“Self-Care” เรื่องง่ายๆ ที่ถูกมองข้าม ทักษะดูแลตัวเอง ที่ช่วยให้งานปัง!
“การดูแลตัวเอง รักตัวเอง Self-Care” เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องทำ แต่เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน ด้วยภาระงานมากมาย ชีวิตที่ต้องแบกรับทุกเรื่อง จนบางครั้งหลายคนอาจจะหลงลืมในการดูแลตัวเอง
KEY
POINTS
- ทักษะ Self-Care การดูแลตัวเอง เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ทำได้ยากในยุคเร่งรีบ แข่งขันสูง ยิ่งเข้าสู่โลกของการทำงาน ภาระงานที่มากขึ้น การแบกรับดูแลผู้ผู้อื่นจนหลงลืมดูแลตัวเอง
- ปี 2024 มีผู้คนที่ขาดทักษะ Self-Care มากขึ้น เนื่องจากความเครียด การอยู่กับโทรศัพท์ ลืมความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง ทำงานมากเกินไป และโรคซึมเศร้าพุ่งสูง
- Self-care 8 ด้านที่จะช่วยให้ทุกคนดูแลตัวเอง เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ ความคิด สิ่งแวดล้อม และการเงิน โดยใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีต่อวันในการดูแลตัวเอง
“การดูแลตัวเอง รักตัวเอง Self-Care” เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องทำ แต่เมื่อเข้าสู่โลกของการทำงาน ด้วยภาระงานมากมาย ชีวิตที่ต้องแบกรับทุกเรื่อง จนบางครั้งหลายคนอาจจะหลงลืมในการดูแลตัวเอง
"ดูแลตัวเอง" ไม่ใช่เพียงเรื่องของสุขภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงทุกเรื่อง ทั้งความเครียด จิตใจ อารมณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม ความคิด ศาสนา การเงิน ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลตัวเองทั้งสิ้น
5 ปีที่ผ่านมาผลสำรวจจาก Google Trands พบว่า มีคนค้นหาเรื่อง Self care มากขึ้นทุกปี เทรนด์ Self care เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้คนหันกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้น แล้วทุกคนรู้หรือไม่ว่า self-care ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักตัวเอง ที่จะช่วยให้งานปัง ชีวิตประสบความสำเร็จมากขึ้น
“การดูแลตัวเองคืออะไร” ว่ากันว่า นิยามการดูแลตัวเอง คือการที่กลับมาดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันแม้งานจะยุ่งจนไม่มีเวลากินข้าว หรือทำงานจนนอนไม่พอ แต่หากแบ่งเวลาเพียงไม่กี่นาทีต่อวันมาดูแลตัวเอง ให้เวลาแก่ตัวเองมากขึ้น นั่นก็เป็นวิธีการดูแลตัวเองได้ง่ายๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เหตุใด? “Self-Care” มีความสำคัญมากในปี 2024
- ความเครียดมากขึ้น
ปัจจุบันคนเรามีความเครียดสูงขึ้น อาจจะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก หรือการเกิดเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วที่ส่งผลต่อการทำงานหรือการดำเนินชีวิตประจำวันทำให้ระดับความเครียดเพิ่มขึ้น
- อยู่กับโทรศัพท์
คนโดยส่วนมากใช้เวลากับการเล่นโทรศัพท์มาก จนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ส่งผลกระทบต่อสายตาในระยะยาวหรือสภาพจิตใจย่ำแย่
- หลงลืมความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง
บางคนมีเพื่อนในโซเชียลต้องมากมาย แต่ชีวิตจริงกลับเหงาอยู่ดี
- ทำงานมากเกินไป
บางคนทำงานมากเกินไป จนหลงลืมดูแลและใส่ใจตัวเองทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ
- โรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น
คนไทยมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น อาจจะด้วยสภาพสังคมที่กดดันมากขึ้นทุกวัน ผศ. Paula Gill Lopez นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาของมหาวิทยาลัย Fairfield กล่าวว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลการดูแลตัวเองถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะ “การดูแลตัวเอง” คือการหันกลับมารักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง พาตัวเองไปพบเจอกับคนที่มีทัศนคติในแง่บวกและมีจิตใจที่งดงาม พัฒนาตัวเองอยู่เสมอและวางแผนการเงินให้ตัวเองไม่เดือดร้อนการทำสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเยียวยาอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้
Self-care 8 ด้านในการดูแลตัวเอง
- การดูแลตัวเองด้านร่างกาย
หลายคนคงคิดว่าการดูแลร่างกายของเราให้มีสุขภาพดี หรือการเติมพลังให้กับร่างกาย เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานยาตามที่หมอสั่ง เป็นการดูแลตัวเองที่เพียงพอแล้ว แต่สำหรับเราไม่ใช่เพียงแค่นั้น แต่ยังหมายถึงการดูแลสุขภาพผิวหน้า ผิวตัว การดูแลผม การดูเรื่องความสวยงาม ความหล่อและกินตัวของตัวเองด้วย
- การดูแลตัวเองด้านจิตใจ
การดูแลใจตัวเองให้แข็งแรง การเพิ่มพลังทางใจให้กับตัวเอง อยู่กับคนที่มีทัศนคติในแง่บวก อ่านหนังสือ หรือดูซีรีย์ที่ทำให้คุณมีพลังใจเพิ่มมากยิ่งขึ้น
- การดูแลตัวเองด้านสังคม
สภาพแวดล้อมย่อมส่งผลอย่างมากกับชีวิตเรา การพาตัวเองไปอยู่สังคมที่ดี เลือกคบคนที่ดีจะนำพาให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าใครไม่ดีเราก็แค่ถอยออกมา
- การดูแลตัวเองด้านอารมณ์
การรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ให้รู้ว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไรอยู่ พยายามเป็นคนที่อารมณ์ดี ยิ้ม และร่าเริงแจ่มใสตลอดเวลา ถึงแม้ในความเป็นจริงเราจะมีอารมณ์ขุ่นมัวบ้างก็ตาหากโกรธก็ให้รู้ว่าโกรธและรู้จักว่าจัดการกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองได้ หากไม่สบายใจ ให้คุยกับคนที่คุณไว้ใจได้ เช่น ครอบครัว หรือเพื่อน หรือลองปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา
- การดูแลตัวเองทางจิตวิญญาณ
การมีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีสิ่งที่ตัวเองเคารพนับถือ เช่น ศาสนา หรือการรู้คุณค่าของความหมายของชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่เหนือธรรมชาติหรือผี
- การดูแลตัวเองทางความคิด
การฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การอ่านหนังสือ การหาความรู้รอบตัว ฟัง podcast อ่านข่าว ฯลฯ
- การดูแลตัวเองทางสิ่งแวดล้อม
การพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีหรือการดูแลสิ่งรอบตัว เช่น การดูแลทั้งบริเวณภายในและภายนอกบ้าน การดูแลบ้านให้สะอาด การจัดระเบียบสิ่งของภายในบ้าน การปลูกต้นไม้ การจัดสวน ฯลฯ
- การดูแลตัวเองทางการเงิน
การรู้จักวางแผนการเงินของตัวเองอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน อาจจะแบ่งเงินเป็นสัดส่วน เช่น แยกบัญชีไว้ 3 บัญชี บัญชีไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน บัญชีค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ บัญชีเก็บไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน หากเกิดเรื่องฉุกเฉินเราจะได้นำเงินส่วนนี้ออกมาใช้ โดยไม่ต้องรบกวนส่วนอื่นและนำเงินเก็บอีกส่วนหนึ่งไปลงทุนอาจจะ เล่นหุ้น ซื้อทอง ซื้อกองทุน เป็นต้น
เช็กแนวทางในการดูแลตัวเอง 2024
- การพูดคุยกับตนเองในแง่บวก
- ให้อภัยตัวเอง
- ฝึกขอบคุณตัวเอง
- ให้เวลากับคนที่คุณรัก
- ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
- อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข
- เห็นคุณค่าของเวลา
- คาดหวังน้อยลง ยอมรับมากขึ้น
- ปล่อยวางให้มากขึ้น
- ทุ่มเทและพยายามในสิ่งที่ทำ
- อยู่กับคนที่จะทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้น
- อย่าให้อะไรใครจนมากเกินไป
- ไม่จมอยู่กับอดีต
- เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
- ให้ความสำคัญกับตัวเองก่อน
การพัฒนาและบริหารจัดการตนเอง
- การบริหารจัดการตนเอง (Self-management) คืออะไร
สภาวะที่ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ทุกคนจะมีอารมณ์ที่ดี เช่น มีความสุข สนุก ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมที่ดีออกมา เช่น ทำงานอย่างกระตือรือร้น พูดจากับผู้อื่นอย่างสุภาพ ให้กำลังใจผู้อื่น อันนี้ยังไม่ใช่การบริหารจัดการตนเอง
"การบริหารจัดการตนเอง คือ เมื่อเราเจอเหตุการณ์หรืออยู่ในสภาวะที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ เรายังบริหารจัดการตนเองได้ จัดการความเครียด ความโกรธ ความตื่นเต้น และมีพลังบวกแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย การบริหารจัดการตนเองช่วยให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ แม้จะเจอเรื่องราวแรงๆ มากระทบ"
องค์ประกอบของการบริหารจัดการตนเอง
จาก Harvard Business Review ในปี 2012 ได้แบ่ง Emotional Intelligence เป็น 12 องค์ประกอบ โดยในด้านการบริหารจัดการตนเอง (Self-management) นี้ มีองค์ประกอบ 4 ด้าน ดังนี้
1. Emotional control (การควบคุมอารมณ์) ณ ช่วงที่อารมณ์ไม่ดี สามารถควบคุมตนเอง หรือหยุดตัวเอง ไม่ให้แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้
2. Adaptability (การปรับตัว) เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ หรือผลลัพธ์เดิมๆ
3. Achievement orientation (การจดจ่อกับเป้าหมาย) ไม่ว่าจะเผชิญเหตุการณ์อะไร ก็ยังจดจ่อกับเป้าหมาย ไม่ไหลไปกับสถานการณ์ โทษเหตุการณ์ต่างๆ แต่รับผิดชอบในการปรับแผนและลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
4. Positive outlook (การมองในมุมบวก)สามารถเห็นมุมบวกหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ แม้จะเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ได้
เทคนิคในการบริหารจัดการตนเอง
1. การฝึกสติ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง (มีการตระหนักรู้) รู้อารมณ์ตนเอง ณ ขณะต่างๆ และสามารถควบคุมตนเอง หรือหยุดตัวเอง ณ ช่วงที่อารมณ์ไม่ดี เช่น โกรธ เกลียด เป็นต้น ไม่ให้แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือระงับการพูด เช่น ไม่ด่าว่าผู้อื่น ไม่แสดงท่าทางที่ไม่เหมาะสม
2. ถามตนเองว่าเป้าหมายของเราคืออะไร และเป้าหมายนี้สำคัญอย่างไร หากเป้าหมายของเราชัดเจน จับต้องได้ สามารถวัดได้ และเป้าหมายนี้มีคุณค่าต่อชีวิตเรา จะทำให้เราไม่ย่อท้อ แม้จะเจออุปสรรคค่ะ เช่น เป้าหมายเรา คือ ทำงานให้บรรลุ KPI ที่ตั้งไว้ ความสำคัญ คือ เพื่อมีรายได้ดูแลครอบครัว ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ให้ท่านภาคภูมิใจ เป็นต้น
3. การปรับเปลี่ยนความคิด ใช้คำว่า “ยังดีนะที่.....” เช่น เจ้านายให้ feedback ปรับความคิดเป็น ยังดีนะ ที่เจ้านายบอกให้รู้ว่าควรปรับเปลี่ยนตรงไหน
4. การขยับร่างกาย ร่างกายกับจิตใจ (ความรู้สึก) มีความสัมพันธ์ เช่น ตอนที่เรารู้สึกเศร้าหรือผิดหวัง ท่าทางมักเป็นท่านั่งก้มหน้า คอตก การเปลี่ยนความรู้สึก สามารถเริ่มต้นได้ที่การปรับท่าทางของตนเอง เช่น ลุกขึ้นเดิน เงยหน้าขึ้น หรือไปออกกำลังกายก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
6 ทักษะที่ควรมีไว้ ทำงานอะไรก็ปัง
นอกจาก Skill หรือทักษะในวิชาชีพของตนเองแล้ว ยังมีทักษะอีก 6 ด้านที่จะทำให้การทำงานของเรานั้นโดดเด่นไม่แพ้ใครในองค์กร ทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเองในฐานะผู้ประกอบการได้เช่นกัน ทักษะที่ว่านั้น ได้แก่
1. การบริหารจัดการตนเอง (Self-Management)
การบริหารจัดการตนเองที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจากความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คือ การที่เราสามารถทำความเข้าใจความคิด ความรู้สึกของตนเองและจัดการกับความคิดและความรู้สึกดังกล่าวได้อย่างสร้างสรรค์และมีความสุขในการดำเนินชีวิต การรู้จักความฉลาดทางอารมณ์ยังช่วยให้บุคคลสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพของตนเองในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างลักษณะของความฉลาดทางอารมณ์ ได้แก่
- สามารถปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นและเต็มใจที่จะปรับตนเองเมื่อเข้าสู่เงื่อนไขใหม่ๆ ในชีวิต
- มีความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ พร้อมที่จะยืนหยัดในสิทธิของตนเองและความถูกต้อง
- สามารถรับรู้อารมณ์ เข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นได้อย่างชัดเจน
- สามารถจัดการอารมณ์หรือรับมือกับความรู้สึกของตนเองและของผู้อื่น
- สามารถแสดงออกทางอารมณ์ สื่อสารความรู้สึกของตนเองที่มีต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
- สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ลดความหุนหันพลันแล่น
- สามารถจัดการกับความเครียดของตนเองได้ เป็นต้น
นอกจากความฉลาดทางอารมณ์แล้วการรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ก็เป็นค่านิยมพื้นฐานในการบริหารจัดการตนเอง เพราะจะช่วยบ่มเพาะความคิดและพฤติกรรมของตนเองให้ตระหนักถึงปัญหาของส่วนรวมและทำตนให้เป็นประโยช์ต่อสังคมในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ ไม่ว่าน้องๆ จะอยู่ในฐานะพนักงานขององค์กรหรือผู้ประกอบการเองก็ตาม
2. การบริหารความสัมพันธ์ (Relationship Management)
ในการทำงานนั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและเครือข่ายในสายอาชีพเดียวกันถือว่ามีความสำคัญมากเพราะเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในองค์กรมาก่อนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ที่ตรงกับสิ่งที่เราจะต้องทำ เราสามารถปรึกษา เรียนรู้วิธีการทำงานที่จะช่วยให้งานประสบความสำเร็จและขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาขึ้นได้
สิ่งที่เป็นแนวคิดพื้นฐานในการบริหารความสัมพันธ์ ได้แก่ การบริหารความหลากหลาย (Diversity Management) ผู้คนมีความหลากหลายในมิติที่แตกต่างกัน เช่น สัญชาติ ภาษา อายุ เพศ สถานภาพการสมรส ความพิการ ภูมิหลังการศึกษา ค่านิยม ศาสนา และภูมิหลังการทำงาน เป็นต้น
การรับรู้ว่ามีความหลากหลายในองค์กรที่ทำงานจะทำให้เราเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของผู้คนในองค์กรทำให้มีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์อันดีได้ง่ายขึ้น
ในมุมของการเป็นเจ้าของธุรกิจ การประยุกต์ใช้ทักษะการบริหารความสัมพันธ์สามารถเป็นปัจจัยตัดสินความสำเร็จและความล้มเหลวของธุรกิจได้ เช่น การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน เป็นต้น
3. การแก้ปัญหาเชิงระบบ (Systematic Problem Solving)
ในการทำงานนั้นเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นทักษะการแก้ปัญหาเชิงระบบ จะทำให้เรามองปัญหาออกและแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
การฝึกคิดอย่างเป็นระบบจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาได้ ซึ่งกระบวนการในการฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ระบุปัญหาที่แท้จริง
การระบุเหตุการณ์หรือสถานการณ์ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จริงหรือที่เราคิดว่าเป็นปัญหา โดยบรรยายเหตุการณ์ตามความเข้าใจ และพยายามมองในแง่มุมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้อาจใช้การตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆเพื่อให้สามารถเข้าใจและระบุปัญหาที่แท้จริงได้แม่นยำยิ่งขึ้น
- ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์และระบุสาเหตุ
การทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ต้องทำเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ โดยการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเขียนความสัมพันธ์ในรูป แผนผัง หรือรูปภาพที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เข้ากับสาเหตุ อาจทำให้เราเห็นว่ามีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดปัญหา
- หาวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้มากที่สุด
การคิดหาว่ามีวิธีการใดบ้างที่ใช้ได้ในการแก้ปัญหานี้ เรียงลำดับจากวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด เลือกวิธีการที่จะใช้แก้ปัญหาแล้วจัดทำขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย โดยคำนึงถึงกำลังความสามารถของบุคคล เวลา ทรัพยากร และงบประมาณ
- ปฏิบัติตามขั้นตอนตามแผนที่ใช้แก้ปัญหา
ทำตามที่เราได้วางแผนไว้ หากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนควรสร้างความเข้าใจร่วมกันและสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นจึงจะดำเนินงานตามแผนได้อย่างราบรื่น
- ประเมินผลการแก้ปัญหา
การมองหาจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการแก้ปัญหาของเราและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เช่น ลดเวลา ควบคุมงบประมาณ หรือประเมินกำลังคนที่ใช้เพื่อให้ได้งานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
4. การมีภาวะผู้นำ (Leadership)
ภาวะผู้นำเป็นส่วนผสมของทักษะหลายๆ อย่างร่วมกัน รวมถึงประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานจริง เช่น การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย การออกค่ายอาสา การร่วมกิจกรรมกับองค์กรต่างๆ เป็นต้น
คุณลักษณะของผู้นำที่ดี
- สามารถจัดการกับตัวเองได้อย่างลงตัว
- มีความมั่นใจในตนเอง มีทัศนคติที่ดี ตัดสินใจได้ดี
- กล้ายอมรับทั้งความผิดพลาดและคำชื่นชม
- มองเห็นคุณค่าในตัวเองและมีวินัยในตนเองจนสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้
- มีความยืดหยุ่นเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- สามารถสร้างแรงบันดาลใจ
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมทีม
- สื่อสารกับทีมอยู่เสมอ
- แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นไปสู้เป้าหมาย
- เป็นผู้นำด้วยหัวใจและสมอง
- มีศิลปะในการจูงใจผู้อื่นให้ร่วมงานเพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งหมายที่ต้องการ
5. การบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management)
การเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ หรือโอกาสในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การตกงาน การย้ายงาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานลาออกก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ดังนั้น การบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management) จึงต้องอาศัยความสามารถในการใช้ความรู้ ทักษะและความเข้าใจที่มีอยู่ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย โดยกระบวนการแก้ปัญหาเริ่มต้นจากการเผชิญกับปัญหาและยุติลงเมื่อได้คำตอบที่บรรลุวัตถุประสงค์
การที่เราพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายใหม่ๆ แล้วสามารถใช้ความรู้ ความคิดหรือประสบการณ์เดิมที่มีมาประยุกต์ใช้ในการคิดพิจารณาไตร่ตรองเพื่อตัดสินใจหาทางเลือกหรือแนวทางการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมที่สุดอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับงาน กับครอบครัว หรือกับตนเองได้
ทั้งยังช่วยให้พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาหลังการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างดี อีกทั้ง การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การอ่าน การฟัง การอบรม การฝึกงาน จะทำให้เราเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวคิดพฤติกรรม เพื่อให้ตนเองมีบุคลิก อุปนิสัย อารมณ์ ความรอบรู้ ทักษะ ที่จะช่วยให้เรานั้นใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเข้ามาในชีวิต
6. การบริหารดิจิตอล (Digital Management)
ทักษะการบริหารดิจิตอลมีองค์ประกอบ 2 อย่าง ได้แก่
- การบริหารข้อมูล (Information Management)
การรู้สารสนเทศ (Information literacy) เป็นทักษะและความรู้ที่ช่วยให้เราค้นหาและประเมินคุณค่าของข้อมูลต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน และในการทำงาน เพื่อให้เราสามารถใช้ข้อมูลที่เราต้องการได้อย่างมีประโยชน์สูงสุดและสามารถคัดแยกข้อมูลที่เราไม่ต้องการได้เป็นอย่างดี
5 ขั้นตอนการรู้สารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการคาดการณ์สิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
- การประเมินวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูล เช่น เพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา หรือเพื่อใช้ในการตัดสินใจบางอย่าง เป็นต้น
- การหาแหล่งข้อมูลที่เป็นไปได้และน่าเชื่อถือที่สุด ต้องรู้ว่าเราจะสามารถหาข้อมูลได้จากไหนจึงจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและน่าเชื่อถือ เช่น หนังสือ เว็บไซต์ หรือสอบถามจากผู้รู้
- การเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการค้นหาข้อมูลในแหล่งข้อมูลที่เราเลือกไว้ เช่น การนัดสัมภาษณ์
- การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ประเมินคุณค่าของข้อมูลที่ได้มาว่าข้อมูลใดเป็นประโยชน์และสามารถนำมาใช้ได้จริง
- การใช้ข้อมูลที่ได้มาตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จัดเรียงข้อมูลที่จะต้องใช้อย่างเป็นระบบ และนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ก็จะช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลได้ง่ายขึ้น เช่น หลังจากได้ข้อมูลแล้วสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
- การบริหารเทคโนโลยี (Technology Management)
เทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราจะต้องสามารถทำความเข้าใจ ปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับงานและชีวิตประจำวันของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมต่อการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นไป
ทักษะคือสิ่งที่เราต้องฝึกฝนอยู่เป็นประจำเพื่อให้เกิดความชำนาญและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังว่าทักษะSelf-care จะช่วยให้น้องๆ ดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น อันนำไปสู่การก้าวสู่ชีวิตการทำงานได้อย่างมั่นใจ สามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างลงตัวและมีความสุข
อ้างอิง : สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , medium , workwithpassiontraining