รวบรวม! เทคโนโลยีสุดล้ำ เปลี่ยนการทำงานในอนาคตที่องค์กร-พนักงานต้องรู้
การทำงานในยุค AI ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลายบริษัทหลายองค์กร และพนักงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัท
KEY
POINTS
- นวัตกรรมใหม่ๆ จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น
- เทคโนโลยีที่เข้ามาปฎิวัติการทำงาน จะเน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีสะอาด ระบบสาธารณสุขจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
- การนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ฉะนั้น วัยทำงานควรเรียนรู้และติดตามเทรนด์การทำงาน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น
การทำงานในยุค AI ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลายบริษัทหลายองค์กร และพนักงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัท ต้องมีการปรับตัว เรียนรู้ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน
เทรนด์การทำงานในอนาคต จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาปฏิวัติการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงแนวทางอาชีพในอนาคตได้มากขึ้น ไปดูตัวอย่างนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง เปลี่ยนสำนักงานเดิมให้เป็นสมาร์ทออฟฟิศ
ปัจจุบัน หลายองค์กร ได้มีการทำงานร่วมกันบนระบบคลาวด์ (Cloud) ด้วยรูปแบบการทำงานและพฤติกรรมของการสร้างงานที่เปลี่ยนไป บริษัทจำเป็นที่จะเพิ่มระบบซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการทำงาน ที่มีความคล่องตัว เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ผ่านการเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต
เป็นระบบที่เข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลที่มีความสะดวกและมีความปลอดภัยสูงอย่างระบบคลาวด์ (Cloud) เช่น Google Drive ที่เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บเอกสารและส่งผ่านไฟล์ที่เกี่ยวกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะเป็นการเลือกใช้ MS Teams ในการประชุมร่วมกัน หรือจะเป็นการทำงานผ่านเว็บบราวเซอร์ที่ทุกคนสามารถช่วยกันสร้างสรรค์งานได้จากทุกที่ ทุกเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"Workation"เที่ยวไปทำงานไปอย่างไร? ให้Work-life Balance
เช็ก '10 ทักษะจำเป็น' สร้าง Future Human รับ 170 ล้านตำแหน่งงานใหม่
รวม! นวัตกรรมสุดล้ำ เปลี่ยนโฉมการทำงาน
นอกจากนั้น มีเปลี่ยนรูปแบบห้องประชุม ห้องทำงานด้วยสมาร์ทกลาส (Smart Glass) ในการออกแบบออฟฟิศให้เป็นออฟฟิศอัจฉริยะ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการให้หนึ่งสถานที่สามารถใช้งานได้แบบ Multi-Function
เช่น การออกแบบห้องประชุมของออฟฟิศให้สามารถรองรับความต้องการในการใช้งานได้ ทั้งแบบ Private Meeting หรือ Open Meeting ด้วย สมาร์ทกลาส (Smart Glass) กระจกที่มีคุณสมบัติการเปลี่ยนจากโปร่งใสเป็นทึบแสงได้ และควบคุมการทำงานผ่าน Switch เมื่อปรับให้กระจกทึบแสงจะสามารถใช้เป็นจอสำหรับฉายโปรเจคเตอร์ หรือสามารถจดบันทึกลงบนกระจกได้
จากบทความของ jobsdb ได้รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการทำงานในอนาคต ดังนี้
1. Whole-Genome Synthesis: นวัตกรรมแก้ไขยีนส์
เริ่มกันที่นวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง Whole-Genome Synthesis หรือนวัตกรรมการแก้ไขยีนส์ มีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนาหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในทางการแพทย์เทคโนโลยีนี้เปิดโอกาสให้สามารถรักษาและป้องกันโรคทางพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในการเกษตรช่วยให้สามารถพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อโรคได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรมนี้ คือความเสี่ยงจากการนำไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนา จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
นวัตกรรมทางด้านการแพทย์ และสิ่งแวดล้อมมาแรง
2. Microneedles: เข็มฉีดยาลดความเจ็บปวด
นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจอย่าง Microneedles นับเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญ เนื่องจากช่วยลดความเจ็บปวดจากการฉีดยา พร้อมผสานกับเทคโนโลยีควบคุมเวลาในการปล่อยยา เพื่อสนับสนุนการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ เนื่องจากขนาดเข็มที่เล็กลง ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ สามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง
ดังจะเห็นได้จากนวัตกรรม TAP Blood Collection Device โดย Seventh Sense Biosystems ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเจาะเลือดด้วยตัวเองที่บ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล นวัตกรรมนี้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาระบบสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และขยายการเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ขาดแคลน
3. Digital Health: การแพทย์ดิจิทัล
การแพทย์ดิจิทัล (Digital Health) เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและการบริการ โดยครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันโรค การวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการติดตามผลการรักษา โดยอาศัยการผสมผสานเทคโนโลยีหลายรูปแบบ
ตัวอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล (Telemedicine) รวมถึงการใช้อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearable Devices) และแอปพลิเคชันสุขภาพบนมือถือ ซึ่งช่วยติดตามและดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขโดยรวมอีกด้วย
4. Virtual Patients: จำลองการรักษาบนโลกออนไลน์
กระบวนการพัฒนายาจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้งานในมนุษย์ใช้เวลาเฉลี่ยถึง 12 ปี แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคตกำลังช่วยเร่งกระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพของยาและวัคซีน โดยเฉพาะการพัฒนาอวัยวะเสมือน (Virtual Organs) ที่สามารถใช้ทดสอบประสิทธิภาพของยาหรือวัคซีนได้ทันที โดยไม่ต้องรอทดสอบในอวัยวะมนุษย์จริง
การใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดทั้งความเสี่ยงและต้นทุนในการวิจัย ตัวอย่างเช่น นวัตกรรม HeartFlow Analysis ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการรับรองจาก FDA ในการใช้ภาพ CT Scan เพื่อตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ยังมีความท้าทายในด้านการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงการรับรองที่จะใช้ทดแทนอวัยวะจริงที่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง
5. Artificial Muscle: นวัตกรรมกล้ามเนื้อเทียม
สังคมไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุ’ อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุมีความสำคัญ โดยเฉพาะการจัดการปัญหามวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การทรงตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้ม เทคโนโลยีกล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle) จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์ชีวการแพทย์และอุปกรณ์เสริมการเคลื่อนไหว
ตัวอย่างเช่น Exoskeleton ที่ช่วยในการเดินและยกของ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในการสร้างหุ่นยนต์นิ่ม (Soft Robot) สำหรับภารกิจกู้ภัย โดยกล้ามเนื้อเทียมเหล่านี้ถูกออกแบบให้ยืดหดและเคลื่อนไหวได้เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น กระแสไฟฟ้า ความดัน หรืออุณหภูมิ
ปัจจุบันตลาดกล้ามเนื้อเทียมมีมูลค่าสูงถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ เช่น คาร์บอนนาโนทิวบ์ และการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในการผลิต ซึ่งนอกจากจะใช้ในทางการแพทย์แล้ว ยังมีการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ การก่อสร้าง และระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น
6. Sun-Powered Chemistry: พลังงานแสงอาทิตย์ลดโลกร้อน
กระบวนการ Sun-Powered Chemistry เป็นนวัตกรรมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยาแสง (Photocatalysts) เพื่อเปลี่ยนก๊าซที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้านการแพทย์ การผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ปุ๋ย และสิ่งทอ โดยนักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาแสงที่สามารถทำลายพันธะระหว่างคาร์บอนและออกซิเจน เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
ความท้าทายของการพัฒนานวัตกรรมนี้คือการค้นหาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสูงภายใต้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้สำเร็จ จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมของโลกมากขึ้น
7. Green Hydrogen: ผลิตไฮโดรเจนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันกระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนยังไม่สามารถเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตามนวัตกรรมการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ผ่านกระบวนการอิเล็กโทรไลซิสกำลังได้รับความสนใจ เพราะสามารถแยกโมเลกุลของน้ำเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนได้โดยไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ทำให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมและการขนส่งที่ไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนได้ ทั้งนี้ Energy Transitions Commission ได้ยืนยันว่าไฮโดรเจนสีเขียวเป็น 1 ใน 4 เทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่า 10 กิกะตัน
8. Quantum Sensing: เซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหว
ควอนตัมเซนซิง (Quantum Sensing) เป็นนวัตกรรมเจ๋งๆ ที่ใช้ระบบควอนตัมในการตรวจวัดและระบุอนุภาคระดับปรมาณู มีศักยภาพในการพัฒนาระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจวัตถุใต้พื้นดินหรือใต้น้ำ และตรวจสอบระบบท่อใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในงานก่อสร้างได้เป็นอย่างมาก
ความท้าทายในปัจจุบันคือ ขนาดของอุปกรณ์ที่ยังมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนในการใช้งาน รวมถึงต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในวงการแพทย์และระบบรักษาความปลอดภัย
9. Electric Aviation: เครื่องบินใช้ไฟฟ้า
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้เห็นความสำเร็จของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ‘การบินด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเป็นไปได้หรือไม่?’ เมื่อพิจารณาว่าการบินในปัจจุบันก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2.5% ของปริมาณทั่วโลก ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการบินจึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ
โดยงานวิจัยระบุว่า สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 90% อีกทั้งเครื่องยนต์ไฟฟ้ายังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า อย่างไรก็ตามความท้าทายสำคัญในปัจจุบันคือข้อจำกัดด้านระยะทางการบิน เนื่องจากการบินด้วยพลังงานไฟฟ้ายังไม่สามารถทำการบินระยะไกลได้เทียบเท่ากับเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม ดังนั้นการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเพิ่มระยะทางการบินด้วยพลังงานไฟฟ้า จึงนับว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญในศตวรรษที่ 21
10. Generative AI: นวัตกรรมสร้างสรรค์คอนเทนต์
Generative AI (GenAI) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ออนไลน์ เนื่องจากสามารถผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายองค์กรจึงเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจที่มีงบประมาณการตลาดจำกัด ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากเหมือนการทำการตลาดแบบเดิม
11. TRiSM: นวัตกรรม AI ช่วยรักษาความปลอดภัย
นวัตกรรมเจ๋งๆ ในอนาคตอย่าง AI Trust, Risk และ Security Management (TRiSM) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในยุคที่มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ผ่านแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันต่างๆ อย่างแพร่หลาย โดย TRiSM ทำหน้าที่เสมือนระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง ที่ช่วยปกป้ององค์กรจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และการโจมตีข้อมูล
องค์กรต่างๆ สามารถประยุกต์ใช้ระบบ AI นี้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการปกป้องข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินและเอกสารส่วนบุคคล ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลในยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเลยทีเดียว
12. Machine Customers: นวัตกรรมบริการลูกค้า
ในปี 2024 Machine Customer หรือ ‘Custobots’ เป็นนวัตกรรม AI ที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ระบบ AI นี้ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในกระบวนการสั่งซื้อสินค้า สามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น
13. Microscale 3-D Printing: เครื่องพิมพ์สามมิติระดับไมโคร
การพิมพ์สามมิติระดับไมโคร (Microscale 3-D Printing) เป็นนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง ที่สามารถสร้างโครงสร้างขนาดเล็กระดับไมโครเมตรได้อย่างแม่นยำ เทคโนโลยีนี้เปิดโอกาสใหม่ในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดจิ๋ว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเซนเซอร์ขนาดเล็ก ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ด้วยวิธีการผลิตแบบเดิม
ด้วยความสามารถในการพิมพ์โครงสร้างที่ซับซ้อนในระดับไมโครเมตร นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจนี้มีศักยภาพอย่างมากในการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตอุปกรณ์ขนาดเล็กในอนาคต
14. Oculus Rift: แว่นตาความจริงเสมือน
Oculus Rift เป็นอุปกรณ์แว่นตาความจริงเสมือน (VR Headset) ที่พัฒนาโดยบริษัท Oculus ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Meta (เดิมคือ Facebook) อุปกรณ์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์โลกเสมือนแบบสมจริงให้กับผู้ใช้งาน ด้วยเทคโนโลยีการแสดงผลความละเอียดสูงและระบบติดตามการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ ทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นและโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมเสมือนจริงได้อย่างเป็นธรรมชาติ
นอกจากการใช้งานด้านความบันเทิงและเกมแล้ว Oculus Rift ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษา การฝึกอบรม การแพทย์ และการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเปิดมิติใหม่ในการเรียนรู้และการทำงานในโลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
15. Metaverse: โลกเสมือนจริงแห่งอนาคต
เมทาเวิร์ส (Metaverse) เป็นแพลตฟอร์มโลกเสมือนที่ผสานเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality) และความจริงเสริม (Augmented Reality) เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบของอวตาร (Avatar) เหมือนกับการอยู่ในโลกจริง โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะอย่างแว่น VR หรืออุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะต่างๆ
นวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตเปิดโอกาสให้เกิดการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การประชุมทางธุรกิจ การเรียนการสอน การช็อปปิง และการสังสรรค์ ไปจนถึงความบันเทิงรูปแบบต่างๆ โดยลบข้อจำกัดด้านระยะทางและพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารและการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคดิจิทัล ทั้งนี้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายแห่งกำลังลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่สมจริงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วัยทำงานควรติดตามเทรนด์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจในอนาคตเอาไว้เสมอ เพื่อให้ปรับตัวและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เพิ่มโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ เข้าใจทิศทางเทคโนโลยี สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการล้าหลังทางเทคโนโลยี
อ้างอิง:jobsdb