สารเคมีรั่วไหล กรมควบคุมโรคแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สารเคมีรั่วไหล นครปฐมกรมควบคุมโรค คาดเป็น Biphenyl และ Diphenyl oxide สูดดมอาจเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนังได้ แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
วันนี้ (22 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวสารเคมีรั่วในโรงงานย่านพุทธมณฑลสาย 7 จังหวัดนครปฐม ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ของสารเคมีรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทีมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จ.ราชบุรี ให้ลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบในรัศมีที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สารเคมีรั่วไหล คาดการณ์ว่าน่าเป็น สาร Biphenyl และ Diphenyl oxide เป็นสารเคมีที่มีลักษณะก่อผลึกใสไม่มีสี จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับสาร Biphenyl หรือสัมผัสเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อตับ และระบบประสาท ซึ่งสารพิษอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 3 กลุ่มโรค ดังนี้
1) กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ อาเจียน คลื่นไส้
2) กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
3) กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง
ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับสารเคมี ดังนี้
1) หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน
2) หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
3) หากสูดดมสารพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีที่มีชั้นกรองคาร์บอน และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยกรมควบคุมโรคได้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และวางแผนติดตามผลการประเมินสุขภาพอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร 02 590 3866