดงว่ามีถึง 47% ที่ทำไม่สำเร็จ
หัวใจสำคัญที่ทำ Agile ในองค์กรประสบความสำเร็จ
อ้างอิงจากบทความชื่อ Five Aspects Of A Successful Agile Transformation For Your Enterprise จาก เว็บไซต์ Forbes ได้กล่าวถึง5 วิธีที่จะเปลี่ยนองค์กรให้ทำงานแบบ Agile ได้ประสบความสำเร็จไว้ดังนี้
1. ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
รูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ ที่ต้องทำงานตามกระบวนการทีละขั้นตอน จากการวางแผน ไปสู่การออกแบบ พัฒนา และการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้ว อาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลดีเมื่อ 20-30 ที่แล้ว แต่ในยุคดิจิทัลปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา จึงต้องนำวิธีการทำงานแบบ Agile มาใช้
โดยเป้าหมายคือการ “ให้ความสำคัญกับลูกค้า” และ “ตอบสนองความต้องการลูกค้า” โดยการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปทีละนิด และให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรก หนึ่งวิธีที่ทำ Agile ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Scrum ที่หัวหน้าทีมจะต้องนัดพบปะกับทีมพัฒนาทุกวัน เพื่อแชร์ข้อเสนอแนะและ Insight ของลูกค้าเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
2. มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถของคนทำงาน
แม้แต่องค์กรที่เน้น Customer Centric ก็ยังทำให้การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มีความ Agile อย่างแท้จริงได้ยาก โดยปัญหามักเกิดจากการจัดการคนทำงานที่ไม่ดี เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้บริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงเลือกวิธีการใช้ Metrics วัดทักษะ และกำหนดบทบาทในทีมให้ชัดเจน นอกจากนี้ดึงดูดคนทำงานเก่งและเพิ่มอัตราการรักษาพนักงานผ่านการโค้ชงาน และให้ความก้าวหน้าในอาชีพ ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรที่ทำ Agile จะเลือกพนักงานที่ทำงานโดดเด่นให้ขึ้นเป็นผู้นำ
3. ทำให้งานของทีมสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร
การมีทีมที่ดี Agile และมีประสิทธิภาพการทำงานสูงนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้นได้ หากแต่งานที่พวกเขาทำต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจขององค์กรด้วย
บ่อยครั้งที่องค์กรจัดให้มีการทำ Agile Ceremonies เช่น การรายงานความคืบหน้าประจำวัน (Daily Stand-up) แต่คนในทีมกลับไม่เข้าใจว่างานของพวกเขาส่งผลอย่างไรต่อภาพใหญ่ขององค์กร และแผนงานใหญ่ จึงควรมีการจัดอบรมเพื่ออธิบาย “ภาพใหญ่” ให้คนทำงานเข้าใจด้วย รวมถึงทำลายกำแพงระหว่างทีม Business และทีม IT ด้วยการจัดให้มีการแลกเปลี่ยน Feedback กันอย่างสม่ำเสมอ
4. วัดประสิทธิภาพการทำงานอย่างครอบคลุม
องค์กรที่ทำ Agile อาจจะเกิดคำถามว่าการทำ Agile ของเราประสิทธิภาพหรือยัง?
ลองใช้ Metrics วัดผล 3 รูปแบบดังต่อไปนี้ดู
1.วัดความคืบหน้าการเปลี่ยนแปลง
- จำนวนพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมและผ่านการรับรอง
- จำนวน Business Unit ที่ได้ลงมือทำงานแบบ Agile แล้ว
2.วัดการดำเนินงานจริง
- มื่อทีมเริ่มทำงานแบบ Agile แล้ว ให้ลองวัดอัตราเกิดข้อบกพร่อง
- รอบเวลาการทำงาน ความเร็ว และความผันผวนต่างๆ
3.วัดมูลค่าธุรกิจ
- หลังจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ถึงเวลาวัดผลกระทบต่อธุรกิจ อาทิ ค่าใช้จ่าย รายได้ เป็นต้น
4. เพิ่มอำนาจของทีมที่ทำหน้าที่ปรับองค์กรให้ Agile ด้วยคำสั่งแบบเอาจริง
- เหล่าทีมบริหารองค์กรระดับสูง (C-Level) ต้องช่วยสนับสนุนการทำงานของทีมที่รับทำหน้าที่ปรับองค์กรให้ Agile ให้มีอำนาจสามารถเข้าไปแทรกแซงการทำงานของทุกทีมได้ ไม่ใช่แค่ทีม Business หรือ IT แต่รวมถึงฝ่ายสนับสนุนอย่าง HR และ Finance เพื่อให้ทีมสามารถช่วยสร้าง Playbook รวบรวมข้อมูล จัดโค้ชชิ่ง และนำเครื่องมือมาช่วยให้การทำงานแบบ Agile สะดวกมากยิ่งขึ้น
การทำงานแบบ Agile ของบริษัทใหญ่
- Microsoft
บริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการกล่าวถึง Agile อยู่บ่อยครั้ง และมองว่าเป็นอีกหนึ่งกระบวนการทำงานที่มีประโยชน์ และมีประสิทธิภาพ โดยทาง Microsoft มีการใช้กระบวนการดังกล่าวในการสร้างซอฟต์แวร์ราวปี 2008 โดยการศีกษาช่วงแรกมีการระบุว่าแม้แต่ตัว Microsoft เองก็ยังต้องปรับตัวพอสมควรเช่นกัน
Aaron Bjork หนึ่งในทีม Management ของ Microsoft ได้มีการแชร์ความรู้เกี่ยวกับการทำ Agile ช่วงเริ่มแรกไว้ว่า ทางฝ่ายบริหารของบริษัทจะใช้การกำหนดสโคปและเป้าหมาย ให้ทุกคนในบริษัทรู้ทั่วกัน ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีทิศทางเป็นอย่างไร ก่อนจะเปิดกว้างให้คนในทีมสามารถนำเสนองานอย่างอิสระ และทำงานอย่างเสรีมากกว่าการสั่งงานแบบเป็นลำดับขั้นเหมือนกับอดีต และเน้นให้แต่ละทีมมีการจัดการกันเอง
อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจสำหรับการประยุกต์ใช้ Agile คือ Google ที่เป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อด้านความไว และความยืดหยุ่นอยู่แล้ว โดยหนึ่งใน Case Study ที่พบได้บ่อยคือการสร้าง Google Chrome นั่นเอง
ในช่วงต้นทาง Google ได้มีการกำหนดระยะเวลา 6 สัปดาห์ ในการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ และมีการแบ่งทีมต่างๆ ให้ย่อยลงเพื่อทำให้การจัดการอยู่ในแนวระนาบมากขึ้น มากกว่าการสั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานบางคนภายใน Google ก็มองว่าวิธีนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และมีความรีบเร่งแข่งขันเกินไป
ในภายหลัง Google จึงมีการประยุกต์ Agile ควบคู่ไปกับวิธีการอื่นๆ เพื่อใช้งานทั้งกับโปรเจ็คระยะสั้น และระยะยาว ทำให้ได้ผลงานที่หลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทำอย่างไรหากอยากทำงานแบบ Agile
วิธีการทำงานด้วยแนวคิด Agile ไม่ใช่สิ่งที่ครอบคลุมทุกอย่าง และตัว Agile เองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียตามที่ระบุไว้ ว่าหากทีมใดทีมหนึ่งมีความล่าช้า หรือการติดต่อสื่อสารนั้นไม่เป็นไปตามที่ควร การทำงานแบบ Agile เองก็สามารถล้มเหลวได้ ดังนั้นคำแนะนำในการทำงานแบบ Agile ที่คุณสามารถปฏิบัติได้
1. วางแผนการทำงานแบบทีมเล็กๆ
จากตัวอย่างข้างต้น ชัดเจนว่า Agile อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะหากประยุกต์ใช้กับบริษัท ดังนั้นจุดเริ่มต้นควรอยู่ในระดับทีมเล็กๆ โดยวางแผนการทำงานที่ไม่เน้นการสั่งการจากบนลงล่าง แต่เน้นการแชร์ความรู้ เป้าหมาย และมอบหมายการจัดการเพื่อนำเสนอสิ่งต่างๆ จากล่างขึ้นบนว่าควรทำอย่างไร เป้าหมายจึงจะสำเร็จ
2. แบ่งช่วงเวลาการทำงานให้สั้นลง
Agile เป็นการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการ Sprint หรือการทำงานแบบเร่งจังหวะสั้นๆ เร็วๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที มากกว่าแผนการรูปแบบยาวๆ ดังนั้นการประชุมสั้นๆ วันละครั้งให้ทุกคนรับรู้ว่าวันนั้นต้องทำอย่างไร มีการอัปเดตความคืบหน้างานอยู่บ่อยๆ จะเหมาะกับการ Agile แต่ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมกับงานและสมาชิกภายในทีมด้วย
3. ความล้มเหลวคือเรื่องปกติของ Agile
สิ่งที่ต้องมีใน Agile คือการยอมรับความผิดพลาด เนื่องจากหนึ่งในสิ่งที่อยู่ในกระบวนการ Agile คือ การตรวจสอบความผิดพลาดและแก้ไขได้ไวที่สุด ผู้ที่ทำงานแบบนี้ต้อง “ล้มไว ลุกไว” ก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะบานปลาย ไม่ปล่อยผ่านจุดเล็กๆ ที่อาจขยายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้
4. มีความโปร่งใส
ทุกคนต้องรับรู้ความรับผิดชอบ ความคืบหน้าของทีมต่างๆ และความสำคัญของงาน รวมถึงบทบาทของผู้บริหาร เพื่อทำให้งานทั้งหมดดำเนินไปในทิศทางเดียวกับที่องค์กรต้องการ สามารถตรวจสอบเหตุผลของการกระทำต่างๆ ได้
อ้างอิง: jobsdb , truedigitalacademy ,truevirtualworld