"หมอธีระ" ชี้ยอดโควิดวันนี้ ขาลงชัดเจน ลุ้นปะทุใหม่ช่วงเดือนธันวาคม
"หมอธีระ" เผยสถานการณ์โควิดในไทยวันนี้ ขาลงชัดเจน หวังว่าจะดีไปอย่างต่อเนื่อง ลุ้นปะทุใหม่ช่วงเดือนธันวาคม
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น โควิดวันนี้ ระบุว่า
698 --> คาดประมาณ 23,267 ขาลงชัดเจน
ระลอกก่อนๆ ไทยเรามักอยู่ในช่วงสงบราว 6-10 สัปดาห์ หวังว่าจะดีไปอย่างต่อเนื่อง หากปะทุใหม่แบบระลอกก่อนๆ ก็จะเป็นช่วงธันวาคม
ปัจจุบันทั่วโลก ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดรุนแรงวงกว้าง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังมากคือ สายพันธุ์ BA.2.75, BA.4.6, และ BJ.1
ขอให้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ระมัดระวัง ป้องกันตัวสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่า 12 กันยายน 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 285,152 คน ตายเพิ่ม 603 คน รวมแล้วติดไป 613,694,480 คน เสียชีวิตรวม 6,516,263 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- รัสเซีย
- ไต้หวัน
- เกาหลีใต้
- ฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.79 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.72
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายยาต้านไวรัสระดับชาติ
ยาต้านไวรัสนั้นใช้เพื่อหวังผลอะไรกันแน่?
ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ทางคลินิก (Desired clinical endpoints) คือ ลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดการเสียชีวิต ลดหรือกำจัดปริมาณไวรัสในร่างกาย
ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้จึงควรเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาสรรพคุณของยาต้านไวรัสมิใช่หรือ?
ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของไข้ ชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ ซึ่งเป็นตัวแปรทางคลินิกที่ไม่ตรงกับผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ที่เราเรียกมันว่า surrogate outcomes
ทั้งนี้ตัวแปรทางอ้อมเช่นนี้ อาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์เลยกับผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ก็ได้ โดยอาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อตัวแปรทางอ้อมนั้นเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ นโยบายสำหรับคนในสังคมนั้น น่าจะชี้แจงให้กระจ่างว่า สุดท้ายแล้วยานั้นหวังผลอะไรกันแน่ และทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลดีกว่า เท่ากับ หรือแย่กว่า มีอะไรบ้าง โดยสำแดงให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการพิจารณาทั้งหมด และนำไปสู่การแจ้งให้รับทราบว่า สุดท้ายแล้วเหตุใดจึงใช้ยานั้นๆ
หากเราทำเช่นนี้ได้ ความกระจ่างก็จะเกิดขึ้น ทรัพยากรของชาติก็จะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า และคนในสังคมก็จะสามารถตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าทุกคนหวังใจไว้มิใช่หรือ ที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของคน
ดังนั้น หากคิดว่าเป็นตัวเรา เราจะทำอย่างไร และจะตัดสินใจใช้อะไรบ้าง อย่างไร นั่นคือสิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบ